โรคทางเดินหายใจจากเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือโควิด-19 ได้เปลี่ยนจากสิ่งที่หลายคนคิดว่าเป็น ‘ไวรัสจากเมืองอู่ฮั่น’ ที่เราได้ยินครั้งแรกเมื่อเดือนมกราคม กลายมาเป็นโรคติดต่อระดับโลก (Global Pandemic) ไปแล้ว ล่าสุดมีคนติดเชื้อมากกว่าแสนคน เสียชีวิตหลายพันคน มีผู้ติดเชื้อใน 150 ประเทศทั่วโลก และไม่มีทีท่าว่าจะจบลงง่ายๆ
มาตรการที่ประเทศต่างๆ นำมาใช้เพื่อสกัดกั้นการแพร่กระจาย ไม่ว่าจะเป็นการปิดเมือง คำแนะนำให้หลีกเลี่ยงที่สาธารณะ การยกเลิกกีฬา และงานรื่นเริงต่างๆ ส่งผลให้ธุรกิจใหญ่น้อยต้องหาแผนฉุกเฉินเพื่อให้ธุรกิจดำเนินต่อไปได้ และกำลังสร้างแรงกระทบต่อการดำเนินชีวิต เศรษฐกิจ และธุรกิจอย่างมหาศาล
มีความเป็นไปได้มากว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ลดลง และสถานการณ์การระบาดลากยาวมากขึ้นเรื่อยๆ อาจจะกำลังนำโลกเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว หรือภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจได้
เศรษฐกิจที่พึ่งพาการท่องเที่ยวอย่างประเทศไทยกำลังได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง และหลีกเลี่ยงไม่ได้ และ KKP คาดว่าเศรษฐกิจไทยมีโอกาสเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย และการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในปีนี้อาจเข้าสู่ภาวะติดลบ โดยเฉพาะถ้าผลกระทบต่อการท่องเที่ยวเกิดขึ้นอย่างรุนแรงและยาวนาน
คำถามสำคัญคือ เศรษฐกิจไทยจะรองรับทรัพยากร เช่น แรงงานที่ต้องถูกเลิกจ้างจากบรรดาธุรกิจในภาวะเช่นนี้อย่างไร ในเวลาที่ภาคเศรษฐกิจสำคัญๆ ของไทยอย่างภาคอุตสาหกรรม เกษตร อสังหาริมทรัพย์ และบริการ ได้รับผลกระทบพร้อมๆ กันหมด จนไม่มีภาคเศรษฐกิจใดที่พร้อมจะเป็นกันชนในภาวะเช่นนี้
ความเสี่ยงสำคัญต่อระบบการเงินในขณะนี้คือสิ่งที่เราเคยคิดว่าเป็นปัญหาเศรษฐกิจระยะสั้น อาจลุกลามไปเป็นวิกฤตการผิดนัดชำระหนี้ขนาดใหญ่ได้ ถ้าไม่สามารถบริหารจัดการและดูแลได้อย่างเหมาะสม
ลองคิดดูว่า แม้ธุรกิจส่วนใหญ่จะพออยู่ได้กับการปิดธุรกิจ 1-2 สัปดาห์ แต่ถ้าธุรกิจต้องหยุดยาวถึง 1-2 เดือนอาจเริ่มมีปัญหาขาดสภาพคล่อง หรือแม้กระทั่งอาจเริ่มผิดนัดชำระหนี้หรือหาแหล่งเงินกู้ไม่ได้ ทั้งๆ ที่ถ้าเป็นภาวะปกติธุรกิจอาจยังมีความสามารถในการทำกำไรดีๆ อยู่
ในสถานการณ์แบบนี้ ผู้ให้กู้อาจเริ่มคิดหนักว่าจะปล่อยสภาพคล่องให้เพิ่มดีหรือไม่ และนักลงทุนที่เห็นความผันผวนในตลาดอาจขยาดกับความเสี่ยงจนไม่ยอมลงทุนในตราสารที่มีความเสี่ยง ซึ่งนี่เองอาจเป็นจุดเริ่มที่ทำให้ปัญหาสภาพคล่องลุกลามไปจนกลายเป็นวิกฤตทางการเงินต่อเนื่องได้
ยังไม่ต้องพูดถึงว่าวิกฤตราคาน้ำมันจากสงครามน้ำมันระหว่าง OPEC และรัสเซียก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่มาเพิ่มความเสี่ยงของการผิดนัดชำระหนี้ของบริษัท และเศรษฐกิจของประเทศที่พึ่งพาการส่งออกน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์
คำถามคือ นโยบายของรัฐควรทำอย่างไร
ผมคิดว่าในภาวะปัจจุบัน รัฐควรทำ 3 เรื่องสำคัญ
1. คือต้องทุ่มทรัพยากรกับนโยบายสาธารณสุข เพื่อสร้างความมั่นใจกับประชาชนให้ได้ว่าเรา ‘เอาอยู่’ และสามารถจัดการกับปัญหาในปัจจุบันได้ โดยควรเอาตัวอย่างและบทเรียนจากประเทศอื่นๆ ที่ประสบความสำเร็จในการจัดการกับภาวะวิกฤตด้านสาธารณสุขมาใช้ ผมคิดว่ามีข้อควรทำ 4 ข้อใหญ่ๆ ที่เชื่อว่าหลายส่วนเรากำลังทำอยู่แล้วคือ
- ตรวจวัดโรคให้เร็วและทั่วถึง เพื่อให้ทราบถึงปัญหา การเชื่อมโยงของการติดเชื้อ และสืบหาผู้ที่มีความเสี่ยงต่อเนื่องอย่างทันท่วงที
- แยกคนไข้ติดเชื้อหรือมีความเสี่ยงสูงออกจากประชาชนทั่วไป เพื่อป้องกันการติดเชื้อเพิ่มเติม และต้องทำอย่างจริงจังและเข้มงวด
- ทำการรักษาอย่างรวดเร็ว และบริหารจัดการทรัพยากรที่มีจำกัดอย่างเป็นระบบ และต้องวางแผนสร้างขีดความสามารถของระบบหากมีการติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
- สำคัญที่สุดคือต้องมีการตัดสินใจและสื่อสารอย่างมีประสิทธิผลและโปร่งใส ไม่ปิดบัง เพื่อทำให้ประชาชนมั่นใจ เชื่อถือ และร่วมมือ การเปลี่ยนนโยบายกลับไปกลับมา การให้ข้อมูลไม่ตรงกันของแต่ละฝ่าย หรือการปัดปัญหา (เช่น การบอกว่านี่มันไข้หวัดธรรมดา) ไม่ช่วยแก้ปัญหาเลย
ในเวลานี้งบประมาณที่ไม่จำเป็น เช่น งบดูงานต่างประเทศ ควรถูกยึดกลับมาจัดสรรให้กับการเตรียมความพร้อมด้านสาธารณสุข โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเราดูสถิติทางสาธารณสุข ประเทศไทยมีจำนวนเตียงโรงพยาบาลเพียง 2.1 เตียงต่อประชากร 1,000 คน ในขณะที่ประเทศที่พัฒนาแล้ว และคำแนะนำขององค์การอนามัยโลกอยู่ที่ประมาณ 5 เตียงต่อประชากร 1,000 คน นี่คือเวลาดีที่เราอาจใช้เพิ่มศักยภาพในการดูแลผู้ป่วยทั้งในระยะสั้นและระยะยาว
2. เราควรต้องมีนโยบายที่ ‘เยียวยา’ และ ‘กระตุ้น’ เศรษฐกิจอย่างเร่งด่วน สร้างความมั่นใจด้านเศรษฐกิจ และรองรับแรงงานที่อาจได้รับผลกระทบจากปัญหานี้ การใช้นโยบายการคลังทั้งด้านนโยบายภาษี นโยบายการใช้จ่าย และนโยบายด้านกฎระเบียบและโครงสร้าง ควรมีบทบาทสำคัญในการช่วยเหลืออย่างตรงเป้าหมาย และถึงตัวผู้ได้รับผลกระทบอย่างทันท่วงที
ในภาวะปัจจุบันอาจมีความจำเป็นมากขึ้นในการใช้นโยบายการใช้จ่ายเพิ่มขึ้นเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะโครงการลงทุนขนาดเล็กที่ใช้เงินได้เร็ว เบิกจ่ายได้เร็ว สร้างงาน เป็นประโยชน์ต่อพื้นที่ และสามารถใช้ประโยชน์ต่อเนื่องได้ ไม่ละลายหายไป เช่น โครงการบริหารจัดการน้ำ โครงสร้างพื้นฐานด้านการเกษตร โครงการคมนาคม การพัฒนาด้านการศึกษาและปรับปรุงทักษะของแรงงาน หรือใช้โอกาสปัจจุบันในการซ่อมสร้างโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการท่องเที่ยวในอนาคต โดยควรให้รัฐบาลท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการเลือกโครงการที่เหมาะสมและตรงกับความต้องการ
เราโชคดีที่ประเทศยังมีสถานะทางการคลังที่แข็งแกร่ง และพอจะสามารถนำมาใช้ได้ในภาวะปัจจุบัน แต่ก็ต้องควบคุมระวังไม่ให้เกิดการรั่วไหล
3. สำคัญที่สุดคือ เราต้องหาทางป้องกันไม่ให้ปัญหาสภาพคล่องระยะสั้น (Liquidity Issue) กลายเป็นปัญหาการผิดนัดชำระหนี้ขนาดใหญ่ (Solvency Problem) ต้องแน่ใจว่าสภาพคล่องในระบบมีอย่างเพียงพอ ไม่สร้างความตื่นตระหนก สร้างแรงจูงใจให้สถาบันการเงินปรับโครงสร้างหนี้เพื่อผ่อนคลายภาระของผู้กู้
ตัวอย่างที่เราเห็นในต่างประเทศ ธนาคารกลางอัดฉีดสภาพคล่องมหาศาล (ผ่านการทำ QE และ Repo) เพื่อให้แน่ใจได้ว่าสภาพคล่องมีอย่างเพียงพอ และหลายแห่งมีมาตรการสนับสนุนสภาพคล่องเพิ่มเติมในต้นทุนที่ต่ำมาก (หรือติดลบในบางกรณี) ให้กับสถาบันการเงินเพื่อให้สถาบันการเงินนำไปปล่อยกู้ต่อให้กับธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ
ในบางกรณีรัฐบาลอาจต้องมีมาตรการเสริมเพื่อช่วยประกันหรือแบ่งรับความเสี่ยงจากสถาบันการเงิน เพื่อสร้างแรงจูงใจให้สถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อเพิ่มให้กับลูกค้าที่ขาดสภาพคล่อง เราควรเริ่มนำทางเลือกเหล่านี้มาพิจารณาอย่างจริงจังนอกเหนือจากนโยบายอัตราดอกเบี้ยและมาตรการสนับสนุนการปรับปรุงโครงสร้างหนี้
ท้ายที่สุดเราอาจมีความจำเป็นที่จะต้องเตรียมมาตรการฉุกเฉินขนาดใหญ่เผื่อไว้ในกรณีที่สถานการณ์เลวร้ายลงไปอีก เพื่อทำให้ประชาชนและธุรกิจมั่นใจ โดยต้องมีการประสานกันอย่างแน่นหนา ทั้งนโยบายการเงิน นโยบายการคลัง และนโยบายต่างประเทศ เพราะในขณะที่นโนบายด้านเศรษฐกิจอาจจะไม่ช่วยให้จำนวนผู้ติดเชื้อลดลง และไม่ช่วยแก้ปัญหาที่เกิดจาก Supply Disruption แต่ก็มีส่วนสำคัญที่จะช่วยบรรเทาและเยียวยาผลกระทบที่จะเกิดขึ้น
ศึกครั้งนี้ใหญ่หลวงนัก เป็นการพิสูจน์อีกครั้งว่ามนุษย์เรานั้นเล็กนักเมื่อเทียบกับพลังของธรรมชาติ แต่ด้วยการเตรียมพร้อมและความร่วมมือกันทั่วโลก เราจะผ่านมันไปด้วยกัน
เกาะติดสถานการณ์โควิด-19 ได้ที่ thestandard.co/coronavirus-coverage
และอัปเดตทุกความเคลื่อนไหวของโรคโควิด-19 ได้ที่ www.facebook.com/thestandardth
***หมายเหตุ: บทความนี้เขียนขึ้นเมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2563
บทความโดย: ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย
หัวหน้าฝ่ายวิเคราะห์เศรษฐกิจและการลงทุน และหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ บริษัทหลักทรัพย์ ภัทร จำกัด (มหาชน) บริษัทในกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า