หลังมีการประกาศพบผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) รายแรกในสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 22 มกราคม ตัวเลขผู้ติดเชื้อในสหรัฐฯ ก็เพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ แต่หลังจากนั้นเพียง 2 เดือน ตัวเลขกลับพุ่งสูงต่อเนื่อง จนเรียกได้ว่าเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด
วันที่ 1 มีนาคม ตัวเลขผู้ติดเชื้อในสหรัฐฯ นั้นอยู่ที่ 76 คน แต่ผ่านมาไม่ถึง 2 สัปดาห์ ในวันที่ 13 มีนาคม ตัวเลขเพิ่มขึ้นสูงแตะระดับ 2,000 คน
อัตราการติดเชื้อที่พุ่งสูงแบบก้าวกระโดดนี้ทำให้ผู้เชี่ยวชาญต่างกังวล โดยมีการตั้งสมมติฐานว่า หากจำนวนผู้ติดเชื้อยังเพิ่มขึ้น 2 เท่าในทุกๆ 3 วัน เราอาจจะได้เห็นจำนวนผู้ติดเชื้อในสหรัฐฯ ราว 100 ล้านคน ภายในเดือนพฤษภาคมนี้
ทั้งนี้ผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขชี้ว่า การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 นี้อาจจะชะลอได้ หากประชาชนฝึกฝนการเว้นระยะห่างทางสังคม หรือที่เรียกว่า Social Distancing ด้วยการหลีกเลี่ยงพื้นที่สาธารณะและจำกัดการเคลื่อนไหวของตนเอง เช่น ลดการเดินทางไปยังสถานที่ต่างๆ
แต่สำหรับกรณีที่ไม่มีมาตรการใดๆ มาช่วยชะลอการระบาด โรคโควิด-19 ก็จะแพร่ระบาดต่อเนื่องแบบก้าวกระโดดในเวลาเพียงไม่กี่เดือนตามที่กล่าวข้างต้น
ข้อมูลน่าสนใจจากหนังสือพิมพ์ Washington Post ของสหรัฐฯ ที่จำลองโมเดลการแพร่ระบาดของโรคชนิดหนึ่ง โดยให้ชื่อว่า ซิมูลิติส (Simulitis) ซึ่งตั้งสมมติฐานว่าเป็นโรคที่ระบาดได้ง่ายกว่าโควิด-19 และเมื่อใดก็ตามที่บุคคลที่มีสุขภาพแข็งแรงมีการติดต่อกับผู้ป่วยที่ติดเชื้อซิมูลิติส ผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรงนั้นก็จะติดเชื้อไปด้วย ส่วนผู้ติดเชื้อที่หายดีจะไม่กลับมาติดเชื้ออีก
จากการจำลองสถานการณ์ในเมืองที่มีจำนวนประชากรเพียง 5 คน พบว่าใช้เวลาไม่นานกว่าที่ทั้ง 5 คนจะติดเชื้อ แต่ในกรณีที่เมืองนั้นมีประชากร 200 คน และเริ่มมีผู้ติดเชื้อ 1 คน พบว่าการแพร่ระบาดจะค่อยๆ เพิ่มสูงขึ้น และเพิ่มอย่างรวดเร็วแบบก้าวกระโดดในจุดหนึ่ง ก่อนที่จะค่อยๆ ลดลง เนื่องจากผู้ติดเชื้อหลายคนเริ่มหายดี จนในที่สุดจำนวนผู้ติดเชื้อก็ลดลงจนเป็น 0
โมเดลจำลองสถานการณ์นี้อ้างอิงได้กับเมืองเล็กๆ อย่างเมืองวิททิเออร์ ในรัฐอลาสก้าของสหรัฐฯ ซึ่งหากโรคซิมูลิติสมีอยู่จริง ก็จะสามารถแพร่ระบาดจนทำให้ประชากรทั่วเมืองติดเชื้อทั้งหมดได้อย่างรวดเร็ว และหากเกิดการระบาดในประเทศอย่างสหรัฐฯ ที่มีประชากรกว่า 330 ล้านคน อัตราการระบาดที่พุ่งสูงแบบไต่เขานี้ อาจต้องใช้เวลายาวนานกว่าจะถึงยอด ก่อนจะเริ่มลดลง ซึ่งในกรณีของโรคโควิด-19 ผู้เชี่ยวชาญมองว่าควรชะลอการแพร่ระบาดก่อนที่ประชากรส่วนมากจะติดเชื้อ
นอกจากนี้ยังมีการจำลองสถานการณ์ กรณีที่ใช้มาตรการบังคับกักตัวผู้ติดเชื้อซิมูลิติสภายในที่พัก เช่นเดียวกับที่ใช้ในมณฑลหูเป่ยหรือเมืองอู่ฮั่น พบว่าผลลัพธ์ที่ได้ก็ไม่สามารถยับยั้งไม่ให้ผู้ป่วยแพร่เชื้อไปยังผู้ที่สุขภาพแข็งแรงได้ แม้ว่าอัตราการติดเชื้อจะไม่เพิ่มสูงแบบก้าวกระโดดภายในเวลาอันรวดเร็วก็ตาม
ลีอานา เหวิน อดีตคณะกรรมาธิการสาธารณสุขในเมืองบัลติมอร์ อธิบายสาเหตุที่มาตรการบังคับกักตัวไม่สามารถทำได้จริง เพราะมีประชาชนจำนวนมากที่ทำงานในเมืองและอาศัยในเมืองข้างเคียง เธอตั้งคำถามว่า เป็นไปได้หรือที่ประชาชนจะยอมถูกแยกจากครอบครัว และการปิดถนนทุกสายจะทำได้อย่างไร และเสบียงอาหารจะจัดส่งแก่ประชาชนอย่างไร
ขณะที่ ลอวเรนซ์ โอ กอสติน ศาสตราจารย์ด้านกฎหมายสาธารณสุข มหาวิทยาลัยจอร์ทาวน์ ชี้ว่า มาตรการล็อกดาวน์หรือปิดเมือง ปิดประเทศนั้น เป็นสิ่งที่ยากมากและไม่เคยมีประสิทธิภาพในการยับยั้งการระบาด
อีกหนึ่งโมเดลที่น่าสนใจคือแนวทางการสนับสนุนให้ประชาชนหันมาฝึก Social Distancing หรือรักษาระยะห่างในการเข้าสังคม พร้อมทั้งจำกัดการเดินทางไปยังสถานที่สาธารณะต่างๆ และอยู่บ้านให้มากขึ้น โดยผลการจำลองสถานการณ์ที่ประชากรราว 1 ใน 4 ยังคงใช้ชีวิตและเดินทางไปไหนมาไหนตามปกติ ส่วนประชากรอีก 3 ส่วนที่เหลือหันมาใช้แนวทาง Social Distancing ปรากฏว่าการระบาดนั้นเกิดขึ้นช้ากว่า และให้ผลที่ดีกว่ามากในการชะลอการระบาด
และหากประชาชน 7 ใน 8 คนใช้แนวทาง Social Distancing ก็จะยิ่งเห็นชัดว่าการแพร่ระบาดนั้นเกิดขึ้นอย่างช้าๆ และเป็นไปในวงจำกัดมากขึ้นด้วย
แต่กระนั้นการใช้มาตรการปิดเมือง เช่น การปิดสถานที่สาธารณะอย่างร้านอาหาร ร้านกาแฟ สถานบันเทิง หรือสถานที่ที่มีประชาชนไปรวมตัวกันจำนวนมาก จะยิ่งส่งผลดีต่อแนวทาง Social Distancing เนื่องจากเป็นการลดสิ่งเร้าและทำให้ประชาชนอยู่ห่างจากพื้นที่สาธารณะมากขึ้น
“เราควบคุมความปรารถนาของประชาชนที่ต้องการไปอยู่ในสถานที่สาธารณะได้ด้วยการปิดสถานที่สาธารณะเหล่านั้นเสีย อิตาลีปิดร้านอาหารทั้งหมด จีนปิดทุกอย่างและตอนนี้สหรัฐฯ ก็กำลังทำเช่นเดียวกัน เพื่อลดโอกาสในการรวมตัวกันของประชาชนและช่วยให้ประชาชนรักษาระยะห่างในการเข้าสังคม” ดริว แฮร์ริส นักวิจัยด้านสุขภาพประชากรของมหาวิทยาลัยโทมัส เจฟเฟอร์สันกล่าว
สำหรับโมเดลจำลองโรคซิมูลิติสนี้ยังเป็นเพียงสมมติฐานเท่านั้น เพราะในความเป็นจริงโรคโควิด-19 นั้นมีการแพร่ระบาดที่ซับซ้อนมากกว่า อีกทั้งยังเป็นอันตรายถึงขั้นทำให้เกิดการเสียชีวิตด้วย
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า
อ้างอิง: