×

4 ฉากทัศน์การแพร่ระบาดของโควิด กับทางเลือกของไทย

27.07.2021
  • LOADING...
Covid-19

สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิดในประเทศไทยยังอยู่ในระดับที่น่าห่วงกังวลอย่างยิ่ง ตลอด 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา (19-25 กรกฎาคม 2021) ประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น 93,916 ราย และมีผู้เสียชีวิตในระยะเวลา 1 สัปดาห์สูงถึง 718 ราย และหากเปรียบเทียบกับนานาชาติ ประเทศไทยขึ้นไปอยู่อันดับที่ 11 ของประเทศที่มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นสูงที่สุดในสัปดาห์ที่ผ่านมา คำถามที่ผู้เขียนตั้งขึ้นมาคือ หากจะจัดแบ่งรูปแบบการแพร่ระบาดและการรับมือกับการแพร่ระบาดของโควิดในระดับนานาชาติ เราจะมีฉากทัศน์การแพร่ระบาดในรูปแบบใดบ้าง เพื่อเรียนรู้ข้อดี-ข้อเสียของแต่ละประเทศ หรือแต่ละโมเดล ตามที่หลายฝ่ายมักจะขนานนามกัน สำหรับผู้เขียน วิเคราะห์ว่าฉากทัศน์การแพร่ระบาดที่ประเทศไทยกำลังเผชิญจะมี 4 ฉากทัศน์

 

Covid-19

 

ฉากทัศน์ที่ 1 China Model (Best Case Scenario): ควบคุมการแพร่ระบาดได้เกือบ 100% ตักวงจรการแพร่ระบาดได้อย่างสมบูรณ์ 

 

ตลอด 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา (19-25 กรกฎาคม 2021) สาธารณรัฐประชาชนจีนมีผู้ติดเชื้อใหม่ 283 ราย จากประชากรจีน 1,445,236,451 คน โดยพบว่าจำนวนผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่เป็นผู้เดินทางเข้ามาจากต่างประเทศ และตรวจพบเชื้อในสถานที่กักกันโรค (State Quarantine) ในขณะที่ตลอดทั้งสัปดาห์ที่ผ่านมาจีนไม่มีผู้เสียชีวิตแม้แต่รายเดียว และการแพร่ระบาดในระดับที่เกือบจะเป็นศูนย์นี้เกิดขึ้นในจีนต่อเนื่องกันมาเป็นเวลาเกินกว่า 1 ปีแล้ว หากนับจากวันที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่มากที่สุดในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2020 ที่มีผู้ติดเชื้อใหม่สูงถึง 14,108 รายใน 1 วัน และวันที่มีผู้เสียชีวิตมากที่สุดในวันที่ 17 เมษายน 2020 ที่มีผู้เสียชีวิต 1,290 รายใน 1 วัน แต่หากพิจารณาจากกราฟจะเห็นว่าจีนคือประเทศที่มีการระบาดระลอกใหญ่เพียง 1 รอบเท่านั้น และจากนั้นมาตรการที่จีนใช้ที่หลายๆ คนนิยมขนานนามว่า ‘อู่ฮั่น-กว่างโจว โมเดล’ ก็ทำให้จีนตัดวงจรการแพร่ระบาดได้

  

สาระหลัก 7 ประการ (Key Success Factors) ของ ‘อู่ฮั่น-กว่างโจว โมเดล’ คือ 

  1. ในทั้ง 2 สถานการณ์ ทางการจีนล็อกดาวน์อย่างทันท่วงที กล้าตัดสินใจ แม้จะสร้างความเสียหายมหาศาลทางเศรษฐกิจ อู่ฮั่นคือเมืองศูนย์กลางทางโลจิสติกส์ของจีน ระบบทางด่วน ระบบรถไฟความเร็วสูง เหนือ-ใต้-ออก -ตก มี Interchange ที่อู่ฮั่น เขากล้าปิดเมืองในวันตรุษจีนที่คนจีนเดินทางนับหลายๆ ร้อยล้านคน เศรษฐกิจกำลังเฟื่องฟู หรือกรณีกว่างโจว เมืองเอกของมณฑลกวางตุ้งที่ค้าขายระหว่างประเทศมากที่สุด คู่กับเขตเศรษฐกิจฮ่องกง มาเก๊า ในกว่างโจว จีนระดมสรรพกำลังตั้งแต่ตรวจพบหญิงอายุ 75 ปีรายแรกที่ติดเชื้อเดลตา ถ้าจำเป็นต้องปิดเมืองเพื่อรักษาชีวิต เขาทำทันที ภาวะผู้นำต้องกล้าตัดสินใจบนข้อมูลที่รอบคอบ รอบด้าน และมีแผนการรองรับ 
  2. เร่งตรวจเชื้อเชิงรุก 24 ชั่วโมงต่อวัน 7 วันต่อสัปดาห์ ฝนตก แดดออก กลางดึก ก็มีอาสาสมัครที่ได้รับวัคซีนครบถ้วนออกไปเชิญชวนให้คนมาตรวจคัดกรอง
  3. บังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด ไม่เลือกปฏิบัติ จัดการกับผู้ละเมิดกฎกติกาอย่างจริงจัง
  4. จัดหาอาหารและสิ่งของจำเป็น ส่งกำลังบำรุงให้ประชาชนไม่ขาดแคลน ผ่านระบบ Mini-Application บนโทรศัพท์มือถือ แม้ทุกคนในพื้นที่จะไม่สามารถออกนอกที่พักอาศัยได้ ยกเว้นกรณีที่ได้รับอนุญาต
  5. เร่งฉีดวัคซีนให้มากที่สุด แม้วัคซีนของจีนจะเป็นวัคซีนเชื้อตายบนเทคโนโลยีเก่า CoronaVac ซึ่งประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ๆ ที่มีการกลายพันธุ์ได้ต่ำกว่าวัคซีนเทคโนโลยีใหม่ mRNA แต่สิ่งที่จีนทำควบคู่กับการฉีดวัคซีนคือยังคงบังคับใช้มาตรการรักษาระยะห่าง (Social Distancing) จนทั้งเมืองปลอดเชื้อ จึงเริ่มผ่อนคลายการทำ Social Distancing 
  6. จีนใช้เทคโนโลยีทุกประเภทที่มีในมือ ไม่ว่าจะเป็น AI, GPS, QR Code, Mini Application, Social Monitoring, ฯลฯ เพื่อช่วยในการประเมินพื้นที่เสี่ยงและรูปแบบของแพร่ระบาด เพื่อบ่งชี้พื้นที่เฝ้าระวัง (ระบุถึงระดับเลขที่บ้าน เลขที่อาคาร) เพื่อบ่งชี้ว่าใครสามารถเดินทางได้หรือไม่ได้ และได้แค่ไหน รวมทั้งเฝ้าระวังว่ามีใครละเมิดกฎกติกาหรือไม่
  7. จีนมีการวางแผนเผชิญเหตุอย่างชัดเจน รัดกุม รอบด้าน (ทั้งเรื่องมาตรการ กำลังคน อุปกรณ์ และงบประมาณ) เพื่อให้ประชาชนเชื่อใจและมั่นใจว่ารัฐบาลสามารถจัดการกับปัญหาได้

 

 

ฉากทัศน์ที่ 2 UK-Singapore Model (Plausible Scenario): เปิดเมืองอยู่ร่วมกับโควิดให้ได้ในระดับที่ระบบสาธารณสุขยังคงรับไหว และจำนวนผู้เสียชีวิตอยู่ในระดับที่สังคมรับได้ ในขณะที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจก็ยังสามารถดำเนินต่อไปได้ 

 

ตลอด 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา (19-25 กรกฎาคม 2021) สหราชอาณาจักรมีผู้ติดเชื้อ 264,906 ราย (ลดลงจากสัปดาห์ก่อนหน้าประมาณ 15%) มีผู้เสียชีวิต 450 ราย (เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อนหน้าถึง 59%) จากจำนวนประชากร 68,265,268 คน และสัปดาห์ที่ผ่านมาถือเป็นสัปดาห์สำคัญ เพราะวันที่ 19 กรกฎาคม 2021 คือวันที่นายกรัฐมนตรีประกาศให้เป็น Freedom Day โดยการยกเลิกมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดและการรักษาระยะห่างทั้งหมดในพื้นที่ของประเทศอังกฤษ และหลังจากผ่านมา 1 สัปดาห์ จำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ที่ระดับ 36,000-38,000 รายต่อวัน และต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลในระดับประมาณ 1,000-2,000 รายต่อวัน และมีผู้เสียชีวิตในระดับราว 60-70 รายต่อวัน ถือเป็นระดับที่รัฐบาลและประชาชนรับได้

 

ในขณะที่ในสิงคโปร์ ตลอด 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา (19-25 กรกฎาคม 2021) สิงคโปร์มีผู้ติดเชื้อ 1,106 ราย มีผู้เสียชีวิต 1 ราย ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับที่รับได้สำหรับประเทศที่มีประชากร 5,899,249 คน 

 

โดยฉากทัศน์นี้ที่ประชาชนจะสามารถอยู่ร่วมกันได้กับการแพร่ระบาด โดยที่ระบบสาธารณสุขยังสามารถรองรับได้ และมีจำนวนผู้เสียชีวิตในระดับที่สังคมยอมรับได้ ต้องมีเงื่อนไขที่สำคัญคือ ทั้ง 2 ประเทศต่างก็เป็นประเทศที่มีอัตราการฉีดวัคซีนของประชาชนอยู่ในระดับที่สูง โดยจนถึงวันที่ 24 กรกฎาคม 2021 สิงคโปร์มีผู้ฉีดวัคซีนครบแผนการฉีดแล้ว 51.63% ของจำนวนประชากร และมีผู้ที่ฉีดเพียงเข็มแรกที่ 20.68% ของประชากร ในขณะที่สหราชอาณาจักรมีผู้ฉีดวัคซีนครบตามแผนการฉีดแล้ว 54.75% ของประชากรทั้งหมด และที่ได้รับวัคซีนเพียงเข็มแรกที่ 13.85% ดังจะเห็นได้ว่าทั้ง 2 ประเทศ คือประเทศที่มีผู้ฉีดวัคซีนสูงถึงระดับ 70%+/- ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ ซึ่งการฉีดวัคซีนในระดับนี้ นักระบาดวิทยาหลายสำนักเชื่อว่าน่าจะอยู่ในระดับที่ทำให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ได้ (Herd Immunity) 

 

นอกจากจำนวนผู้ฉีดวัคซีนต่อจำนวนประชากรในสัดส่วนที่สูงแล้ว อีกปัจจัยร่วมของทั้ง 2 ประเทศคือวัคซีนหลักที่ทั้ง 2 ประเทศฉีดคือ Pfizer-BioNTech, Oxford-AstraZeneca, Moderna และ Johnson & Johnson’s Janssen

 

อย่างไรก็ตาม อีกประเด็นหนึ่งที่ต้องคำนึงถึงควบคู่ไปด้วยก็คือ กว่าที่ทั้ง 2 ประเทศจะมาถึงสถานะปัจจุบันนี้ได้ ทั้ง 2 ประเทศต่างก็ผ่านการแพร่ระบาดระลอกใหม่มาแล้วถึง 4 ระลอก รวมทั้งจำนวนผู้ติดเชื้อและจำนวนผู้เสียชีวิตที่สูงมาก ตัวอย่างเช่นในกรณีของสหราชอาณาจักร ตั้งแต่ 1 มกราคม 2020 – 25 กรกฎาคม 2021 มีผู้ติดเชื้อรวม 5,697,912 ราย และมีผู้เสียชีวิต 129,158 ราย ในขณะที่ในประเทศจีนซึ่งเป็น Best Case Scenario มีผู้ติดเชื้อรวม 92,529 ราย และมีผู้เสียชีวิต 4,636 ราย ในช่วงเวลาเดียวกัน 

 

 

ฉากทัศน์ที่ 3 USA Model (Worst Case Scenario): แม้สหรัฐฯ จะเป็นประเทศที่มีองค์ความรู้ที่ก้าวหน้าทางการแพทย์มากที่สุด มี Facilities ในการผลิตวัคซีนมากถึง 563 แห่ง จากทั้งโลกที่มีทั้งหมด 857 แห่ง มีวัคซีนเทคโนโลยี mRNA ที่มีความทันสมัยมากที่สุด และน่าจะป้องกันการติดเชื้อได้ในอัตราที่สูงที่สุด แต่สถานการณ์การแพร่ระบาดกลับยังคงอยู่ในตำแหน่งที่เลวร้ายที่สุดในโลก

 

ตลอด 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา (19-25 กรกฎาคม 2021) สหรัฐฯ มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น 325,534 ราย เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อนหน้าที่มีผู้ติดเชื้อ 247,538 ราย ถึง 32% (ซึ่งนับตัวเลขเฉพาะผู้ติดเชื้อที่ต้องรับการรักษาในโรงพยาบาล ดังนั้นตัวเลขผู้ติดเชื้อจริงจะสูงกว่านี้) และยังคงมีผู้เสียชีวิตในระดับที่สูงที่ระดับ 1,763 รายในสัปดาห์ที่ผ่านมา ในขณะที่สหรัฐฯ มียอดการฉีดวัคซีนสูงถึง 56.35% ของประชากร (สหรัฐฯ มีประชากร 333,066,677คน) โดยมีผู้ที่ได้รับวัคซีนครบตามแผนการฉีดแล้วมากกว่า 163 ล้านคน (48.75% ของจำนวนประชากร) และมีผู้ที่ได้รับวัคซีนแล้วแต่ยังไม่ครบแผนการฉีดอีก 7.6%

 

ความล้มแหลวของสหรัฐฯ เกิดขึ้นจากหลายๆ ปัจจัยสะสม โดยปัจจัยที่สำคัญที่สุดคือมั่นใจในคุณภาพของวัคซีนมากจนเกินไป จนทำให้ประชาชนที่ฉีดวัคซีนแล้วเป็นจำนวนมากประมาท ไม่สนใจที่จะทำ Social Distancing รวมทั้งภาครัฐและระบบสาธารณสุขเองก็ไม่ได้มีการบังคับใช้มาตรการอย่างจริงจัง และในขณะเดียวกัน การดำเนินนโยบายของผู้นำที่ผิดพลาดในระยะแรกของการแพร่ระบาดที่ไม่เชื่อว่าการแพร่ระบาดนี้มีความรุนแรง มีการสร้างความเข้าใจที่ผิดพลาดคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับการแพร่ระบาด รวมทั้งการนำเอาเรื่องของการแพร่ระบาดและการฉีดวัคซีนไปใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง จนเกิดความคิดเห็นที่แตกต่างและเกิดความแตกแยกในบางพื้นที่ รวมไปจนถึงปัญหาทางสังคมจากการเหยียดเชื้อชาติ ที่ยังมีคนบางกลุ่มเกลียดกลัวชาวเอเชียภายในประเทศที่ป้องกันตนเองโดยการใส่หน้ากาก 

 

และหากพิจารณาจากข้อมูลในกราฟ จะเห็นว่าสหรัฐฯ ยังคงอยู่ในช่วงขาขึ้นของการระบาดในระลอกที่ 5 และทั้ง 5 ระลอก คือการระบาดที่ไม่มีช่วงเว้นว่างจากสถานการณ์เหล่านี้ ทำให้การแพร่ระบาดของสหรัฐฯ กลายเป็นฉากทัศน์ที่เลวร้ายที่สุด

   

 

ฉากทัศน์ที่ 4 India Model (Wild Card Scenario): ในขณะที่หลายๆ คนคิดว่าสถานการณ์ในอินเดียคือสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุด แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกลับกลายเป็นสถานการณ์ปัจจุบันในอินเดียยังดีกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับสหรัฐฯ

 

อินเดียคือประเทศที่มีการเข้าถึงวัคซีนได้ต่ำมากเมื่อเทียบกับจำนวนประชากรที่มีสูงเป็นอันดับ 2 ของโลกที่ระดับ 1,394,420,224 คน โดยจนถึงวันที่ 25 กรกฎาคม 2021 มีประชาชนอินเดียเพียง 6.77% ของประชากรทั้งหมด เท่านั้นที่ได้รับวัคซีนครบตามแผนการฉีด แม้อินเดียจะฉีดวัคซีนไปแล้วมากกว่า 435 ล้านโดส 

 

แต่หากเปรียบเทียบกับสหรัฐฯ ใน 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา (19-25 กรกฎาคม 2021) สหรัฐฯ มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น 325,534 ราย (ซึ่งนับตัวเลขเฉพาะผู้ติดเชื้อที่ต้องรับการรักษาในโรงพยาบาล ดังนั้นตัวเลขผู้ติดเชื้อจริงจะสูงกว่านี้) ในขณะที่อินเดียมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น 289,029 คน เมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อนหน้า สหรัฐฯ มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น 32% ในขณะที่อินเดียมีผู้ติดเชื้อลดลง 17% และตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา แม้ในช่วงที่เลวร้ายที่สุดที่สื่อทั่วโลกประโคมข่าวเรื่องศพผู้เสียชีวิตจำนวนมาก แต่สิ่งที่หากพิจารณาอย่างถ่องแท้จะเห็นได้ว่า ตัวเลขผู้ติดเชื้อรายวันมากที่สุดของอินเดียและสหรัฐฯ อยู่ที่ระดับเดียวกันคือในราว 400,000 คนต่อวัน จำนวนผู้เสียชีวิตสูงสุดต่อวันก็อยู่ในระดับใกล้เคียงกัน คือในราว 4,500-5,000 คนใน 1 วัน แต่ต้องไม่ลืมว่าอินเดียคือประเทศที่มีประชากรระดับ 1,400 ล้านคน ในขณะที่สหรัฐฯ มีประชากร 333 ล้านคน (บางครั้งการนำเสนอภาพข่าวของสื่อก็ทำให้เราสับสน)

 

แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่งสำหรับอินเดีย ณ ขณะนี้ คือ ความไม่เพียงพอและไม่พร้อมของระบบสาธารณสุข ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตตลอดสัปดาห์ที่แล้วถึง 9,697 ราย

 

อย่างไรก็ตาม ฉากทัศน์อินเดียถือเป็น Wild Card เนื่องจากการแพร่ระบาดของอินเดียที่รุนแรงอย่างยิ่งในช่วงเวลาที่ผ่านมา ยอดผู้ติดเชื้อและยอดผู้เสียชีวิตที่สูงมาก ประกอบกับการคัดกรองผู้ติดเชื้อที่ทำได้ไม่ทั่วถึง ทำให้ในช่วงที่ผ่านมามีผู้ติดเชื้อจำนวนมากแต่ไม่แสดงอาการ และจำนวนคนในกลุ่มนี้มีมาก จนกระทั่งในเดือนมิถุนายน-กรกฎาคมที่ผ่านมา The Indian Council of Medical Research (ICMR) เปิดเผยผลสำรวจ The 4th National Covid Sero Survey พบว่า 67.6% ของประชาชนอินเดียที่มีอายุเกินกว่า 6 ปี มีภูมิคุ้มกันโควิด (SARS-CoV-2 Antibodies) เกิดขึ้นเอง หรืออาจกล่าวได้ว่าภาวะภูมิคุ้มกันหมู่ (Herd Immunity) ได้เกิดขึ้นเองแล้ว ทั้งที่อินเดียเกิดการแพร่ระบาดระลอกใหญ่เพียง 2 ระลอกเท่านั้น

  

จากการเรียนรู้สถานการณ์ทั้ง 4 ฉากทัศน์ แน่นอนว่าประเทศไทยคงจะมีเงื่อนไขพื้นฐานที่แตกต่างจากฉากทัศน์ที่ 2 UK-Singapore Model เพราะเรายังไม่ได้รับการฉีดวัคซีนที่มากขนาดนั้น สถานะล่าสุด ณ วันที่ 23 กรกฎาคม 2021 คนไทยฉีดวัคซีนครบ 2 โดส ที่ 3.63 ล้านคน หรือคิดเป็นเพียง 5.2% ของจำนวนประชากร และมีประชากรอีก 12.15% ที่ได้รับวัคซีนเพียง 1 เข็ม ดังนั้น สถานะของไทยคงยังไม่พร้อม ถ้าจะต้องใช้ชีวิตกับโควิดแบบในกรณีของสิงคโปร์และสหราชอาณาจักร

 

ในขณะที่สถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศไทย (อันดับที่ 11) ยังคงดีกว่าสหรัฐฯ (อันดับที่ 1) และเราคงไม่อยากสูญเสียมากมายมหาศาลเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่แบบในประเทศอินเดีย ดังนั้น ประสบการณ์ของจีนที่ผู้นำกล้าตัดสินใจล็อกดาวน์โดยแลกกับความเสียหายทางเศรษฐกิจ เพื่อรักษาชีวิตมนุษย์ซึ่งมีค่ามากที่สุด อาจจะเป็นตัวเลือกที่รัฐบาลไทยต้องนำมาพิจารณา

 

และหากจะถามหาว่า เมื่อ 1 ชีวิตสูญเสียไป มูลค่าที่เทียบออกมาเป็นตัวเงินของชีวิตคน 1 คน อยู่ที่เท่าไร เท่าที่ผู้เขียนค้นคว้า ยังไม่พบว่าในประเทศไทยได้มีการคำนวณเอาไว้ แต่สำหรับผู้เขียนเชื่อว่า คน 1 คน ไม่ว่าจะเป็นชาติใด ศาสนาใด สีผิวใด อยู่ในประเทศไหน ก็ถือเป็นคนเหมือนกัน ดังนั้นจึงต้องขออ้างอิงตัวเลขจากสหรัฐฯ ที่ หน่วยงานของรัฐบาลสหรัฐฯ United States Environmental Protection Agency (EPA) เคยคำนวณเอาไว้ในปี 2016 ว่า ชีวิตคนอเมริกัน 1 ชีวิต มีค่าเทียบเท่ากับตัวเงินที่ระดับ 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 329 ล้านบาท หรือบางท่านอาจจะพิจารณาว่าตัวเลขนี้สูงเกินไป ก็ยังมีอีก 1 ตัวเลขให้พิจารณาคือ ตัวเลขเฉลี่ยของมูลค่าเงินชดเชยที่ผ่านการพิจารณาของศาลในสหรัฐฯ ในกรณีการชดเชยการสูญเสียชีวิตของบุคคล ในระหว่างปี 2009-2013 ก็จะมีการตีมูลค่าชีวิตอยู่ที่ประมาณ 2.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 72.42 ล้านบาท

 

คำถามที่รัฐบาลไทยคงต้องนำมาชั่งน้ำหนักคือ ปิดเมือง ล็อกดาวน์ แล้วเศรษฐกิจพัง มูลค่าทางเศรษฐกิจอาจจะสูญเสียมหาศาล แต่ถ้ารักษาชีวิตคนเอาไว้ได้ 1 คน ซึ่งมีมูลค่า 72.42-239 ล้านบาท อะไรจะคุ้มกว่ากัน และถ้าพิจารณาตัวเลขผู้เสียชีวิตสะสมจากโควิดจนถึงวันที่ 25 กรกฎาคม 2021 ที่ 4,059 ราย นั่นหมายความว่าเราสูญเสียมูลค่าของทรัพยากรมนุษย์ไปแล้วในราว 2.94-9.7 แสนล้านบาท ถ้าพิจารณาเช่นนี้แล้ว เราจะเข้าใจทันทีว่าทำไมในฉากทัศน์ที่ 1 จีนถึงกล้าตัดสินใจทำทุกอย่างเพื่อตัดวงจรการแพร่ระบาด เพื่อรักษาชีวิตมนุษย์

 

และถ้าไทยจะทำแบบเดียวกันนี้บ้าง ก็ขอให้ย้อนกลับไปดูในฉากทัศน์ที่ 1 สาระหลัก 7 ประการ (Key Success Factors) ของ ‘อู่ฮั่น-กว่างโจว โมเดล’ แต่สิ่งที่ต้องนำมาปรับคือ ทำอย่างไรโมเดลของจีนจึงจะเข้ากันได้กับบริบท สังคม เศรษฐกิจ และการเมืองของประเทศไทย

 

สำหรับตัวผู้เขียนเชื่อว่า ภาวะผู้นำที่สามารถสร้างศรัทธาให้กับผู้ตามที่พร้อมที่จะเดินตามถือเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด ผู้นำต้องกล้าตัดสินใจบนแผนการที่รอบคอบ รอบด้าน ต้องคิดให้ครบลงไปจนถึงรายละเอียด รวมทั้งการมีแผนสำรอง ทั้งกำลังคน กำลังเงิน อุปกรณ์ เครื่องไม้เครื่องมือ และต้องสื่อสารให้ประชาชนเข้าใจ ไม่เกิดความสับสน ไม่มีเวลาสำหรับเกมการเมืองแล้ว

 

ภาพ: Getty Images

พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X