องค์กรเพื่อการวิจัยทางวิทยาศาสตร์และอุตสาหกรรมแห่งเครือรัฐออสเตรเลีย (CSIRO) เผยแพร่ผลการศึกษาวิจัยเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือ SARS-CoV-2 ที่เป็นต้นเหตุของโรคโควิด-19 พบว่าเชื้อไวรัสที่เกาะกับพื้นผิว เช่น ธนบัตร หน้าจอโทรศัพท์มือถือ หรือสเตนเลส สามารถมีชีวิตรอดได้ถึง 28 วัน และยังทำให้เกิดการติดเชื้อได้
อย่างไรก็ตาม ผลการศึกษาวิจัยดังกล่าวใช้การทดลองในที่มืด ซึ่งตามปกติแล้วพบว่าแสง UV สามารถฆ่าเชื้อไวรัสชนิดนี้ได้
ปกติแล้วเชื้อไวรัส SARS-CoV-2 จะแพร่ระบาดผ่านการไอ จาม หรือพูดคุยระหว่างผู้คน ซึ่งผลวิจัยที่ออกมาทำให้ผู้เชี่ยวชาญบางรายตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการติดเชื้อโควิด-19 จากการสัมผัสพื้นผิวดังกล่าวว่ามีโอกาสเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหนในชีวิตจริง
ขณะที่นักวิจัยจาก CSIRO เปิดเผยว่าเชื้อไวรัสนั้นมีความแข็งแกร่งสูงมากกว่าที่คิด โดยสามารถมีชีวิตรอดบนพื้นผิวเรียบ เช่น กระจอหน้าจอโทรศัพท์มือถือ พลาสติก หรือธนบัตรได้ถึง 28 วัน หากถูกเก็บอยู่ภายในห้องมืดที่มีอุณหภูมิประมาณ 20 องศาเซลเซียส
ซึ่งหากเปรียบเทียบกับเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ จะสามารถรอดอยู่บนพื้นผิวดังกล่าวภายใต้สถานการณ์เดียวกันได้ไม่เกิน 17 วัน
ผลวิจัยฉบับนี้ซึ่งเผยแพร่ลงในวารสารไวรัสวิทยายังพบว่า เชื้อ SARS-CoV-2 สามารถมีชีวิตรอดได้น้อยกว่าในภาวะที่มีระดับอุณหภูมิสูง และหยุดการแพร่เชื้อภายใน 24 ชั่วโมง หากติดอยู่บนพื้นผิวบางอย่างท่ามกลางอุณหภูมิที่สูงถึง 40 องศาเซลเซียส
ขณะที่ไวรัสชนิดนี้ยังมีชีวิตรอดได้น้อยกว่าหากติดอยู่ในวัตถุที่มีรูพรุน เช่น ผ้าฝ้าย ซึ่งจากการวิจัยตลอด 2 สัปดาห์ที่ผ่านมายังไม่พบว่ามีไวรัสที่เกาะติดวัตถุที่มีพื้นผิวในลักษณะดังกล่าว
ทางด้าน ศ.โรนัลด์ เอ็คเคิลส์ อดีตผู้อำนวยการศูนย์วิจัยโรคหวัดของมหาวิทยาลัยคาร์ดิฟฟ์ วิจารณ์ผลการศึกษาวิจัยดังกล่าวที่บ่งชี้ว่าไวรัสสามารถอยู่รอดได้นานถึง 28 วันว่าเป็นการก่อให้เกิดความหวาดกลัวในหมู่ประชาชนโดยไม่จำเป็น
“ไวรัสนั้นแพร่กระจายบนพื้นผิวจากเมือกในการไอจามและนิ้วมือที่สกปรก และการศึกษาวิจัยนี้ไม่ได้ใช้เมือกสดของมนุษย์เป็นพาหะในการแพร่กระจายไวรัส” เขากล่าว
ศ.เอ็คเคิลส์ ยังอธิบายว่าเมือกสดนั้นเป็นสภาพแวดล้อมที่ไม่เป็นมิตรสำหรับไวรัส เนื่องจากมีเซลล์สีขาวจำนวนมากที่ผลิตเอนไซม์มาทำลายไวรัส และยังมีสารภูมิคุ้มกันและสารเคมีอื่นๆ ที่ต่อต้านไวรัสอยู่ด้วย
“ในความเห็นผม ไวรัสที่ติดเชื้อจะคงอยู่ได้หลายชั่วโมงในเมือกที่ติดอยู่บนพื้นผิวต่างๆ มากกว่าที่จะนานเป็นวัน”
ขณะที่เอกสารวิจัยจากมหาวิทยาลัยรัตเจอร์สที่เผยแพร่ในวารสาร The Lancet เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาชี้ว่าโอกาสที่จะเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสผ่านพื้นผิวที่ไม่มีชีวิตนั้นน้อยมาก พร้อมชี้ว่าการศึกษาวิจัยที่ชี้ให้เห็นถึงความเสี่ยงนั้นถูกออกแบบมาโดยมีความคล้ายคลึงกับสถานการณ์ในชีวิตจริงเพียงเล็กน้อย
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคระบาดของสหรัฐฯ (CDC) ระบุว่ามีหลักฐานบ่งชี้ว่าไวรัส SARS-CoV-2 สามารถแพร่ระบาดผ่านอนุภาคที่ลอยแขวนอยู่ในอากาศ ทำให้เป็นไปได้ที่อาจเกิดการติดเชื้อผ่านการสัมผัสพื้นผิวเช่นเหล็กหรือพลาสติก ซึ่งเชื่อว่าการแพร่ระบาดผ่านพื้นผิวลักษณะดังกล่าวนั้นเกิดได้ง่ายกว่าไข้หวัดทั่วไปมาก
พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล
อ้างอิง: