×

ความสับสนที่สร้างโดย ‘รัฐ’ ระบาดพร้อมโควิด-19 ระลอกใหม่ และวัคซีนความหวังสู่วันพ้นวิกฤต

22.01.2021
  • LOADING...
โควิด-19 ระลอกใหม่

HIGHLIGHTS

7 mins. read
  • กว่า 1 เดือนเศษที่ประเทศไทยต้องเผชิญกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ‘ระลอกใหม่’ ตามคำนิยามของ นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) 
  • รัฐบาลมี ศบค. ที่คอยบัญชาการสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค ทั้งการออกคำสั่ง การให้ข้อมูลแบบเป็นทางการ แต่ภาพที่ประชาชนเห็นคือข้อมูลที่สับสนในหลายต่อหลายครั้ง 
  • โครงการเราชนะใช้วิธีคัดคนออก แต่ในโครงการเราไม่ทิ้งกันใช้วิธีคัดคนเข้า ซึ่งทำให้ต้องประสบปัญหาความล่าช้าในการตรวจสอบคุณสมบัติ และกว่าเงินจะถึงมือประชาชนก็ทำให้เวลาล่วงเลยไปพอสมควร
  • วัคซีนคือความหวังที่ไม่มีใครปฏิเสธได้ แต่ขณะนี้เรากำลังอยู่ภายใต้การระบาดระลอกใหม่ที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อยังไม่มีแนวโน้มจะลดลง ปัญหาเศรษฐกิจที่ผู้ประกอบการ ร้านค้า ลูกจ้าง และทุกภาคส่วนได้รับผลกระทบต่างก็บอบช้ำมากว่า 1 ปี

 

โควิด-19 ระลอกใหม่

อธิบดีกรมควบคุมโรคและผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร
แถลงข่าวผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย
ในคืนวันที่ 19 ธันวาคม 2563

 

ย้อนจุดเริ่มต้นการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ในประเทศไทย

ผ่านมา 1 เดือนเศษแล้วที่ประเทศไทยต้องเผชิญกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ‘ระลอกใหม่’ ตามคำนิยามของ นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ที่ไม่ได้นิยามการระบาดรอบนี้ว่าเป็นการระบาดระลอกสองของประเทศ โดยให้เหตุผลว่ากลุ่มก้อนของการระบาดเป็นกลุ่มใหม่

 

นับถึงวันที่ 22 มกราคม มีผู้ป่วยสะสมในระลอกใหม่แล้วกว่า 8,558 ราย มากกว่าผู้ป่วยสะสมในระลอกแรก กระจายไปในหลายจังหวัดอย่างรวดเร็ว ถึงแม้ว่าจะมีผู้ป่วยมากกว่าระลอกแรก แต่มาตรการการควบคุมโรคจำเป็นต้องระมัดระวังและรอบคอบมากกว่า เพื่อประคับประคองสถานการณ์เศรษฐกิจที่ต้องยอมรับกันว่าย่ำแย่ตั้งแต่การล็อกดาวน์ครั้งที่ 1 ซึ่งผู้ประกอบการบางรายเพิ่งได้ฟื้นตัว แผลเดิมยังไม่หายดี กลับต้องเผชิญกับมรสุมอีกครั้ง

 

หากเราย้อนกลับไปวันที่ 17 ธันวาคม คือวันแรกที่จังหวัดสมุทรสาครแถลงพบผู้ป่วยโควิด-19 เป็นหญิงสูงวัยรายหนึ่ง ซึ่งช่วงแรกการให้ข่าวก็สับสนไปมาระหว่างเจ้าของแพกุ้งในตลาดปลาหรือเจ้าของแพปลาในตลาดกุ้ง จนสุดท้ายเราก็ทราบว่าคือเจ้าของแพปลาในตลาดกลางกุ้ง จังหวัดสมุทรสาคร วัย 67 ปี และในเวลาต่อมาก็พบว่ามีผู้สัมผัสเสี่ยงสูงเป็นคนในครอบครัวและลูกจ้าง นำมาซึ่งการตรวจคัดกรองแรงงานต่างด้าวในย่านนั้น ในช่วงแรก อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่าน่าจะพบผู้ติดเชื้อรวม 12-13 ราย แต่แล้วช่วงเย็นวันที่ 19 ธันวาคม 2563 จังหวัดสมุทรสาครแจ้งว่าจะมีการแถลงข่าวผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทยในเวลา 21.00 น.

 

เวลาประมาณ 21.00 น. ของวันที่ 19 ธันวาคม ก่อนที่จะมีการเลือกตั้งท้องถิ่นในวันรุ่งขึ้น โทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทยตัดเข้าการแถลงของจังหวัดสมุทรสาคร โดยมี วีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร และ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค นั่งแถลงร่วมด้วย

 

การแถลงครั้งนั้นใช้เวลาประมาณ 20 นาที แต่สร้างแรงสั่นสะเทือนมหาศาล เมื่อการแถลงระบุว่าพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในกลุ่มแรงงานต่างด้าว 516 ราย พร้อมคำสั่งยกระดับมาตรการต่างๆ ขั้นสูงสุดและเร่งตรวจเชิงรุกให้ได้มากที่สุด และในเวลาต่อมาก็พบว่าผู้ว่าราชการจังหวัดเองก็ติดโควิด-19 จนถึงขณะนี้ก็ยังคงพักรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล

 

โควิด-19 ระลอกใหม่

นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19
ขณะกำลังแถลงข่าวสถานการณ์การแพร่ระบาดประจำวัน

 

 

ปัญหาหลักในช่วงแรกคือ ‘ตัวเลขผู้ติดเชื้อ’ ที่ยังคงสับสนว่าจะยึดของหน่วยงานใดเป็นหลัก ซึ่งแต่เดิมทุกคนยึดตัวเลขจาก ศบค. แต่ในเวลาต่อมาเมื่อมีการติดเชื้อเพิ่มขึ้นในหลายจังหวัด บางกรณีสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อก็เป็นคนแถลงเอง บางกรณีกรุงเทพมหานครก็แถลง บางกรณีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นคนแถลง ซึ่งทำให้สื่อมวลชนและประชาชนที่ติดตามข่าวสับสนในการยึดตัวเลขอย่างเป็นทางการประจำวัน และเกิดความไม่แน่ใจว่าตัวเลขที่ทางจังหวัดหรือ ศบค. รายงานประจำวันนั้นได้มีการนับรวมกันแล้วหรือไม่ หรือมีการนับแยกกันอย่างไร

 

จากบ่อนถึงล็อกดาวน์และหมอชนะ ความสับสนที่สร้างโดย ‘รัฐ’

หลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในระลอกใหม่ โดยที่รัฐเองก็มี ศบค. ที่คอยบัญชาการสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค ทั้งการออกคำสั่ง การให้ข้อมูลแบบเป็นทางการ แต่ภาพที่ประชาชนเห็นคือข้อมูลที่สับสนในหลายต่อหลายครั้ง โดยเฉพาะเรื่องการประกาศกำหนดพื้นที่ในการควบคุมโรค โดยในช่วงแรกก็มีการวางเป็นสีต่างๆ เช่น พื้นที่สีแดงคือพื้นที่ควบคุมสูงสุด พื้นที่สีส้มคือพื้นที่ควบคุม ฯลฯ แต่ในเวลาต่อมาก็ให้เรียกขานกันว่าพื้นที่ควบคุม พื้นที่ควบคุมสูงสุด และพื้นที่ควบคุมสูงสุดเข้มงวดแทนการใช้สี

 

ส่วนคำว่าล็อกดาวน์ก็เป็นที่สับสน เมื่อ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประกาศว่าจะไม่มีการล็อกดาวน์ ขณะที่ สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุขโพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า “นายกรัฐมนตรีและที่ประชุม ศบค. มีมติอนุมัติให้ล็อกดาวน์ 5 จังหวัด ได้แก่ สมุทรสาคร, ชลบุรี, ระยอง, จันทบุรี และตราด” พร้อมประโยคทิ้งท้ายว่า “เจ็บสั้นๆ ดีกว่าปวดนานๆ” แต่ต่อมา นพ.ทวีศิลป์ ออกมาแถลงว่าพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ไม่ใช่การล็อกดาวน์แต่อย่างใด

 

โควิด-19 ระลอกใหม่

พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
กำลังแถลงข่าวมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
ที่ทางเชื่อมตึกไทยคู่ฟ้ากับตึกสันติไมตรี

 

