×

กูรูชี้ประกันโควิดมีจุดบอด เสี่ยงทำบริษัทขาดทุน แต่เชื่อภาพรวมบริษัทประกันไทยยังแกร่งรับมือได้

16.07.2021
  • LOADING...
ประกันโควิด

พิเชฐ เจียรมณีทวีสิน กรรมการผู้จัดการ บริษัท แอคชัวเรียล บิสซิเนส โซลูชั่น และ อดีตนายกสมาคมนักคณิตศาสตร์ประกันภัย 3 สมัย วิเคราะห์ให้ THE STANDARD WEALTH ฟังถึงกรณีการแจ้งบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยการติดเชื้อโควิดแบบ ‘เจอ จ่าย จบ’ ของบริษัทประกันแห่งหนึ่งว่า น่าจะเกิดจากการมองเห็นโอกาสขาดทุนหรือความเสี่ยงที่ปิดไม่หมด เนื่องจากโดยทั่วไปบริษัทประกันภัยจะใช้หลักสถิติในอดีตเป็นเครื่องมือสำหรับคาดการณ์อนาคต เพื่อประกอบการตัดสินใจในการออกประกัน

 

อย่างไรก็ดี ในกรณีของการออกแบบประกันโควิดนั้นไม่สามารถใช้หลักสถิติเพียงอย่างเดียวมาจับได้ เนื่องจากการแพร่ระบาดของเชื้อโควิดนั้นเป็นเหตุการณ์ที่สามารถเปลี่ยนไปได้เรื่อยๆ ตามสถานการณ์ ถึงแม้ว่าจะใช้สมการคณิตศาสตร์ที่ซับซ้อนมากเพียงใด แต่ด้วยข้อมูลที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ทำให้การประเมินอนาคตนั้นทำได้เพียงแค่การประเมินแบบคร่าวๆ เท่านั้น ซึ่งจุดนี้อาจทำให้ผู้ที่กำหนดนโยบายหรือผู้ที่ต้องประเมินความเสี่ยงนั้นติดกับดักทางสถิติและเกิดการตัดสินใจที่ผิดพลาดได้ง่าย

 

พิเชษฐ มองว่า สถานการณ์โควิดมีจุดบอดที่อาจทำให้บริษัทประกันเสี่ยงขาดทุนอยู่หลายจุด อาทิ ต้นทุนการเคลมของแบบประกันตัวนี้ ผูกติดกับประสิทธิภาพการจัดการของรัฐบาล ในระยะเวลา 12 เดือนข้างหน้าที่ประกันโควิดยังคุ้มครองอยู่ ซึ่งมีโอกาสพลิกผันสูง จำนวนผู้ติดเชื้ออาจจะลดลงเหลือแค่ไม่เกิน 2 หมื่นคน หรืออาจจะพุ่งสูงขึ้นเป็น 10 ล้านคนก็ได้ ถ้าทั้งภาครัฐและภาคเอกชนไม่สามารถจัดการควบคุมการติดต่อของโรคระบาดกันได้ดีพอ

 

จุดที่สองคือวิวัฒนาการของไวรัส ซึ่งจากสถิติที่อ้างอิงประวัติศาสตร์ในทุก 100 ปี จะมีการแพร่ระบาดใหญ่ของไวรัส 1 ครั้ง และไวรัสจะมีการวิวัฒนาการและแบ่งออกเป็นระลอกคลื่นคือ คลื่นลูกที่หนึ่ง สามารถติดต่อกันง่ายดาย คนที่ติดในระลอกแรกนั้นอัตราการตายจะไม่สูง แต่พอเปลี่ยนเป็นคลื่นลูกที่สองและสาม ความรุนแรงเพิ่มพูนขึ้นกลายพันธุ์ไปติดเด็กได้ง่ายขึ้น จนสามารถทำให้คนตายเป็นจำนวนมาก 

 

จุดต่อมาคือจำนวนเตียงและบุคลากรการแพทย์ หากเข้าสู่ภาวะไม่เพียงพอเมื่อใด คนที่ติดเชื้อโควิดจะไม่สามารถเข้าถึงโรงพยาบาลได้ ทำให้อัตราการตายจากคนติดเชื้อจะสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดดทันที และกลับไปทวีคูณให้โอกาสไปแพร่เชื้อกับคนอื่นมีมากยิ่งขึ้นไปอีก

 

อีกจุดหนึ่งซึ่งเป็นเรื่องในอนาคตคือ หากมีการคิดค้นยาที่รักษาโควิดเกิดขึ้นสำเร็จ ไวรัสชนิดนี้จึงเป็นเพียงแค่ไข้หวัดใหญ่ธรรมดา ไม่มีใครกลัวโควิดอีกต่อไป ถึงจุดนั้นกลุ่มคนที่ซื้อประกันชนิดที่คุ้มครองแบบที่เจอปุ๊บจ่ายปั๊บจะไม่ระวังตัวอีกต่อไป ซึ่งบริษัทประกันอาจลืมคิดถึงการ Over Insure ของลูกค้าไปตั้งแต่ตอนพิจารณารับประกันภัย และมองว่าถึงอย่างไรลูกค้าก็คงจะระวังตัวเองไม่ให้ติดเชื้ออยู่แล้ว สรุปว่าถ้าลูกค้าทำหลายๆ กรมธรรม์พร้อมกัน ประกอบกับความรุนแรงของโควิดมันหายไปเมื่อไร มันจะเป็นเหตุการณ์ที่บริษัทประกันจะขาดทุนมากมาย

 

อย่างไรก็ตาม พิเชฐยังเชื่อว่าในภาพรวมระบบประกันภัยไทยยังสามารถรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิดได้ เนื่องจากแต่ละบริษัทมีสำรองกรมธรรม์ประกันภัยตามหลักคณิตศาสตร์ประกันภัยรับรองไว้อยู่ และยังมีเงินกองทุนดำรงขั้นต่ำตามที่ คปภ. กำหนด และปราการขั้นสุดท้ายคือ มีกองทุนคุ้มครองผู้บริโภคในกรณีที่บริษัทประกันล้มละลายไป

 

“ผมอยากจะย้ำให้ความมั่นใจกับผู้บริโภคในมุมวิชาการว่า ให้มั่นใจบริษัทประกันได้ เพราะประกันนั้นคือการขายความเชื่อมั่นอยู่แล้ว และโดยทั่วไปบริษัทประกันจะมีการกระจายความเสี่ยงให้กับบริษัทรับประกันภัยต่อในกรณีที่รับประกันมามาก จึงเชื่อว่าบริษัทประกันจะยังให้ความคุ้มครองกับคนไทยได้” พิเชฐ กล่าว

 

#อาจารย์ทอมมี่ #นักคณิตศาสตร์ประกันภัย

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X