วันนี้ (19 กรกฎาคม) นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวถึงสถานการณ์การกลายพันธุ์ของเชื้อโควิดที่มีการแพร่ระบาดในประเทศไทย จากการตรวจสอบสายพันธุ์ที่มีการแพร่ระบาดในประเทศไทย โดยช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาพบว่าสายพันธุ์เดลตา (อินเดีย) แซงสายพันธุ์อัลฟา (อังกฤษ) ไปโดยสิ้นเชิงแล้ว ส่วนสายพันธุ์เบตา (แอฟริกาใต้) ยังอยู่ชายแดนใต้เป็นส่วนใหญ่
นพ.ศุภกิจกล่าวว่า รายละเอียดภาพรวมประเทศมีการตรวจวิเคราะห์กว่า 3,000 ตัวอย่าง พบเป็นเชื้อเดลตา 63% อัลฟาประมาณ 34% ที่เหลือเป็นสายพันธุ์เบตา ส่วนกรุงเทพมหานคร (กทม.) พบสายพันธุ์เดลตา 77% ส่วนภูมิภาคพบประมาณ 47% จะเห็นว่าแนวโน้มเพิ่มขึ้นค่อนข้างรวดเร็วตามที่คาดไว้
จนถึงวันนี้พบสายพันธุ์เดลตาแล้ว 71 จังหวัด เพิ่มมา 11 จังหวัดจากสัปดาห์ที่ผ่านมา หลายจังหวัดที่เดิมเป็น 0 รายก็พบเพิ่มขึ้นมา เช่น แม่ฮ่องสอน พบ 3 ราย, กาญจนบุรี 1 ราย, สมุทรสงคราม 4 ราย, ฉะเชิงเทรา 20 ราย, ตราด 2 ราย, สุรินทร์ 28 ราย, ชุมพร 1 ราย, นครศรีธรรมราช 2 ราย, กระบี่ 2 ราย, พังงา 1 ราย, ปัตตานี 2 ราย เรียกว่าขณะนี้ 71 จังหวัดบวก 1 คือ กทม. พบสายพันธุ์เดลตาแล้ว เหลือเพียง 4-5 จังหวัดที่ยังไม่มีเชื้อเดลตา เป็นคำตอบว่าทำไมถึงมีตัวเลขผู้ติดเชื้อเป็นจำนวนมากแต่ละวัน แต่เรื่องความรุนแรงหรืออัตราการป่วยและเสียชีวิตยังไม่มีรายงานผลเท่าไร ยกเว้นว่ามีผู้ป่วยมากจนเราดูแลไม่ทันอาจจะมีผลกระทบได้
นพ.ศุภกิจกล่าวต่อไปว่า ในส่วนของสายพันธุ์เบตาที่เดิมทะลุชายแดนเข้ามาทางจังหวัดนราธิวาส วันนี้ยังอยู่ที่บริเวณนั้นเป็นส่วนใหญ่ อย่างไรก็ตามสัปดาห์ที่ผ่านมาพบเชื้อเบตาที่นราธิวาสจำนวน 91 ราย แสดงว่ายังมีการแพร่กระจายเยอะมากพอสมควร แต่มีจังหวัดใกล้เคียงเขต 12 คือ ปัตตานี ยะลา สงขลา พัทลุง พบตัวเลขเพิ่มขึ้นจากเดิมที่มีอยู่บ้าง และยังพบรายใหม่ที่จังหวัดชุมพรด้วย
นพ.ศุภกิจกล่าวด้วยว่า ส่วนที่จังหวัดบึงกาฬ 1 ราย เป็นแรงงานที่เดินทางมาจากไต้หวัน เข้ากักตัวในสถานกักกันโรค และตรวจไม่พบว่ามีการติดเชื้อโควิดแต่อย่างใด แต่เมื่อกลับไปที่บ้านก็ตรวจพบว่ามีการติดเชื้อเบตา และพบคนใกล้ชิดติดเชื้อเพิ่มอีก 3 ราย รวมเป็น 4 ราย ที่ต้องจับตาว่าจะมีผู้ติดเชื้อเพิ่มจาก 4 รายนี้หรือไม่ ตอนนี้ยังมีกลุ่มเสี่ยงสูงที่ต้องตรวจหาเชื้อเพิ่มในสัปดาห์ถัดไป ส่วนเชื้อเบตามาจากสายตระกูลที่ตรวจสอบพบว่าไม่ตรงกันกับสายพันธุ์ไต้หวัน และไม่ตรงกับสายพันธุ์ที่พบทางใต้ ตอนนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบว่าสายพันธุ์นี้มาจากที่ใด
“ส่วนกรณีที่พบผู้ติดเชื้อเบตาใน กทม. จากกรณีที่มีญาติจากจังหวัดนราธิวาสมาเยี่ยมพ่อที่ กทม. แล้วนำเชื้อมาติดพ่อ และคนในครอบครัวอีก 2 ราย ตอนนี้ยังไม่พบรายงานป่วยเพิ่ม หากสัปดาห์หน้ายังเป็น 0 รายอยู่ เชื้อเบตาจะถือว่าจบในพื้นที่ กทม. ขณะที่การพบแรงงานติดเชื้อ 2 สายพันธุ์ในแรงงาน 7 รายนั้นยังไม่พบเพิ่ม และยืนยันว่ายังไม่มีการผสมพันธุ์ของ 2 สายพันธุ์จนเกิดเป็นสายพันธุ์ใหม่แต่อย่างใด อย่างไรก็ตามกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์และเครือข่ายมีการเฝ้าระวังเรื่องการกลายพันธุ์อยู่แล้ว” นพ.ศุภกิจกล่าว