อีกหนึ่งความสับสนคือการที่ พล.อ. ประยุทธ์ ออกมาแถลงหลังการประชุม ศบค. หักคำสั่งของกรุงเทพมหานครที่ออกมาตรการเรื่องการควบคุมโรค โดยให้ร้านอาหารสามารถเปิดให้บริการแบบนั่งรับประทานที่ร้านได้ถึงเวลา 19.00 น. โดย พล.อ. ประยุทธ์ อ้างว่าได้รับเสียงร้องเรียนจากสมาคมภัตตาคารให้ยกเลิกคำสั่งของกรุงเทพมหานครออกไปก่อน และสามารถรับประทานอาหารในร้านได้ถึงเวลา 21.00 น. 

 

และที่สุดของความสับสน ถึงขั้น นพ.ทวีศิลป์ ต้องออกมาขอโทษและขอทบทวนตัวเอง กรณีที่มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา ข้อกำหนดเพิ่มเติม ยกระดับเข้มข้นสูงสุด 5 จังหวัดคือ ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด สมุทรสาคร จะไปนอกพื้นที่ต้องมีใบรับรอง และจากประกาศคำสั่งดังกล่าว หากพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่ไม่มีการติดตั้งแอปพลิเคชัน ‘หมอชนะ’ ก็จะถือว่าละเมิด พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ ซึ่งสร้างเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างต่อเนื่องตลอดทั้งวันที่แถลง รวมถึงการตั้งคำถามว่าหากไม่มีสมาร์ทโฟนจะต้องทำอย่างไร

 

ด้าน ผศ.ดร.พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย อาจารณ์คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความเห็นว่า “ภาครัฐต้องไม่ลืมว่าการมีภารกิจในการดูแลความสงบเรียบร้อย ซึ่งรวมถึงการมีหน้าที่ในการดูแลด้านสาธารณสุขหรือสุขภาวะของประชาชน (Public Health) นั้น ไม่ได้หมายความว่าเพื่อแก้ไขปัญหาข้างต้นจะส่งผลให้รัฐสามารถออกมาตรการใดๆ ขึ้นมาก็ได้ตามอำเภอใจ โดยมิได้คำนึงการเคารพและพิทักษ์รักษาสิทธิเสรีภาพของประชาชน ซึ่งก็เป็นอีกหน้าที่หลักหนึ่งของรัฐที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ด้วยเฉกเช่นเดียวกัน”

 

เนื่องจากการออกมาตรการดังกล่าวอาจขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 26 เพราะเป็นการออกกฎหมายที่สร้างภาระเกินความจำเป็นแก่ประชาชน 

 

ในช่วงบ่ายวันเดียวกัน อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า “ผมได้นำเรียนท่านนายกรัฐมนตรีแล้วว่าจะเป็นการทำให้ประชาชนมีปัญหามากขึ้น เนื่องจากประชาชนบางส่วนไม่มีโทรศัพท์ หรือมีโทรศัพท์ที่ไม่สามารถโหลดแอปพลิเคชันหมอชนะได้ ท่านนายกรัฐมนตรีเห็นด้วยตามที่ผมนำเรียน และจะมีการแก้ไขคำสั่งให้เป็นการใช้เอกสารแทน”

 

ส่วนเรื่องบ่อนการพนันที่เป็นอีกหนึ่งคลัสเตอร์หรือติดเชื้อแบบกลุ่มก้อนตามคำแถลงของผู้ราชการจังหวัดระยอง แต่ทว่าผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดระยองกลับปฏิเสธการมีอยู่ของบ่อนการพนัน และส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจลงไปตรวจสอบ พบว่าเป็นเพียงโกดัง ไม่ใช่บ่อน จนกระทั่งถูกสั่งย้ายในเวลาต่อมา

 

ปัญหาเรื่องบ่อนเป็นอีกหนึ่งปัญหาที่ พล.อ. ประยุทธ์ ต้องออกหน้าเอง โดยระบุว่า “ก็ขอร้องให้ช่วยกันบรรเทาตรงนี้ลง ขอร้องเถอะ จะได้ช่วยกันแบ่งเบาปัญหาลงไปบ้าง ไม่มีใครทำได้สำเร็จเพียงคนเดียว ต่อให้ 100 นายกฯ ก็ทำไม่ได้ ถ้าทุกคนไม่ร่วมมือกัน” และจนถึงตอนนี้ก็ยังไม่ได้มีข้อสรุปว่ามีบ่อนจริงหรือไม่ แล้วใครเป็นเจ้าของ

 

โควิด-19 ระลอกใหม่

ประชาชนรายหนึ่งนั่งลงกับพื้นเพื่อกรอกแบบฟอร์มอุทธรณ์
หลังมาร้องเรียนว่าไม่ได้รับเงินเยียวยาจากโครงการเราไม่ทิ้งกัน
ที่กระทรวงการคลัง

 

‘เราชนะ’ โจทย์เยียวยาที่ต้องพาให้ถึงมือผู้ได้รับผลกระทบ

หลังคณะรัฐมนตรีอนุมัติโครงการเยียวยาประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกใหม่ในชื่อ ‘เราชนะ’ โดยหลักการจะกลับหัวกับโครงการเยียวยาในรอบที่แล้วที่ชื่อ ‘เราไม่ทิ้งกัน’ ซึ่งโครงการเราชนะใช้วิธีคัดคนออก แต่ในโครงการเราไม่ทิ้งกันใช้วิธีคัดคนเข้า ซึ่งทำให้ต้องประสบปัญหาความล่าช้าในการตรวจสอบคุณสมบัติ และกว่าเงินจะถึงมือประชาชนก็ทำให้เวลาล่วงเลยไปพอสมควร

 

โครงการเราชนะใช้วิธีการแจกเงิน 3,500 บาท โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่มหลักที่จะได้คือ กลุ่มผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือบัตรคนจน ซึ่งจะได้โดยอัตโนมัติ กลุ่มที่สองคือกลุ่มผู้เคยลงทะเบียนใช้สิทธิ์โครงการคนละครึ่งและเราเที่ยวด้วยกัน พร้อมลงทะเบียนยืนยันตัวตนผ่านแอปพลิเคชัน ‘เป๋าตัง’ กลุ่มนี้ก็จะมีการคัดคุณสมบัติ เช่น ไม่เป็นข้าราชการ ไม่มีเงินฝากเกิน 5 แสน เป็นต้น และกลุ่มสุดท้ายคือกลุ่มที่ไม่เคยมีฐานข้อมูล ซึ่งจำเป็นต้องลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์อีกครั้ง 

 

โดยโครงการเราชนะจะแบ่งจ่ายเงินสัปดาห์ละ 1,000 บาท ทั้งหมดรายละ 7,000 บาท ใช้จ่ายตามร้านที่ร่วมรายการ มีแอปพลิเคชันถุงเงิน แต่ไม่สามารถกดเงินสดได้ ซึ่งเรื่องนี้ สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ชี้แจงว่าการที่โครงการเราชนะ ไม่ได้ให้เป็นเงินสด เพราะไม่อยากให้คนสัมผัสตัวเงิน อาจจะทำให้เกิดการแพร่ของโควิด-19 ได้ รวมถึงจะไม่สามารถกำกับการหมุนเวียนของเงินได้ แต่การไม่ให้เป็นเงินสดจะสามารถควบคุมการใช้จ่ายได้ เช่น ไม่สามารถนำไปซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือนำไปเล่นการพนัน รวมถึงไม่สามารถใช้กับร้านค้าขนาดใหญ่

 

ส่วนกลุ่มผู้ที่ไม่มีสมาร์ทโฟน สุพัฒนพงษ์ระบุว่ากลุ่มที่ไม่มีสมาร์ทโฟนส่วนใหญ่ จะอยู่ในกลุ่มผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 13.8 ล้านคน ซึ่งไม่ต้องลงทะเบียนเราชนะ แต่จะได้รับเงินโอนเข้าบัตรโดยตรง

 

ส่วนผู้ที่ไม่ได้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐหรือไม่มีสมาร์ทโฟน ได้ประสานงานกับธนาคารของรัฐที่มีสาขาครอบคลุมทั่วประเทศเพื่อให้ช่วยอำนวยความสะดวกกลุ่มคนดังกล่าวให้สามารถลงทะเบียนได้ โดยทางธนาคารต่างๆ ยืนยันว่าสามารถทำได้

 

ขณะที่ความเห็นของประชาชนบางส่วนที่สะท้อนถึงมาตรการเยียวยาเราชนะว่าต้องการเงินสดมากกว่า เพื่อที่จะนำไปใช้จ่ายสำหรับค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่ไม่สามารถจ่ายผ่านแอปพลิเคชันได้ เช่น ค่าเทอมลูก ค่าเช่าบ้าน หรือหนี้สินอื่นๆ 

 

โควิด-19 ระลอกใหม่

ประชาชนจำนวนมากเดินทางมายื่นอุทธรณ์เพราะไม่ได้รับเงินเยียวยา
หลังกระทรวงการคลังจัดสถานที่อุทธรณ์ที่กรมประชาสัมพันธ์

 

โครงการเราชนะครั้งนี้ใช้งบประมาณทั้งหมดราวๆ 2.1 แสนล้านบาท ครอบคลุมประชาชนผู้ได้รับสิทธิ์ประมาณ 31.1 ล้านราย ใช้งบประมาณจาก พ.ร.ก. กู้เงินฯ ซึ่งต้องติดตามกันต่อไปว่าเมื่อเริ่มดำเนินการแล้ว โครงการเราชนะจะราบรื่นมากน้อยเพียงใด เพราะหากยังจำกันได้ โครงการเราไม่ทิ้งกันที่พบปัญหาทั้งการโอนเงิน การลงทะเบียน การตรวจสอบคุณสมบัติ และการอุทธรณ์ นำมาซึ่งการที่ประชาชนไปประท้วงหน้ากระทรวงการคลังจนต้องมีการเปิดเต็นท์รับเรื่องราวอุทธรณ์ที่บริเวณกรมประชาสัมพันธ์มาแล้ว

 

‘วัคซีน’ ความหวังในการพ้นวิกฤตโควิด-19 

โควิด-19 เป็นโรคระบาดที่ขณะนี้ความหวังและทางออกเดียวคือวัคซีนที่จะทำให้ประชาชนมีภูมิคุ้มกันและสามารถหยุดยั้งการแพร่ระบาดได้ ซึ่งขณะนี้ในหลายประเทศเริ่มมีการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนในวงกว้างแล้ว

 

โควิด-19 ระลอกใหม่

 

สำหรับประเทศไทยนั้น แผนในการจัดการวัคซีนคือจะมีการฉีดวัคซันทั้งหมด 28 ล้านโดส โดยแบ่งเป็นวัคซีนของ Sinovac จำนวน 2 ล้านโดส ซึ่งจะมาถึงในเดือนกุมภาพันธ์ จำนวน 2 แสนโดส เดือนมีนาคม จำนวน 8 แสนโดส และเดือนเมษายนอีก 1 ล้านโดส ส่วนเดือนพฤษภาคมเป็นต้นไปจะเป็นวัคซีนของ AstraZeneca ที่ถ่ายทอดเทคโนโลยีให้ไทยผลิตเองจำนวน 26 ล้านโดส 

 

ส่วนลำดับในการฉีดวัคซีน กลุ่มแรกคือกลุ่มเสี่ยงอย่างแพทย์ พยาบาล ตามมาด้วยกลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มผู้มีโรคประจำตัว กลุ่มผู้อยู่อาศัยในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด และสุดท้ายคือกลุ่มคนทั่วไป

 

สำหรับแผนดีลวัคซีนนั้น ต้องยอมรับว่าขณะนี้ตลาดเป็นของผู้ขาย ซึ่งไม่ได้หมายความว่าเรามีเงินแล้วจะกำเงินไปซื้อมาฉีดให้ประชาชนได้เลย เนื่องจากข้อจำกัดด้านกำลังการผลิต และทุกประเทศก็ย่อมต้องการวัคซีน ทำให้ผู้ผลิตสามารถเลือกขายให้กับประเทศที่ผู้ผลิตได้ประโยชน์ร่วมได้ 

 

โดยประเทศไทยนั้นมีการเจรจากับบริษัท AstraZeneca ในการถ่ายทอดเทคโนโลยีการให้บริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ผลิต เพื่อที่จะทำให้ประเทศไทยได้รับวัคซีนตามจำนวนที่ต้องการ และบริษัทเจ้าของวัคซีนก็ได้ฐานกำลังการผลิตป้อนวัคซีนในตลาดอาเซียน

 

โควิด-19 ระลอกใหม่

ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า
ขณะกำลังแถลงข่าวเรียกร้องให้รัฐบาลเปิดเอกสารดีลวัคซีน
ระหว่าง AstraZeneca กับบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์

