×

หลายประเทศเอเชีย รวมไทย เร่งสั่งซื้อยาต้านโควิด ‘โมลนูพิราเวียร์’ ท่ามกลางความกังวลปัญหากักตุน ทำชาติยากจนเข้าไม่ถึงซ้ำรอยวัคซีน

18.10.2021
  • LOADING...
Molnupiravir

สำนักข่าว CNN เผยแพร่รายงาน กรณีหลายประเทศในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกกำลังเร่งดำเนินการเจรจาหรือสั่งซื้อยาโมลนูพิราเวียร์ (Molnupiravir) ซึ่งเป็นยาต้านโควิดชนิดเม็ด จากบริษัท Merck ของสหรัฐฯ ที่ถูกคาดหวังว่าอาจเป็นอีกหนทางในการ ‘พลิกเกม’ ยับยั้งวิกฤตแพร่ระบาดของโควิด

โดย CNN ชี้ว่า การเร่งกักตุนยาของชาติต่างๆ ทำให้ผู้เชี่ยวชาญและองค์การระหว่างประเทศหลายหน่วยงานหวั่นวิตกอาจนำไปสู่ปัญหาความไม่เสมอภาคในการเข้าถึงยาโมลนูพิราเวียร์ของประเทศยากจน ซ้ำรอยกรณีการจัดหาวัคซีนโควิด

 

หวั่นประวัติศาสตร์ซ้ำรอย

 

  • Airfinity บริษัทวิเคราะห์ข้อมูลและข่าวกรองด้านวิทยาศาสตร์ระดับโลกของอังกฤษ เปิดเผยว่า จนถึงตอนนี้มีประเทศหรือเขตแดนอย่างน้อย 10 แห่ง ที่กำลังเจรจาหรือได้ลงนามสั่งซื้อยาโมลนูพิราเวียร์แล้ว ในจำนวนนี้ 8 แห่ง อยู่ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก รวมทั้งไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย เกาหลีใต้ และไต้หวัน 

 

  • ในส่วนของไทยอยู่ระหว่างขั้นตอนการร่างสัญญาซื้อขาย และกำลังรอให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาสหรัฐฯ (FDA) อนุมัติการใช้ยาชนิดนี้ ก่อนที่ อย. ไทยจะอนุมัติและเดินหน้าการลงนามซื้อขาย เพื่อนำยามาใช้ในช่วงต้นปีหน้า

 

  • ยาโมลนูพิราเวียร์นั้นใช้สำหรับรักษาผู้ติดเชื้อโควิด โดยทำหน้าที่ขัดขวางการเพิ่มจำนวนของไวรัส แต่ไม่ได้กระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มกันเหมือนวัคซีน 

 

  • ซึ่งผลทดลองขั้นต้นในเฟส 3 ที่เผยแพร่เมื่อช่วงต้นเดือนนี้พบว่า จากการทดลองยากับกลุ่มผู้ป่วยโควิดซึ่งยังไม่ฉีดวัคซีนมากกว่า 700 คน สามารถลดความเสี่ยงที่จะเกิดอาการหนักจนต้องเข้าโรงพยาบาลหรือเสียชีวิตได้ถึง 50% เมื่อเทียบกับผู้ป่วยที่ได้รับยาหลอก

 

  • ข้อดีของยาโมลนูพิราเวียร์ที่ไม่เหมือนยารักษาโควิดอื่นๆ คือ สามารถให้ยาแก่ผู้ติดเชื้อเพื่อนำกลับไปทานที่บ้านระหว่างกักตัวได้ ซึ่งจะช่วยลดการใช้ทรัพยากรที่โรงพยาบาล ทำให้การควบคุมสถานการณ์ระบาดของโควิดทำได้ง่ายขึ้น

 

  • จากข้อดีเหล่านี้ ทำให้ประเทศเอเชียต่างๆ รวมถึงไทย ต้องพยายามสั่งซื้อยาโมลนูพิราเวียร์ เนื่องจากกลัว ‘ตกขบวน’ และป้องกันปัญหาความล่าช้าและยาไม่เพียงพอ เหมือนกับกรณีการจัดหาวัคซีนโควิด ที่ประเทศร่ำรวยกักตุนวัคซีนส่วนใหญ่ไว้

 

  • ขณะที่หน่วยงานระหว่างประเทศอย่างองค์กรจัดหายาสำหรับโรคที่ถูกละเลย (Drugs for Neglected Diseases Initiative: DNDi) มองว่า ยาโมลนูพิราเวียร์มีศักยภาพพอที่จะช่วยพลิกสถานการณ์ระบาดของโควิด แม้อาจเพียงเล็กน้อย แต่สิ่งสำคัญคือ ทำอย่างไรให้แน่ใจว่า ‘ประวัติศาสตร์จะไม่ซ้ำรอย’ และไม่เป็นไปในรูปแบบเดียวกับกรณีของวัคซีนโควิด ที่ประเทศร่ำรวยกักตุนวัคซีนไว้มากมายตั้งแต่ช่วงแรก ในขณะที่ประเทศยากจนจำนวนมากยังประสบปัญหาในการจัดหาวัคซีน

 

“โมลนูพิราเวียร์มีศักยภาพจริงๆ ศักยภาพที่จะเปลี่ยนเกมได้เล็กน้อย เราต้องทำให้แน่ใจว่าประวัติศาสตร์จะไม่ซ้ำรอย เราจะไม่ตกไปอยู่ในรูปแบบเดิมๆ หรือทำผิดพลาดซ้ำๆ ที่เราเห็นได้จากวัคซีนโควิด” ราเชล โคเฮน กรรมการบริหารภาคพื้นอเมริกาเหนือของ DNDi กล่าว

 

  • อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญบางรายชี้ว่า แม้ยาโมลนูพิราเวียร์จะมีประสิทธิภาพในการรักษาโควิด แต่ก็มีความน่ากังวลที่ประชาชนบางคนจะหันมาเลือกใช้ยาชนิดนี้แทนการฉีดวัคซีนต้านโควิด ซึ่งยังถือเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการป้องกันการติดเชื้อโควิด 

 

ความไม่เสมอภาคในการเข้าถึงยา

 

  • สำหรับการใช้ยาโมลนูพิราเวียร์ ในประเทศยากจนหรือประเทศรายได้น้อยนั้นอาจจะลำบากกว่า เมื่อเทียบกับประเทศร่ำรวยหรือรายได้ปานกลางที่มีระบบสาธารณสุขแข็งแรง เนื่องจากประเทศที่อนุมัติใช้ยาแล้วต้องตัดสินใจว่าจะให้ยารักษาแก่ประชาชนทุกคนที่แสดงอาการติดเชื้อโควิด หรือต้องมีผลตรวจยืนยันการติดเชื้อ ซึ่งอาจเป็นปัญหาใหญ่ เนื่องจากหลายประเทศนั้น การเข้าถึงการตรวจเชื้อโควิดยังทำได้ลำบาก

 

  • ขณะที่ผลทดลองยาโมลนูพิราเวียร์นั้น เป็นการให้ยากับผู้ติดเชื้อที่แสดงอาการภายใน 5 วันแรก ซึ่งบางประเทศ การเข้ารับการตรวจเชื้ออย่างรวดเร็วยังถือเป็นเรื่องยาก

 

  • ด้านองค์การแพทย์ไร้พรมแดน (Doctors Without Borders) สนับสนุนยาโมลนูพิราเวียร์ว่าเป็นเครื่องช่วยชีวิตที่สำคัญสำหรับประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ยากไร้ ซึ่งผู้คนจำนวนมากยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีน และมีความเสี่ยงหรือความเปราะบางจากการติดเชื้อโควิด

 

  • แต่คำถามสำคัญคือ ทำอย่างไรคนกลุ่มนี้จะเข้าถึงยาโมลนูพิราเวียร์ เนื่องจากแม้ยาจะผลิตได้ง่าย แต่บริษัท Merck ยังเป็นผู้ถือสิทธิบัตรยา และสามารถตัดสินใจได้ว่าจะขายยาให้กับประเทศไหน และจะขายในราคาเท่าไร

 

  • ลีนา เมนกานีย์ หัวหน้าส่วนรณรงค์เข้าถึงยาประจำภาคพื้นเอเชียใต้ขององค์การแพทย์ไร้พรมแดน เรียกร้องให้ Merck สละสิทธิบัตร เพื่อเปิดทางให้ประเทศต่างๆ ทั่วโลกสามารถผลิตยาโมลนูพิราเวียร์สำหรับรักษาประชาชนได้เอง ซึ่งจะช่วยชีวิตผู้คนได้อีกมาก 

 

  • ขณะที่ DNDi ก็สนับสนุนให้เทคโนโลยีและเครื่องมือด้านสาธารณสุขต่างๆ เปิดกว้างสำหรับสาธารณะ เพื่อให้คุณประโยชน์จากยารักษาโควิดได้รับการแบ่งปันอย่างเสมอภาค

  • แต่ข้อเรียกร้องนี้อาจเป็นไปได้ยาก ดูได้จากช่วงแรกที่เกิดโควิดระบาด ซึ่งมีกลุ่มนักเคลื่อนไหวพยายามเรียกร้องให้บรรดาผู้พัฒนาวัคซีนโควิดสละสิทธิบัตร แต่ก็ถูกคัดค้านจากรัฐบาลบางประเทศ รวมถึงสหราชอาณาจักร

 

ภาพ: Merck & Co Inc / Handout via Reuters

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising