×

โควิดสายพันธุ์ JN.1 มีแนวโน้มพบมากขึ้นทั่วโลก ไทยพบผู้ป่วยแล้ว 40 ราย แต่ยังไม่ใช่ชนิดกลายพันธุ์ 2 ตำแหน่ง

โดย THE STANDARD TEAM
16.01.2024
  • LOADING...
โควิดสายพันธุ์ JN.1

วันนี้ (16 มกราคม) นพ.ยงยศ ธรรมวุฒิ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และเครือข่ายห้องปฏิบัติการ ได้ติดตามสถานการณ์สายพันธุ์เชื้อไวรัส SARS-CoV-2 ในประเทศไทย ตั้งแต่ต้นปี 2565 พบสายพันธุ์โอมิครอน BA.1, BA.2, BA.4, BA.5 และสายพันธุ์ย่อยอื่นๆ ในตระกูล ปัจจุบันสายพันธุ์โอมิครอนเป็นสายพันธุ์หลักที่แพร่กระจายในประเทศ

 

ล่าสุด องค์การอนามัยโลก (WHO) ยังคงให้ความสำคัญกับการติดตามโอมิครอนจำนวน 10 สายพันธุ์ จากพื้นฐานของข้อมูลการเพิ่มความชุกหรือความได้เปรียบด้านอัตราการเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับสายพันธุ์อื่นๆ และการกลายพันธุ์ในตำแหน่งที่เกี่ยวข้องกับการได้เปรียบในการก่อโรค ได้แก่ สายพันธุ์ที่เฝ้าระวัง หรือ Variants of Interest (VOI) 5 สายพันธุ์ ได้แก่ XBB.1.5, XBB.1.16, EG.5, BA.2.86 และ JN.1 

 

ส่วนสายพันธุ์ที่ต้องจับตามอง หรือ Variants Under Monitoring (VUM) จำนวน 5 สายพันธุ์ ได้แก่ DV.7, XBB, XBB.1.9.1, XBB.1.9.2 และ XBB.2.3

 

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2566 WHO จัดสายพันธุ์ JN.1 เป็น VOI สายพันธุ์ JN.1 เป็นสายพันธุ์ย่อยของ BA.2.86 ที่มีการกลายพันธุ์บนส่วนหนามที่ต่างจาก BA.2.86 คือ L455S (กรดอะมิโนที่ตำแหน่ง 455 เปลี่ยนจากลิวซีนเป็นซีรีน) เพิ่มความสามารถหลบหลีกภูมิคุ้มกันอย่างมีนัยสำคัญ JN.1 มีความได้เปรียบในการเติบโตสูงกว่า XBB.1.9.2 ถึง 73%                  

 

โดยในช่วงต้นปี 2567 มีรายงานการกลายพันธุ์ของ JN.1 เพิ่มที่ตำแหน่ง F456L (ฟีนิลอะลานีนถูกแทนที่ด้วยลิวซีนที่ตำแหน่ง 456) รวมกลายพันธุ์สองตำแหน่ง L455S และ F456L เรียกว่า Slip Mutation ซึ่งมีรายงานผู้ติดเชื้อ JN.1 ชนิดกลายพันธุ์สองตำแหน่งรายแรกในฝรั่งเศส ขณะนี้พบทั่วโลกจำนวน 41 ราย (https://cov-spectrum.org ข้อมูล ณ วันที่ 15 มกราคม 2567) 

 

นพ.ยงยศ กล่าวต่อว่า สถานการณ์ภาพรวมทั่วโลกของสายพันธุ์ในกลุ่ม VOI จากฐานข้อมูลกลาง GISAID รอบสัปดาห์ที่ 48 (27 ตุลาคม ถึง 3 ธันวาคม 2566) พบ EG.5 มากที่สุด ในสัดส่วน 36.3% ถัดมาคือ JN.1 พบสัดส่วน 27.1% โดย EG.5 มีอัตราการพบที่ค่อยๆ ลดลง 

 

ในขณะที่ JN.1 ซึ่งมีความได้เปรียบในการเติบโต และคุณลักษณะหลบภูมิคุ้มกัน มีอัตราการพบที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในรอบ 28 วัน สายพันธุ์ในกลุ่ม VUM ที่พบมากที่สุด ได้แก่ XBB.1.9.1 ในสัดส่วน 3.3% และ DV.7 สายพันธุ์ที่มีการกลายพันธุ์บนส่วนหนามแบบ Flip Mutation คือกลายพันธุ์สองตำแหน่งที่อยู่ติดกัน ได้แก่ L455F และ F456L ช่วยส่งเสริมการจับตัวบนผิวเซลล์มนุษย์ และหลบภูมิคุ้มกันได้ดี อย่างไรก็ตาม DV.7 มีสัดส่วนลดลงอย่างต่อเนื่อง จนถึงปัจจุบันยังไม่พบว่ามีรายงานการเพิ่มความรุนแรงของโรค  

 

สำหรับประเทศไทย ตั้งแต่ช่วงต้นปี 2566 สายพันธุ์ลูกผสม XBB.1.16 เป็นสายพันธุ์หลักที่ระบาดในประเทศไทย จนกระทั่งเดือนกันยายนเริ่มมีแนวโน้มลดลง และพบสายพันธุ์ XBB.1.9.2 มาแทนที่ ล่าสุดผลการถอดรหัสพันธุกรรมเชื้อก่อโรคโควิดทางห้องปฏิบัติการช่วงเดือนพฤศจิกายน 2566 ถึง 15 มกราคม 2567 พบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์ลูกผสม XBB.1.9.2 ลดลง ในขณะที่สัดส่วนของ JN.1 เพิ่มมากขึ้น

 

สายพันธุ์ JN.1 เริ่มพบในประเทศไทยตั้งแต่เดือนตุลาคม 2566 และพบเพิ่มมากขึ้นในเดือนธันวาคม 2566 ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่จะกลายเป็นสายพันธุ์ระบาดหลักแทนที่ XBB.1.9.2 จากข้อมูลปัจจุบันพบผู้ติดเชื้อ JN.1 ในพื้นที่เขตสุขภาพ 2, 4, 5, 6, 7, 11, 12, และ 13 ซึ่งมีอาการระบบทางเดินหายใจทั่วไป เช่น ไข้ ไอ เสมหะ เป็นต้น และยังไม่พบรายงานผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อสายพันธุ์ JN.1 ปัจจุบันมีผู้ติดเชื้อ JN.1 ในประเทศไทยจำนวน 40 ราย ซึ่งยังไม่มีชนิดกลายพันธุ์สองตำแหน่ง 

 

“กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และเครือข่ายห้องปฏิบัติการ เฝ้าระวังการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์อย่างต่อเนื่อง โดยรวบรวมตัวอย่างผลบวกเชื้อก่อโรคโควิดจากการทดสอบ ATK หรือ Real-time RT-PCR จากทั่วประเทศ ถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมและเผยแพร่ผ่านฐานข้อมูลสากล GISAID อย่างสม่ำเสมอ การเฝ้าระวังติดตามสายพันธุ์ที่ระบาดในประเทศอย่างเป็นปัจจุบัน ช่วยส่งเสริมความพร้อมทางห้องปฏิบัติการในการรับมือกับการระบาดในอนาคต

 

“ทั้งนี้ การป้องกันตนเองตามมาตรการสาธารณสุขยังใช้ได้กับทุกสายพันธุ์ สำหรับอาการและความรุนแรง มักขึ้นอยู่กับระบบภูมิคุ้มกันและสุขภาพโดยรวมของบุคคล มากกว่าชนิดสายพันธุ์ที่เป็นสาเหตุของการติดเชื้อ” นพ.ยงยศกล่าว

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising