ผลการวิจัยผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ในจีนฉบับใหม่ ค้นพบว่าไวรัสฯ ยังคงฝังแน่นอยู่ในอุจจาระได้นานกว่าในเนื้อเยื่อระบบทางเดินหายใจของผู้ป่วย
คณะนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเจ้อเจียงทำการประเมินปริมาณไวรัสฯ ในตัวอย่างจากระบบทางเดินหายใจ อุจจาระ น้ำเหลือง และปัสสาวะของผู้ป่วยโรคโควิด-19 จำนวน 96 ราย ระหว่างวันที่ 19 มกราคม ถึง 20 มีนาคม 2563
ผู้ป่วยทั้งหมดได้รับการยืนยันผลว่าป่วยเป็นโรคโควิด-19 หลังผ่านการทดสอบตัวอย่างเสมหะและน้ำลาย โดยแบ่งเป็นผู้ป่วยอาการไม่รุนแรง 22 ราย และผู้ป่วยอาการรุนแรงอีก 74 ราย
ผลการวิจัยที่เผยแพร่ผ่านวารสารบริติช เมดิคัล (British Medical) ระบุการตรวจพบไวรัสฯ ในอุจจาระ 55 ราย ในน้ำเหลือง 39 ราย และในปัสสาวะเพียง 1 รายเท่านั้น
ค่ากลางของระยะเวลาที่ไวรัสฯ อยู่ในอุจจาระคือ 22 วัน ซึ่งนานกว่าค่ากลางของระยะเวลาเดียวกันในเนื้อเยื่อระบบทางเดินหายใจ (18 วัน) และในน้ำเหลือง (16 วัน)
ปริมาณไวรัสฯ แตกต่างตามประเภทของตัวอย่าง โดยเนื้อเยื่อระบบทางเดินหายใจมีปริมาณไวรัสฯ สูงสุด ตามด้วยตัวอย่างอุจจาระ ส่วนตัวอย่างน้ำเหลืองมีปริมาณไวรัสฯ ต่ำที่สุด
คณะนักวิจัยยังพบค่ากลางของระยะเวลาที่ไวรัสฯ อยู่ในตัวอย่างจากระบบทางเดินหายใจของผู้ป่วยอาการรุนแรงอยู่ที่ 21 วัน ซึ่งนานกว่าค่ากลางของระยะเวลาเดียวกันในผู้ป่วยอาการไม่รุนแรง (14 วัน)
อย่างไรก็ดี คณะนักวิจัยไม่พบความแตกต่างอันมีนัยสำคัญของปริมาณไวรัสฯ ในตัวอย่างอุจจาระและน้ำเหลือง ที่เก็บจากผู้ป่วยอาการไม่รุนแรงและอาการรุนแรง
ปริมาณไวรัสฯ ในผู้ป่วยอาการไม่รุนแรงแตะจุดสูงสุดในเนื้อเยื่อระบบทางเดินหายใจในสัปดาห์ที่ 2 นับจากตอนเริ่มต้นเจ็บป่วย ขณะที่ปริมาณไวรัสฯ ในผู้ป่วยอาการรุนแรงยังคงอยู่ในระดับสูงระหว่างสัปดาห์ที่ 3 ของการเจ็บป่วย
นอกจากนั้นผู้ป่วยที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป และเป็นเพศชาย จะมีระยะเวลาที่ไวรัสฯ อยู่ในร่างกายนานกว่าอีกด้วย
คณะนักวิจัยบ่งชี้ข้อจำกัดของการวิจัยครั้งนี้ อาทิ ผู้ป่วยกลุ่มสำรวจขนาดเล็ก และคุณภาพของตัวอย่างที่เก็บมาอาจส่งผลกระทบต่อผลการวิจัย
ทั้งนี้ คณะนักวิจัยสรุปว่าการวิจัยครั้งนี้ตอกย้ำความจำเป็นของการกระชับการจัดการตัวอย่างอุจจาระที่มีไวรัสฯ และการจัดการผู้ป่วยอาการรุนแรงระดับต่างๆ อย่างเข้มงวด
อ้างอิง: สำนักข่าวซินหัว
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์