 

แต่แล้วเรื่องวัคซีนก็กลายมาเป็นประเด็นร้อนทางการเมือง เมื่อ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ออกมาตั้งข้อสังเกตถึงดีลวัคซีนโควิด-19 ระหว่างรัฐบาล บริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ และ AstraZeneca โดยเรียกร้องให้รัฐบาลเปิดเอกสารสัญญาการดีลครั้งนี้ จนนำมาซึ่งการฟ้องร้องจากกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม มีเพียงกระทรวงสาธารณสุขที่ออกมาชี้แจงข้อมูล แต่บริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ยังไม่มีการชี้แจงแต่อย่างใด

 

นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ข้อมูลวัคซีนโควิด-19 เบื้องต้นว่า ประสิทธิผลของวัคซีนนั้นไม่ได้มีผลในแง่ของการป้องกันการแพร่ระบาด แต่มีผลในส่วนของการลดอาการ ลดการสูญเสีย 

 

ส่วนเรื่องความปลอดภัยนั้น นพ.ยง ระบุว่าต้องแยกก่อนว่ามีอาการไม่พึงประสงค์และอาการข้างเคียงของวัคซีน อาการข้างเคียงคือผลที่เกิดขึ้นจากวัคซีนจริง แต่อาการไม่พึงประสงค์อาจเกิดจากตัววัคซีนหรือไม่ก็ได้ ต้องมีคณะกรรมการด้านความปลอดภัยพิจารณาเพื่อพิสูจน์ว่าอาการไม่พึงประสงค์ที่เกิดขึ้นเกี่ยวข้องกับการได้รับวัคซีนหรือไม่ ถ้าเกี่ยวข้องจะเป็นอาการข้างเคียง เช่นเดียวกับที่มีข่าวการเสียชีวิตหลังการฉีดวัคซีนที่ประเทศนอร์เวย์ เป็นอาการไม่พึงประสงค์หลังได้รับวัคซีน จึงต้องมีการพิสูจน์ก่อนว่าเกี่ยวข้องกับวัคซีนหรือไม่ 

 

โควิด-19 ระลอกใหม่

แม่ค้าร้านก๋วยเตี๋ยวย่านประดิพัทธ์กำลังเก็บกวาดร้าน ก่อนเวลา 21.00 น.
ถึงแม้ว่าจะสามารถขายต่อได้ แต่ไม่สามารถนั่งต่อที่ร้าน จึงไม่คุ้มทุนที่จะขายต่อ

 

แน่นอนว่าวัคซีนคือความหวังที่ไม่มีใครปฏิเสธได้ แต่ขณะนี้เรากำลังอยู่ภายใต้การระบาดระลอกใหม่ที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อยังไม่มีแนวโน้มจะลดลง ปัญหาเศรษฐกิจที่ผู้ประกอบการ ร้านค้า ลูกจ้าง และทุกภาคส่วนได้รับผลกระทบต่างก็บอบช้ำมากว่า 1 ปี บางรายยังพอกลั้นหายใจสู้ต่อได้ แต่บางรายไปต่อไม่ได้จริงๆ ก็ต้องจำยอมปิดฉากไป ดังนั้นแล้วทุกวินาทีที่กำลังเคลื่อนไปข้างหน้าย่อมมีความหมายสำหรับผู้คนเสมอ

 

นอกจากนี้ยังมีปมปัญหาวัคซีนที่ตอนนี้แม้จะมีความชัดเจนในตัวแผน แต่เมื่อถูกตั้งคำถามถึงดีลก็ยังคงต้องติดตามต่อไป รวมถึงปมปัญหาการเมืองที่แม้จะดูเงียบไปหลังโควิด-19 ระบาดระลอกใหม่ แต่ยังไม่มีบทสรุป

 

เหนือสิ่งอื่นใด เวลานี้เราคงต้องภาวนาขอให้มวลมนุษยชาติที่ต่างประสบกับวิกฤตโควิด-19 มานานกว่า 1 ปีผ่านพ้นสถานการณ์นี้และพลิกฟื้นกลับสู่สถานการณ์ปกติ กลับสู่ชีวิตที่เราอาจลืมไปแล้วว่าเราเคยไปไหนมาไหนโดยไม่ต้องสวมหน้ากากอนามัย

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X