×

1 ต.ค. นี้ สธ. ปรับโควิดจากโรคติดต่ออันตรายเป็นโรคติดต่อเฝ้าระวัง ศบค. เตรียมเคาะแนวปฏิบัติรองรับ 23 ก.ย.

โดย THE STANDARD TEAM
21.09.2022
  • LOADING...

วันนี้ (21 กันยายน) ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขได้ออกประกาศ 2 ฉบับ ซึ่งได้เผยแพร่ในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2565 ประกอบด้วย

 

  1. ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ยกเลิกประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ชื่อและอาการสำคัญของโรคติดต่ออันตราย (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2563 พ.ศ. 2565
  2. ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ชื่อและอาการสำคัญของโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2565 

 

โดยประกาศทั้ง 2 ฉบับจะมีผลยกเลิกโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิดจากโรคติดต่ออันตราย แล้วกำหนดให้เป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 เป็นต้นไป

 

โดยการยกเลิกโควิดจากโรคติดต่ออันตรายนี้ เนื่องมาจากสถานการณ์การระบาดทั่วโลกมีแนวโน้มจำนวนผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงและอัตราการเสียชีวิตลดลง การแพร่ระบาดและความรุนแรงของโรคในต่างประเทศก็มีแนวโน้มลดลง ประกอบกับจำนวนวัคซีนป้องกันโรคโควิดในประเทศมีเพียงพอกับความต้องการ ขณะที่ประชาชนได้รับวัคซีนในระดับความครอบคลุมสูง มีภูมิคุ้มกันโรคเพิ่มขึ้น จึงสมควรปรับมาตรการทางกฎหมายให้สอดคล้องกับการผ่อนคลายมาตรการต่างๆ ในประเทศและสถานการณ์ปัจจุบัน

 

ไตรศุลีกล่าวว่า รัฐบาลโดยศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ได้ติดตามและดำเนินการตามแผนงานที่สอดคล้องกับสถานการณ์โควิดมาเป็นระยะ ซึ่งรวมถึงการจัดทำกรอบนโยบาย แนวปฏิบัติภายหลังโควิด ปรับสู่การเป็นโรคติดต่อเฝ้าระวัง แนวปฏิบัติของภาคส่วนต่างๆ ทั้งภาครัฐ เอกชน ประชาชน เมื่อเข้าสู่ภาวะหลังการระบาดใหญ่ (Post-Pandemic) ซึ่งที่ประชุม ศบค. ชุดใหญ่ ในวันที่ 23 กันยายน 2565 จะได้พิจารณาอนุมัติแนวดำเนินการต่างๆ ซึ่งได้เตรียมไว้เพื่อไปสู่ในทางปฏิบัติต่อไป

 

“ภายหลังโควิดเป็นโรคติดต่อเฝ้าระวัง จะมีแนวปฏิบัติที่ชัดเจนทั้งด้านกฎหมาย กลไกการจัดการในภาพรวม การดำเนินการด้านสาธารณสุข ด้านการแพทย์ และการสื่อสารให้สังคมเกิดความเข้าใจ โดยมีเป้าหมายคือประชาชนอยู่กับโควิดได้อย่างปลอดภัยและดำเนินชีวิตได้เป็นปกติ ซึ่งทั้งหมดนี้จะมีการพิจารณาในที่ประชุม ศบค. วันที่ 23 กันยายนนี้” ไตรศุลีกล่าว

 

ไตรศุลีกล่าวด้วยว่า การประกาศลดระดับโควิดสู่โรคติดต่อเฝ้าระวังของกระทรวงสาธารณสุข มีการผ่อนคลายทางนโยบายที่สอดคล้องกับที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2565 ได้เห็นชอบร่างกฎกระทรวงกำหนดโรคต้องห้ามสำหรับคนต่างด้าวซึ่งเข้ามาในราชอาณาจักรหรือเข้ามามีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักร ตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ โดยมีสาระสำคัญเป็นการยกเลิกโควิดออกจากกลุ่มโรคต้องห้าม หลังจากที่ถูกกำหนดให้เป็นโรคต้องห้ามสำหรับชาวต่างชาติที่จะเดินทางเข้าประเทศไทยตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา โดยประกาศจะมีผลตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไป

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising