×

สธ. เข้มคุมโควิด-19 พบคนไทยรายแรกติดเชื้อสายพันธุ์แอฟริกาใต้ กลับจากแทนซาเนีย เจอหลังเข้าระบบกักกันโรค

โดย THE STANDARD TEAM
14.02.2021
  • LOADING...

วันนี้ (14 กุมภาพันธ์) ที่ศูนย์แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข จังหวัดนนทบุรี นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงสถานการณ์โรคโควิด-19 ในประเทศไทยว่า วันนี้ประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 166 ราย มาจากระบบเฝ้าระวังในโรงพยาบาล 49 ราย ค้นหาเชิงรุกในชุมชน 89 ราย และเดินทางมาจากต่างประเทศ 28 ราย รักษาหายเพิ่มขึ้น 931 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิตเพิ่มเติม ทำให้ผู้ติดเชื้อสะสมระลอกใหม่ ตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม 2563 ถึง 14 กุมภาพันธ์ 2564 มีจำนวน 20,334 ราย หายป่วยสะสม 17,934 ราย ยังอยู่ระหว่างการรักษา 2,380 ราย และเสียชีวิตสะสม 20 ราย โดยสถานการณ์ที่ต้องเฝ้าระวังคือ ปทุมธานี และตาก 

 

นพ.โอภาสกล่าวว่า การพบการติดเชื้อในจังหวัดปทุมธานี เกี่ยวข้องกับตลาดพรพัฒน์ ตำบลประชาธิปัตย์ อำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานีได้สั่งปิดตลาดแล้ว จากการตรวจคัดกรองเชิงรุกระหว่างวันที่ 9-13 กุมภาพันธ์ 2564 จำนวนรวม 1,333 ราย พบติดเชื้อสะสม 175 ราย คิดเป็นร้อยละ 13.13 แบ่งเป็นคนไทย 111 ราย และต่างด้าว 64 ราย โดยขณะนี้ยังมีการตรวจคัดกรองเชิงรุกอย่างต่อเนื่อง สำหรับผู้ป่วยรายแรกพบว่า มีการค้าขายที่จังหวัดสมุทรสาคร และมาค้าขายที่ตลาดแห่งนี้ด้วย ซึ่งการค้าขายในตลาดหลายแห่งเป็นปัจจัยที่ทำให้เชื้อแพร่กระจายไปจุดต่างๆ ได้ ทั้งนี้ จากการสอบสวนโรคพบว่า จุดที่มีการติดเชื้อส่วนใหญ่อยู่บริเวณกลางตลาด ซึ่งหลังคาค่อนข้างเตี้ย อากาศถ่ายเทไม่สะดวก มีการรับประทานอาหารร่วมกัน และเวลาอากาศร้อนก็อาจละเลยไม่สวมหน้ากากด้วย ดังนั้น ตลาดต้องจัดจุดลงทะเบียน เข้มการสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา และจัดระบบการระบายอากาศที่ดี 

 

“ขณะนี้ยังพบผู้เกี่ยวข้องกับตลาดพรพัฒน์เชื่อมโยงไปจังหวัดอื่นๆ จากการไปเยี่ยมญาติและค้าขาย ทำให้โรคกระจายไปเพิ่มเติม ได้แก่ นครนายก 7 ราย, เพชรบุรี 3 ราย, สระบุรี และ กทม. จังหวัดละ 2 ราย, พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง นครราชสีมา และแพร่ จังหวัดละ 1 ราย กรณี จ.นครราชสีมา พบเด็กอายุ 7 ปี ติดเชื้อจากแม่ที่ทำงานในตลาดพรพัฒน์ ดังนั้น ผู้ใดที่เคยสัมผัสกับผู้เกี่ยวข้องของตลาดพรพัฒน์ช่วงวันที่ 9-13 กุมภาพันธ์ 2564 หรือก่อนหน้านี้ 7 วัน ถ้าไม่แน่ใจหรือมีอาการสงสัยให้แจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุข หรือโทรสายด่วน 1422 เพื่อช่วยป้องกันการแพร่กระจายเชื้อในชุมชนได้” นพ.โอภาสกล่าว 

 

สำหรับกรณีอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก จากการสอบสวนโรคตั้งแต่วันที่ 28 มกราคม ถึง 14 กุมภาพันธ์ 2564 พบผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนโรค และตรวจคัดกรองเชิงรุกในตลาดสีมอย ตลาดพาเจริญ ชุมชนอันซอร โรงงาน และซุ้มเลี้ยงไก่ชน พบผู้ติดเชื้อรวม 112 ราย เชื่อมโยงกับชาวเมียนมาร้อยละ 89.29 ที่เหลือเป็นคนไทยร้อยละ 10.71 ทางจังหวัดได้ดำเนินการปิดพื้นที่บางส่วน และค้นหาเชิงรุกในชุมชนเพิ่มเติม ขอย้ำในพื้นที่ที่มีการระบาด การสวมหน้ากากอนามัยในที่สาธารณะ 100% เป็นสิ่งสำคัญ รวมทั้งการเว้นระยะห่าง และหากได้การแจ้งเตือนของเจ้าหน้าที่ ขอให้ติดต่อเพื่อรับคำแนะนำการปฏิบัติตัว หรือตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อควบคุมโรคได้รวดเร็วขึ้น

 

นพ.โอภาสกล่าวต่อว่า ส่วนกรณีเชื้อโควิด-19 กลายพันธุ์มีความสำคัญใน 3 ประเด็น คือ 1. ทำให้เชื้อระบาดง่ายขึ้น เช่น สายพันธุ์อังกฤษ 2. ทำให้ประสิทธิภาพของวัคซีนลดลง เช่น สายพันธุ์แอฟริกาใต้ และ 3. ทำให้โรครุนแรงขึ้น ซึ่งตอนนี้ยังไม่พบ สำหรับประเทศไทยตอนนี้ส่วนใหญ่เป็นสายพันธุ์จีเหมือนกับทั่วโลก ส่วนไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์อื่นๆ มีโอกาสพบเจอได้ เช่น ก่อนหน้านี้พบสายพันธุ์อังกฤษในครอบครัวชาวอังกฤษที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทย ตรวจพบเชื้อและเข้าระบบกักตัวรักษา ทำให้เชื้อไม่แพร่สู่ชุมชน 

 

ล่าสุด สายพันธุ์แอฟริกาใต้ (South African Variant) รายแรกของประเทศไทย เป็นชายไทยอายุ 41 ปี ทำงานรับซื้อพลอยอยู่ที่แทนซาเนีย 2 เดือน วันที่ 29 มกราคม เดินทางมาต่อเครื่องที่เอธิโอเปีย และเดินทางมาไทย จากการตรวจคัดกรองพบว่าสบายดี จึงเข้ารับการกักกันใน State Quarantine โดยวันที่ 3 กุมภาพันธ์ ตรวจพบเชื้อ จึงเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล และไม่แพร่เชื้อสู่ชุมชนภายนอก

 

“เนื่องจากผู้ป่วยรายนี้มาจากทวีปแอฟริกา จึงมีการเก็บตัวอย่างส่งไปถอดรหัสพันธุกรรม ที่ศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ สภากาชาดไทย พบว่าเป็นสายพันธุ์แอฟริกาใต้ ทีมสอบสวนโรคจึงลงไปตรวจสอบสถานกักกันโรคและโรงพยาบาล พบว่าเจ้าหน้าที่ใส่เครื่องป้องกันอย่างดี และเก็บตัวอย่างส่งตรวจพบเป็นลบทุกคน สำหรับสายพันธุ์แอฟริกาใต้ส่วนใหญ่พบการระบาดในทวีปแอฟริกา ยุโรป ออสเตรเลีย และอเมริกา ส่วนในเอเชียยังไม่มี จึงต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เพราะอาจมีผลกับประเทศไทย ดังนั้น การคัดกรองผู้เดินทางจากประเทศที่พบสายพันธุ์นี้ โดยนำเข้าสู่การกักกัน เก็บตัวอย่างทันทีที่ถึงประเทศไทย คัดกรองผู้ที่มีอาการ และประวัติเสี่ยงเข้าโรงพยาบาลทันที และตรวจทางห้องปฏิบัติการ ทำให้เชื้อไม่ว่าสายพันธุ์ใดก็ไม่กระจายติดในชุมชนได้” นพ.โอภาสกล่าว

 

 

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X