×

วัคซีนโควิด-19 ของออกซ์ฟอร์ดและ AstraZeneca ได้รับอนุมัติใช้งานในสหราชอาณาจักรเป็นชาติแรกในโลก สื่อชี้เป็นความหวังประเทศกำลังพัฒนา

30.12.2020
  • LOADING...
วัคซีนโควิด-19 ของออกซ์ฟอร์ดและ AstraZeneca ได้รับอนุมัติใช้งานในสหราชอาณาจักรเป็นชาติแรกในโลก สื่อชี้เป็นความหวังประเทศกำลังพัฒนา

วันนี้ (30 ธันวาคม) รัฐบาลสหราชอาณาจักรได้อนุมัติการใช้งานวัคซีนโควิด-19 ที่พัฒนาและผลิตโดยมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดและบริษัท AstraZeneca ในสหราชอาณาจักรแล้ว โดยระบุว่า เป็นไปตามคำแนะนำของสำนักงานกำกับดูแลยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพของสหราชอาณาจักร (MHRA) ซึ่งได้ทดสอบทางคลินิกอย่างเข้มงวดและวิเคราะห์ข้อมูลโดยผู้เชี่ยวชาญ และมีผลสรุปว่า วัคซีนดังกล่าวได้มาตรฐานด้านความปลอดภัย คุณภาพ และความมีประสิทธิภาพตามที่กำหนด นับเป็นวัคซีนตัวที่ 2 ที่ได้รับอนุมัติให้ใช้งานในสหราชอาณาจักรต่อจากวัคซีนของ Pfizer/BioNTech

 

แมตต์ แฮนค็อก รัฐมนตรีสาธารณสุขสหราชอาณาจักร ระบุว่า วัคซีนจะเริ่มแจกจ่ายได้ในวันที่ 4 มกราคม 2021 และจะเร่งแจกจ่ายวัคซีนใน 2-3 สัปดาห์แรกของปี 2021 ส่วนแถลงการณ์จากรัฐบาลสหราชอาณาจักรระบุว่า คณะกรรมการร่วมด้านการให้วัคซีนและการสร้างภูมิคุ้มกัน (JCVI) ได้แนะนำให้เร่งฉีดวัคซีนโดสแรกให้กับผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงให้มากที่สุดก่อน แทนที่จะใช้วิธีเร่งฉีดให้ครบทั้งสองโดสต่อคนในระยะเวลาอันสั้น 

 

อย่างไรก็ตาม ผู้ได้รับวัคซีนทุกรายจะได้รับวัคซีนโดสที่ 2 หลังจากการรับวัคซีนโดสแรกไม่เกิน 12 สัปดาห์ แถลงการณ์ยังระบุว่า ระบบสาธารณสุขแห่งชาติของสหราชอาณาจักร (NHS) จะเริ่มเตรียมการอย่างรอบด้านในการแจกจ่ายวัคซีนดังกล่าว

 

สำนักข่าว BBC ระบุว่า นี่เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในการขยายขอบเขตการให้วัคซีนเพื่อให้ชีวิตของชาวสหราชอาณาจักรกลับไปสู่ภาวะปกติ และชี้ว่า วัคซีนของออกซ์ฟอร์ดและ AstraZeneca จะทำให้เกิดการให้วัคซีนเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากวัคซีนตัวนี้มีราคาถูกและสามารถผลิตในปริมาณมากได้ง่าย รวมถึงยังสามารถเก็บได้ในตู้เย็นมาตรฐาน ต่างจากวัคซีนของ Pfizer/BioNTech ที่ต้องเก็บภายใต้อุณหภูมิถึง -70 องศาเซลเซียส ส่วนสำนักข่าว CNN ก็ชี้ว่า การที่วัคซีนออกซ์ฟอร์ดและ AstraZeneca สามารถเก็บได้ในตู้เย็นมาตรฐานที่อุณหภูมิ 2-8 องศาเซลเซียสเป็นเวลาอย่างต่ำ 6 เดือนนี้เอง ที่จะทำให้ง่ายต่อการขนส่งและกระจายวัคซีนในประเทศกำลังพัฒนา

 

อย่างไรก็ตาม การอนุมัติให้ใช้วัคซีนดังกล่าวเป็นการอนุมัติวัคซีนแบบ ‘สองโดสเต็ม’ ซึ่งก่อนหน้านี้มีข้อมูลว่า ในกลุ่มผู้ที่ได้รับวัคซีนสองโดสเต็มในเวลาห่างกันอย่างน้อย 1 เดือน วัคซีนจะมีประสิทธิภาพราว 62% ส่วนในกลุ่มผู้ที่ได้รับวัคซีนครึ่งโดสก่อน แล้วตามด้วยวัคซีนอีกหนึ่งโดสเต็มในเวลาห่างกันอย่างน้อย 1 เดือนนั้น วัคซีนจะมีประสิทธิภาพที่ระดับ 90% ทำให้ประสิทธิภาพโดยรวมของวัคซีนอยู่ที่ 70% ทว่า สำนักข่าว BBC ระบุว่า มีข้อมูลไม่เพียงพอที่จะอนุมัติการใช้วัคซีนแบบครึ่งโดสแล้วตามด้วยอีกหนึ่งโดสเต็มดังกล่าว นอกจากนี้ข้อมูลจาก BBC ยังชี้ว่า การเว้นระยะห่างระหว่างการฉีดวัคซีนโดสแรกและโดสที่สองจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพโดยรวมของวัคซีนได้

 

วัคซีนทุกชนิดในขณะนี้ยังถูกคาดหวังว่าจะใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพกับเชื้อไวรัสก่อโรคโควิด-19 ที่กลายพันธุ์ใหม่ด้วย

 

วัคซีนออกซ์ฟอร์ดและ AstraZeneca เกิดจากการนำไวรัสที่ทำให้เกิดไข้หวัดทั่วไปในลิงชิมแปนซีมาดัดแปลงพันธุกรรมเพื่อให้ไม่สามารถขยายตัวในมนุษย์ และมีพิมพ์เขียวของส่วนหนามโปรตีน (สไปก์) จากเชื้อไวรัส ซึ่งเมื่อเข้าไปในร่างกายมนุษย์แล้วจะมีการสร้างหนามโปรตีนนี้เพื่อกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันให้สร้างแอนติบอดี และให้ที-เซลล์ ซึ่งเป็นเซลล์ภูมิต้านทานมาทำลายเซลล์ที่ติดเชื้อ ซึ่งหากในอนาคตระบบภูมิคุ้มกันเจอกับไวรัสก่อโรคโควิด-19 เข้าจริงๆ ก็จะสามารถจัดการกับเชื้อไวรัสได้ทันที

 

ข้อมูลจากรัฐบาลสหราชอาณาจักรก่อนหน้านี้ระบุว่า สหราชอาณาจักรได้สั่งจองวัคซีนจากผู้ผลิตไว้ทั้งสิ้น 7 ราย รวมกว่า 357 ล้านโดส อาทิ วัคซีนของออกซ์ฟอร์ดและ AstraZeneca ที่สั่งจองไว้ 100 ล้านโดส และเพิ่งได้รับอนุมัติ ซึ่งสามารถฉีดให้ประชาชนได้ราว 50 ล้านคน ส่วนวัคซีนของ Pfizer ที่ได้รับอนุมัติไปก่อนหน้านี้มีการสั่งจองไว้ 40 ล้านโดส นอกจากนี้ยังมีวัคซีนจากผู้ผลิตรายอื่นๆ ได้แก่ Moderna, Novavax, Valneva, GSK/Sanofi และ Janssen ที่อยู่ระหว่างการทดสอบในระยะที่แตกต่างกันไป จนถึงขณะนี้มีผู้ได้รับการฉีดวัคซีนในสหราชอาณาจักรไปแล้วกว่า 6 แสนราย

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X