วันนี้ (13 สิงหาคม) นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ประเด็น ‘โควิด-19 เมื่อการระบาดระลอกใหญ่เกิดขึ้น และจะเริ่มลดลงหลังกลางเดือนตุลาคม’
นพ.ยงระบุว่า “การระบาดของโควิด ขณะนี้เป็นการระบาดระลอกใหญ่ นับจำนวนไม่ได้ เพราะส่วนใหญ่อาการไม่มาก ตั้งแต่มกราคมเป็นต้นมา และมาเข้าสูงสุดในช่วงฤดูฝน ตามฤดูกาลของโรคทางเดินหายใจ และจะเริ่มลดลงหลังเดือนกันยายน จนกระทั่งกลางตุลาคมไปแล้วจึงจะน้อยลง (ฤดูกาลของโรคทางเดินหายใจทุกปี) นักเรียนเปิดเทอม ฤดูกาลที่เหมาะ จึงยากที่จะนับยอดว่าแต่ละวันมีผู้ป่วยติดเชื้อเท่าไร แต่ละบ้านก็จะติดกันจำนวนมากในบ้าน
“วัคซีนกี่เข็ม ยี่ห้ออะไร ไม่มีวัคซีนเทพ ไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้ แต่ลดความรุนแรงของโรคลง ในอเมริกาการติดเชื้อก็ไม่ได้ลดลง แต่ภาพรวมของทั่วโลกความรุนแรงลดลง ภูมิต้านทานที่ดีที่สุดขณะนี้คือ ภูมิต้านทานที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติจากการติดเชื้อ และจะดียิ่งขึ้นคือ ภูมิต้านทานแบบลูกผสม ฉีดวัคซีนร่วมกับการติดเชื้อ น่าจะป้องกันความรุนแรงของครั้งต่อๆ ไปได้ดียิ่งขึ้น
“การศึกษาวิจัยขณะนี้ คงจะไม่อยู่ที่การศึกษาภูมิต้านทาน หรือประสิทธิภาพของวัคซีน เพราะรู้อยู่แล้ว สิ่งที่สำคัญที่ควรจะต้องรู้คือ ขณะนี้ประชากรไทยติดเชื้อไปแล้วเท่าไร (ฉีดวัคซีนไปแล้วเท่าไร เรารู้) การเร่งกระตุ้นฉีดวัคซีนเข็ม 4, 5, 6 จะต้องพิจารณา (อาจจะให้ในเฉพาะกลุ่มเปราะบาง) เพราะวัคซีนแต่ละเข็มราคาไม่ถูกเลย และเป็นการฉีดวัคซีนสายพันธุ์เดิมอู่ฮั่น และถ้ามีการติดเชื้อมากแล้ว เช่น 70-80% ของประชากร การฉีดวัคซีนต่อไปอาจรอได้ถึงปีหน้า หรือมีวัคซีนสายพันธุ์ใหม่ที่ตรง หรือใกล้เคียงกับสายพันธุ์ที่ระบาดมากที่สุด
“การลงทุนด้านวัคซีน เราได้ใช้เงินเป็นจำนวนมาก ด้วยความหวังเริ่มต้นว่าวัคซีนจะยุติการระบาดของโรค แต่ความเป็นจริงหาเป็นเช่นนั้นไม่ เราต้องการองค์ความรู้มาวางแผนในปีต่อไป ด้วยการใช้วิชาการนำ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด และลงทุนน้อยที่สุด คุ้มค่าสำหรับประเทศไทย เราคงต้องมีข้อมูลของเราเอง ไม่ใช่เชื่อต่างชาติ”
นพ.ยงกล่าวอีกว่า “ผมและคณะที่ศูนย์ มีแผนการศึกษา ตอบคําถามว่าเวลานี้ประชากรทุกช่วงอายุติดเชื้อไปแล้วเท่าไร โดยจะตรวจดูภูมิที่บอกการติดเชื้อ (Anti-nucleocapsid) ไม่ใช่ภูมิต้านทานที่บอกในการป้องกัน (Anti-spike) ในประชากรช่วงอายุต่างๆ โดยจำลองจังหวัดใดจังหวัดหนึ่ง โครงการอยู่ระหว่างการดำเนินการ จะต้องหาเงินทุนมาสนับสนุน และผ่านคณะกรรมการจริยธรรมโดยเร็ว ถือเป็นงานท้าทาย เร่งด่วน ที่จะใช้วางแผนหลังการระบาดรอบใหญ่ของโควิด-19 ที่จะผ่านไป เพื่อปีต่อไปจะได้มีการวางแผนที่ถูกต้อง”