×

สธ. เผย โควิดระบาด 4 จังหวัดชายแดนใต้ส่วนใหญ่เป็นสายพันธุ์เดลตา ยังไม่พบการกลายพันธุ์

โดย THE STANDARD TEAM
11.10.2021
  • LOADING...

วันนี้ (11 ตุลาคม) นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การแพร่ระบาดค่อนข้างมากของโควิดในพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนใต้นั้น พบว่าส่วนใหญ่เป็นสายพันธุ์เดลตา ขณะนี้ได้ประสานแจ้งจังหวัดร่วมกับศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 12 สงขลา เก็บตัวอย่างในพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนใต้เพิ่มเติม เพื่อให้ได้จำนวนตัวอย่างของแต่ละจังหวัดมากขึ้น และตรวจดูว่าสัดส่วนสายพันธุ์มีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ รวมถึงแต่ละจังหวัดมีสายพันธุ์แตกต่างกันหรือไม่อย่างไร  

 

ซึ่งกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์และเครือข่ายห้องปฏิบัติการยังคงมีการเฝ้าระวังสายพันธุ์และการกลายพันธุ์ของเชื้อในพื้นที่ต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ขณะนี้ยังไม่พบการกลายพันธุ์ของเชื้อแต่อย่างใด

 

ส่วนการเฝ้าระวังสายพันธุ์โควิดในประเทศไทย โดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ร่วมกับเครือข่ายห้องปฏิบัติการ พบว่าข้อมูลการเฝ้าระวังทั้งประเทศ ระหว่าง 2-8 ตุลาคม 2564 จากการสุ่มตรวจผู้ติดเชื้อทั้งหมด 599 ราย เป็นสายพันธุ์เดลตา (อินเดีย) จำนวน 584 ราย (97.5%), สายพันธุ์อัลฟา (อังกฤษ) จำนวน 13 ราย (2.17%) และสายพันธุ์เบตา (แอฟริกาใต้) จำนวน 2 ราย (0.33%)

 

โดยในพื้นที่กรุงเทพมหานครสุ่มตรวจจำนวน 83 ราย เป็นสายพันธุ์เดลตา จำนวน 82 ราย (98%), สายพันธุ์อัลฟา จำนวน 1 ราย (2%) ส่วนสายพันธุ์เบตา ไม่พบผู้ติดเชื้อ ส่วนภูมิภาคสุ่มตรวจจำนวน 516 ราย เป็นสายพันธุ์เดลตา 502 ราย (97.3%), สายพันธุ์อัลฟา 12 ราย (2.3%) และสายพันธุ์เบตา 2 ราย (0.4%)  

 

นพ.ศุภกิจกล่าวต่ออีกว่า ขณะนี้มีข่าวดีที่อังกฤษได้ปลดประเทศไทยออกจากบัญชีแดง (Red List) แล้ว สืบเนื่องจาก อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้หารือกับ มาร์ค กูดดิ้ง เอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทย ถึงประเด็นสำคัญที่ไทยต้องรีบดำเนินการ 2-3 ประเด็น เช่น ไทยยังมีอัตราการรายงานข้อมูลการตรวจสายพันธุ์โควิดไม่มากพอและยังไม่สม่ำเสมอ รวมทั้งมีอัตราการตรวจเชื้อและสายพันธุ์ในกลุ่มประชากรในระดับไม่สูงพอ ซึ่งสถานเอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทยเน้นย้ำให้ฝ่ายไทยเร่งดำเนินการ 

 

ดังนั้น กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์และเครือข่ายที่ช่วยกันตรวจสายพันธุ์ได้ตกลงกันว่า เมื่อตรวจเสร็จจะรายงานทุกสัปดาห์ลงในฐานข้อมูลสากล (GISAID) โดยมีการตรวจติดตามสายพันธุ์ด้วยการถอดรหัสพันธุกรรมตัวอย่างทั่วประเทศ 450 ตัวอย่างต่อสัปดาห์ โดยตัวอย่างที่เก็บมาจากหลักเกณฑ์ที่ดำเนินไว้ร่วมกับกรมควบคุมโรค เช่น มาจากตัวอย่างคนไข้หนัก จากผู้เดินทางมาทางตะเข็บชายแดน รวมถึงคนที่เดินทางจากต่างประเทศ เป็นต้น ผลจากการรายงานที่ผ่านมาของประเทศไทยขณะนี้มียอดการรายงานที่ 4,173 ตัวอย่าง 

 

นอกจากนี้ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ยังได้ร่วมกับเครือข่ายห้องปฏิบัติการเผยแพร่ข้อมูลทางเว็บไซต์ ทั้งของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์, GISAID และศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อให้เป็นข้อมูลที่สาธารณะสามารถเข้าถึงได้

 

สำหรับประเด็นการใช้ ATK ตรวจแล้วเกิดผลลบลวงค่อนข้างมาก ขอย้ำว่าการตรวจด้วย ATK เป็นเพียงชุดตรวจคัดกรองเบื้องต้น การที่มีผลลบลวงไม่ได้เกิดจากคุณภาพของชุดตรวจ แต่เป็นข้อจำกัดของเครื่องมือ เช่น ถ้าตรวจเร็วเกินไป เชื้อจะยังไม่เพิ่มจำนวน ก็จะตรวจไม่เจอ เพราะ ATK ความไวน้อยกว่า RT-PCR หรือถ้าเชื้อน้อยแล้วตรวจด้วย ATK ก็จะไม่เจอ 

 

ดังนั้น สิ่งที่เราเน้นย้ำคือ ต้องมีการตรวจซ้ำ 3-5 วัน หรือเมื่อมีอาการ เช่น มีไข้ ไอ คล้ายหวัด นอกจากนี้ หากเก็บตัวอย่างไม่ถูกต้องหรือไม่ปฏิบัติตามคู่มือที่ชุดตรวจกำหนด ก็อาจได้ผลคาดเคลื่อน เป็นต้น

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising