แม้ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิดในประเทศไทยจะเริ่มดีขึ้นบ้าง จากจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่ค่อยๆ ลดลงต่อเนื่องแม้จะเป็นไปอย่างเชื่องช้า แต่สถานการณ์ด้าน ‘การเงิน’ ของบริษัทประกันภัยต่างๆ โดยเฉพาะรายที่ออกกรมธรรม์ประเภท ‘เจอ จ่าย จบ’ ยังไม่ได้ดีขึ้นตามไปด้วย ตรงกันข้าม ดูเหมือนหลายบริษัทเริ่มจะแบกรับค่าใช้จ่ายต่อไปไม่ไหว เพราะปัจจุบันเริ่มมีบางบริษัทที่ออกมาขอให้ลูกค้า ‘เปลี่ยน’ แบบกรมธรรม์ประกันโควิดชนิดดังกล่าวเป็นประกันภัยในรูปแบบอื่นๆ แทน
ข้อมูลจากสมาคมประกันวินาศภัยไทย ระบุว่า ตั้งแต่ต้นปี 2563 จนถึง ณ สิ้นเดือนสิงหาคม 2564 พบว่า มียอดกรมธรรม์สะสมรวมกว่า 40 ล้านฉบับ ในจำนวนนี้เป็นกรมธรรม์ ‘เจอ จ่าย จบ’ ราว 10 ล้านกรมธรรม์ ซึ่งปัจจุบันยังมีผลบังคับอยู่ประมาณ 7 ล้านกรมธรรม์
ในขณะที่ยอดเคลมประกันภัยโควิด ณ สิ้นเดือนตุลาคม 2564 มีสูงกว่า 30,000 ล้านบาทแล้ว และคาดว่าหากจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ในช่วงที่เหลือของปีนี้ยังเฉลี่ยเท่ากับในปัจจุบัน สิ้นปีนี้ยอดเคลมประกันอาจสูงทะลุ 40,000 ล้านบาท แตะระดับ 26-30% ของเงินกองทุนทั้งหมด ซึ่งอาจส่งผลให้บริษัทประกันขาดสภาพคล่องจนถึงขั้นปิดกิจการได้
ปัญหาดังกล่าวเริ่มมีบริษัทประกันบางแห่งได้รับผลกระทบจนต้องปิดกิจการไปบ้างแล้ว โดยเมื่อวันที่ 15 ตุลาคมที่ผ่านมา อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ลงนามคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันภัยของ บมจ.เอเชียประกันภัย 1950 เนื่องจากบริษัทมีปัญหาฐานะการเงิน มีสภาพคล่องไม่เพียงพอต่อการจ่ายสินไหมทดแทน
คำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตการประกอบธุรกิจประกันภัยของเอเชียประกันภัย ทำให้สมาคมประกันวินาศภัยไทยต้องแจ้งเตือนสมาชิกให้พิจารณาฐานะการเงินของตัวเองเพื่อดูความเพียงพอต่อการรองรับสถานการณ์ดังกล่าว รวมทั้งได้ขอให้แต่ละบริษัทประเมินว่า หากระยะข้างหน้าโควิดกลับมาระบาดรุนแรงระลอกใหม่ แต่ละบริษัทจะยังมีเงินทุนรองรับปัญหาเหล่านี้ได้อยู่หรือไม่
ต่อมาเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2564 สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ได้ออกประกาศ ‘มาตรการเสริมสภาพคล่อง’ สำหรับบริษัทประกันภัยที่มีค่าสินไหมทดแทนประกันภัยโควิดในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 พ.ศ. 2564 โดยมาตรการเหล่านี้ คือการลดภาระด้านการดำรงเงินกองทุนของบริษัทประกันในช่วงการแพร่ระบาดโควิดจากส่วนที่ตั้งไว้ ผ่อนผันให้บริษัทถือเงินสดในมือได้มากขึ้น และยังเพิ่มทางเลือกให้บริษัทจัดหาแหล่งเงินทุนอื่นที่บริษัทสามารถเข้าถึงได้รวดเร็วกว่าการเพิ่มทุน
หลังการประกาศมาตรการดังกล่าวพบว่า มี 3 บริษัทที่ขอเข้าร่วมโครงการ คือ
1. บมจ.สินมั่นคงประกันภัย
2. บมจ.ไทยประกันภัย
3. บมจ.เดอะ วัน ประกันภัย
อย่างไรก็ตามดูเหมือนว่า ‘เดอะ วัน ประกันภัย’ จะเริ่มไปต่อไม่ไหวแม้ว่า คปภ. จะมีมาตรการเสริมสภาพคล่องออกมาก็ตาม เพราะล่าสุดเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2564 บริษัทได้ส่ง SMS และจดหมายถึงลูกค้าที่ถือกรมธรรม์ประกันโควิดชนิด ‘เจอ จ่าย จบ’ ขอให้เปลี่ยนแบบกรมธรรม์เป็นชนิดอื่นแทน โดยมีให้เลือก 4 แบบ
เดอะ วัน ประกันภัย แจ้งในจดหมายดังกล่าวว่า เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้เปลี่ยนแปลงจากวันเริ่มคุ้มครองเป็นอย่างมาก โดยผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในปี 2564 เพิ่มขึ้นจากปี 2563 ถึง 300 เท่า หรือ 30,000% บริษัทได้พยายามทําหน้าที่ในฐานะผู้รับประกันภัยอย่างดีที่สุด โดยได้ชดเชยค่าสินไหมอย่างเต็มความสามารถ
แต่ผลจากการจ่ายค่าสินไหมทดแทนไปเป็นจำนวนที่สูงมาก ได้ส่งผลต่อความมั่นคงทางการเงินของบริษัท ทําให้บริษัทไม่สามารถรับความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตได้ และบริษัทจำเป็นต้องเข้าร่วมโครงการตามมาตรการผ่อนปรนตามประกาศ คปภ. เรื่อง มาตรการสำหรับบริษัทประกันภัยที่มีค่าสินไหมทดแทนโควิด-19 เพื่อทำให้บริษัทมีสภาพคล่องเพียงพอ
ด้วยเหตุนี้เพื่อเป็นการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของผู้เอาประกันภัยไม่ให้ได้รับผลกระทบจากสภาพคล่องของบริษัทในกรณีดังกล่าว บริษัทจึงขอให้ท่านในฐานะผู้เอาประกันภัยแสดงเจตนาเกี่ยวกับกรมธรรม์ประกันภัยโควิด-19 ตามแนวทางอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้
- ให้สิทธิ์ท่านสามารถเปลี่ยนกรมธรรม์ประกันภัยโควิด-19 ฉบับใหม่ โดยท่านสามารถบอกเลิกกรมธรรม์ฉบับเดิม ซึ่งบริษัทจะออกกรมธรรม์ประกันโควิด-19 ฉบับใหม่โดยให้ความคุ้มครองเฉพาะกรณีเจ็บป่วยขั้นสุดท้าย (ภาวะโคม่า) ด้วยทุนประกันภัย 5 เท่าของวงเงินจำกัดความรับผิดในส่วนของข้อตกลงคุ้มครองผลประโยชน์การเจ็บป่วยด้วยภาวะที่มีสาเหตุมาจากการติดเชื้อโควิด-19 (เจอ จ่าย จบ) โดยท่านไม่ต้องชำระเบี้ยประกันภัยเพิ่มเติม
- ให้สิทธิ์ท่านสามารถเปลี่ยนเป็นกรมธรรม์ประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคลฉบับใหม่ โดยท่านสามารถบอกเลิกกรมธรรม์ฉบับเดิม ซึ่งบริษัทจะออกกรมธรรม์ประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคลฉบับใหม่ โดยจะให้ความคุ้มครองด้วยทุนประกันภัย 10 เท่า ของวงเงินจำกัดความรับผิดในส่วนของข้อตกลงคุ้มครองผลประโยชน์การเจ็บป่วยด้วยภาวะที่มีสาเหตุมาจากการติดเชื้อโควิด-19 (เจอ จ่าย จบ) โดยท่านไม่ต้องชำระเบี้ยประกันภัยเพิ่มเติม
- หากท่านไม่ประสงค์ใช้สิทธิ์ตามข้อ 1 หรือข้อ 2 ท่านสามารถบอกเลิกกรมธรรม์ ซึ่งบริษัทยินดีคืนเบี้ยประกันภัยให้ท่านเต็มจำนวน 100% โดยไม่หักระยะเวลาความคุ้มครองที่ผ่านมา
- ให้สิทธิ์ท่านสามารถนำเบี้ยประกันภัยที่ได้รับคืนตามข้อ 3 มาซื้อกรมธรรม์ประกันภัยอื่นของบริษัท โดยบริษัทยินดีให้ส่วนลดเป็นจำนวนเงินสองเท่าของเบี้ยประกันภัยที่ได้รับคืน
ท่านสามารถแจ้งความประสงค์เลือกใช้สิทธิ์ตามข้อ 1-4 ได้ตามขั้นตอนท้ายจดหมายนี้ หรือแจ้งต่อเจ้าหน้าที่/ตัวแทน/นายหน้าของบริษัทฯ ภายใน 7 วันนับแต่ได้รับหนังสือฉบับนี้
เดอะ วัน ประกันภัย ไม่ใช่บริษัทแรกที่เผชิญปัญหาเหล่านี้ ซึ่งก่อนหน้านี้ สินมั่นคงประกันภัย ก็เคยขอใช้สิทธิบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยในแบบประกันโควิด ‘เจอ จ่าย จบ’ มาแล้ว แต่ คปภ. ไม่อนุมัติ โดยมีคำสั่งห้าม สินมั่นคงฯ บอกยกเลิกแบบประกันภัยชนิดดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม ปัญหาจากยอดเคลมประกันที่พุ่งสูงขึ้นจนทะลุหลัก 3 หมื่นล้านบาท และทำให้บริษัทประกันภัยหลายแห่งเริ่มจะไปต่อไม่ไหว ส่งผลให้ คปภ. ต้องเรียกประชุมทุกฝ่ายเพื่อหาทางออกในเรื่องเหล่านี้ร่วมกันในวันที่ 15 พฤศจิกายน 2564
แต่ผลการประชุมที่ออกมาล่าสุด คปภ. ยังคงยืนยันไม่ให้บริษัทประกันที่ขายกรมธรรม์ ‘เจอ จ่าย จบ’ ยกเลิกแบบประกันดังกล่าว แต่อย่างน้อยได้เปิดทางให้บริษัทประกันสามารถขายกรมธรรม์ชนิดอื่นทดแทนได้หากผู้เอาประกันยินยอม
โดย สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการ คปภ. ระบุว่า ผลการหารือในเบื้องต้นเห็นชอบแนวทางแก้ปัญหาร่วมกัน คือให้บริษัทประกันเสนอขายประกันโควิดชนิดใหม่ทดแทนประกันแบบ ‘เจอ จ่าย จบ’ ได้ แต่ต้องได้รับการยินยอมจากผู้ทำประกันเท่านั้น ไม่สามารถบังคับให้เปลี่ยนแบบประกันได้ หากผู้เอาประกันถูกบังคับโดยไม่สมัครใจ สามารถร้องเรียนมายัง คปภ. ให้ดำเนินการตรวจสอบได้
ทั้งนี้ คปภ. ได้ยืนยันกับทางสมาคมประกันวินาศภัย จะไม่ยกเลิกคำสั่ง คปภ. ที่ออกมาก่อนหน้านี้ซึ่งห้ามไม่ให้บริษัทประกันยกเลิกประกับโควิดแบบ ‘เจอ จ่าย จบ’ ตามที่สมาคมประกันวินาศภัยขอมา เพราะเห็นว่าการยกเลิกคำสั่งจะกระทบกับผู้ทำประกันและธุรกิจประกันโดยรวมทั้งหมด
ทีมข่าว THE STANDARD WEALTH ได้สำรวจผลดำเนินงานของบริษัทประกันที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย พบว่า ในช่วงไตรมาส 3 ปี 2564 หลายบริษัทมีผลดำเนินงานพลิกกลับมาขาดทุนจากที่เคยมีกำไรมาตลอด หรือบางบริษัทมีกำไรลดลงอย่างมีนัยสำคัญ จากการออกเสนอขายกรมธรรม์โควิดชนิด ‘เจอ จ่าย จบ’
โดย บมจ.สินมั่นคงประกันภัย มีผลขาดทุนสุทธิในไตรมาส 3 ปี 2564 รวม 3,662 ล้านบาท เป็นการขาดทุนเพิ่มขึ้นถึง 2,386% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 160 ล้านบาท สาเหตุหลักจากค่าสินไหมทดแทนในแบบประกันโควิดที่สูงถึง 6,002 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลจากจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด
บมจ.เครือไทย โฮลดิ้งส์ มีผลขาดทุนสุทธิในไตรมาส 3 ปี 2564 รวมกว่า 662 ล้านบาท ขาดทุนเพิ่มขึ้น 837% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 89.9 ล้านบาท สาเหตุหลักจากค่าสินไหมทดแทนที่เพิ่มขึ้น 8,150 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นค่าสินไหมทดแทนของการประกันโควิด
บมจ.ไทยรับประกันภัยต่อ มีผลขาดทุนสุทธิในไตรมาส 3 รวม 331 ล้านบาท ขาดทุนเพิ่มขึ้น 545% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 74.3 ล้านบาท สาเหตุจากการตั้งสำรองที่เพิ่มขึ้นสำหรับเบี้ยประกันภัยประเภท เจอ จ่าย จบ และค่าสินไหมทดแทนในส่วนของประกันสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับการรักษาพยาบาลจากโควิด
บมจ.ไทยรีประกันชีวิต มีกำไรสุทธิไตรมาส 3 ราว 20.8 ล้านบาท ลดลง 44.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 37.7 ล้านบาท ส่วนหนึ่งเกิดจากค่าสินไหมและการตั้งสำรองจากสถานการณ์โควิดที่เพิ่มขึ้น
บมจ.ทิพย กรุ๊ป ระบุว่า บริษัทมีกำไรจากการรับประกันภัย 577 ล้านบาท ลดลง 409 ล้านบาท หรือ 41.46% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน โดยเป็นผลจากการเพิ่มขึ้นขอค่าสินไหมทดแทนกรมธรรม์ประกันโควิด หากไม่รวมผลกระทบจากกรมธรรม์ดังกล่าวจะทำให้กำไรจากการรับประกันของบริษัทเพิ่มขึ้น 28.88% อย่างไรก็ตาม ทิพย กรุ๊ป ยืนยันว่า บริษัทสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ เนื่องจากกรมธรรม์ที่ขายอยู่คุ้มครองเฉพาะการเจ็บป่วยด้วยภาวะโคม่าจากโรคโควิด ซึ่งบริษัทไม่เคยจำหน่ายกรมธรรม์ประเภท ‘เจอ จ่าย จบ’
มาถึงจุดนี้ต้องบอกว่า สถานการณ์โควิดในปัจจุบันแม้จะดูดีขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา แต่ยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่ยังทรงตัวในระดับ 6 พันรายต่อวัน ยังคงเป็นโจทย์ที่ท้าทายบริษัทประกัน โดยเฉพาะรายที่เสนอขายกรมธรรม์ เจอ จ่าย จบ ซึ่งดูเหมือน คปภ. เองก็ไม่ยอมที่จะให้ยกเลิกแบบประกันดังกล่าวง่ายๆ เพราะเกรงว่าจะส่งผลต่อความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่ออุตสาหกรรมประกันในประเทศไทยได้