×

วิกฤตโควิด-19 รอบใหม่ ‘เราชนะ-เรารักกัน’ เพียงพอฟื้นเศรษฐกิจไหม?

09.02.2021
  • LOADING...
วิกฤตโควิด-19 รอบใหม่

HIGHLIGHTS

  • รัฐออกมาตรการเยียวยา ‘เราชนะ-เรารักกัน’ ครอบคลุม 40 ล้านคน แต่อาจไม่ทั่วถึงผู้ได้รับผลกระทบ กสิกรไทยมอง​มาตรการเยียวยาชดเชยผลกระทบบางส่วนเท่านั้น 
  • KKP-กสิกรไทยชี้วัคซีนคือปัจจัยสำคัญต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทย หากการระบาดไม่สิ้นสุดสิ้นปี 2564 มีลุ้นติดลบ 1.2% หากรัฐไม่กระจายวัคซีนให้ทั่วถึง และสร้างความมั่นใจพอจะเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ
  • กระทรวงสาธารณสุขเผยแผนกระจายวัคซีน 63 ล้านโดสหลังมิถุนายน 2564 ชูสั่งเพิ่มแอสตราเซเนกาอีก 35 ล้านโดส (จากก่อนหน้าที่อยู่ราว 26 ล้านโดส)

เศรษฐกิจไทยเจอศึกหนักโควิด-19 มานานกว่า 1 ปีแล้ว ทั้งตัวเลข GDP ที่ติดลบ และรายได้ประชาชนที่หายไปจากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 รอบใหม่ ทำให้รัฐบาลออกมาตรการเยียวยารอบใหม่ทั้ง ‘เราชนะ-ม.33 เรารักกัน’ แต่จะช่วยคนไทยได้แค่ไหน 

 

ทำไมต้อง ‘ม.33 เรารักกัน-เราชนะ’ เพื่อเยียวยาเฉพาะกลุ่ม

ปลายเดือนมกราคม 2564 ที่ผ่านมา รัฐบาลและกระทรวงการคลังออกมาตรการเยียวยาโควิด-19 รอบใหม่อย่าง ‘เราชนะ’ ซึ่งจะให้เงินเยียวยารายละ 7,000 บาท กลุ่มผู้ประกอบอาชีพอิสระ เกษตรกร กลุ่มเปราะบาง กลุ่มผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ผู้มีอาชีพรับจ้าง หาบเร่ โดยมีกลุ่มเป้าหมาย 30.1 ล้านคน ใช้งบประมาณราว 210,000 ล้านบาท

 

โดยการเยียวยาครั้งนี้ไม่ให้สิทธิ์แก่ข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ รวมถึงไม่ให้กลุ่มแรงงานผู้ได้รับผลกระทบอย่างผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมที่มีอยู่ราว 11 ล้านคน ไม่ให้ผู้ที่มีรายได้เกิน 3 แสนบาทต่อปี (ณ ปี 2562) รวมถึงผู้มีเงินฝากทุกบัญชีเกิน 5 แสนบาท

 

จนเกิดแรงประท้วงขึ้นที่หน้ากระทรวงการคลัง นำสู่การออกมาตรการเยียวยาล่าสุด ‘ม.33 เรารักกัน’ จากกระทรวงแรงงาน (ที่ดูแลกลุ่มประกันสังคม) ซึ่งจะให้เงินรวม 4,000 บาท ใช้งบประมาณราว 37,000 ล้านบาท 

 

ภาพประกอบ: อนงค์นาฎ วิวัฒนานนท์

 

แต่ยังมีข้อสังเกตหลายจุดที่อาจทำให้เม็ดเงินไม่กระจายทั่วถึงคือ การที่รัฐให้เงินมาตรการเป็น ‘วงเงินสิทธิ์’ ผ่านแอปพลิเคชันเป๋าตัง ซึ่งจะใช้ได้ในร้านค้าที่ลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชันถุงเงิน (ของธนาคารกรุงไทยที่ใช้คู่กับเป๋าตัง) นอกจากนี้เม็ดเงินรวมของมาตรการโควิด-19 รอบใหม่ยังน้อยกว่าปี 2563 เกือบครึ่งหนึ่ง

 

มาตรการเยียวยา ‘ครึ่งหนึ่งของวิกฤตปี 2563’ พอให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวไหม

เชาว์ เก่งชน กรรมการผู้จัดการ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยกับ THE STANDARD WEALTH ว่า เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบจากมาตรการควบคุมโควิด-19 ระลอกใหม่ ทั้งคนที่ตกงาน ขาดรายได้ ฯลฯ ทำให้ภาครัฐออกมาตรการเยียวยาเพื่อชดเชยผลกระทบที่เกิดขึ้น เพราะหากรัฐไม่ออกมาตรการกลุ่มคนที่ขาดรายได้ จะทำให้การใช้จ่ายลดลงและจะส่งผลต่อเนื่องต่อเศรษฐกิจไทย 

 

“มาตรการเยียวยาที่ออกมา เช่น เราชนะ ม.33 เรารักกัน จะชดเชยผลกระทบได้บางส่วนเท่านั้น แต่ไม่ได้ทั้งหมด เพราะมาตรการยังมีเงื่อนไข ทั้งบุคคลที่รับเงินหรือการให้เงิน ซึ่งจะมาช่วยผ่อนหนักเป็นเบา แต่ก็ยังมีผลกระทบอยู่ ขณะเดียวกันไม่ใช่มาตรการที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจ” 

 


ภาพ ชาติกล้า สำเนียงแจ่ม

 

ทั้งนี้มองว่าเงื่อนไขของมาตรการเยียวยาเป็นความจำเป็นต่อการบริหารเงินของคลัง ซึ่งมีการวางกรอบเพื่อเบิกจ่ายอย่างระมัดระวัง ซึ่งคลังต้องสร้างสมดุลทั้งการเยียวยาผู้ที่เดือดร้อนไม่ให้ติดลบมากนัก และเผื่อกระสุนทางการคลัง (เม็ดเงิน) ไว้เพื่อดูแลปัญหาโควิด-19 ที่ยังไม่สิ้นสุดชัดเจน 

 

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ และหัวหน้าฝ่ายวิเคราะห์เศรษฐกิจและการลงทุน กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร เปิดเผยกับ THE STANDARD WEALTH ว่า การระบาดรอบใหม่นี้แม้มาตรการคุมโควิด-19 จะเบากว่ารอบก่อน แต่อาจจะยาวนานกว่า ส่งผลให้การบริโภคยังไม่ฟื้นตัวกลับมา 

 

วัคซีนไม่มาเศรษฐกิจไทยไม่ฟื้นเร็ว

พิพัฒน์กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยปีนี้ยังไม่ฟื้นตัว ยังเจอผลกระทบถาวรในหลายด้าน ดังนั้นนโยบายการเงินและการคลังมีความจำเป็นที่จะพยุงเศรษฐกิจในปัจจุบัน โดยเฉพาะการติดตามแผนกระจายวัคซีนของไทย ซึ่งในต่างประเทศจะมีการกระจายวัคซีนสู่ประชาชนอย่างทั่วถึง เช่น สหรัฐอเมริกา ไตรมาส 2-3 คาดว่าประชาชนส่วนใหญ่จะได้รับวัคซีนต้านโควิด-19 และเกิดภูมิคุ้มกันหมู่แล้ว ส่วนอิสราเอลปัจจุบันมีการฉีดวัคซีนกว่า 56% 

 

ในส่วนของไทยหากไม่มีการฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 จะส่งผลให้ไม่สามารถเปิดเศรษฐกิจหรือเปิดการท่องเที่ยวในปีนี้ได้ และหากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 ยังอยู่ถึงไตรมาส 2 อาจส่งผลให้กรณีเลวร้ายที่สุด GDP ไทยปี 2564 ติดลบ 1.2% (กรณีพื้นฐานอยู่ที่ 2%)

 

ขณะที่เชาว์กล่าวว่า เรื่องวัคซีนเป็นปัจจัยสำคัญต่อเศรษฐกิจไทย เพราะจะเป็นสิ่งที่ลดความเสี่ยงและสร้างความมั่นใจในการเปิดการท่องเที่ยวได้ดีขึ้น เพราะจากข้อมูลของ WHO (องค์การอนามัยโลก) ที่ว่าแม้ว่าจะฉีดวัคซีนแต่ยังสามารถแพร่เชื้อได้ ดังนั้นการสื่อสารและการกระจายวัคซีนทั้งนักท่องเที่ยวและคนในพื้นที่ท่องเที่ยวจะมีความมั่นใจหากการกระจายวัคซีนเกิดขึ้นอย่างทั่วถึง 

 

 

อย่างไรก็ตาม หากการท่องเที่ยวจากต่างประเทศไม่สามารถเปิดได้ในช่วงสิ้นปี 2564 (หรือนักท่องเที่ยวต่างชาติไม่ถึง 5 ล้านคน, ธปท., สภาพัฒน์) อาจทำให้ตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจที่คาดการณ์ไว้ปรับลดลง หากการรับนักท่องเที่ยวต่างชาติไม่เป็นไปตามเป้าหมาย คาดว่ารัฐบาลจะออกมาตรการด้านอื่นๆ มาเพิ่มเติม

 

ล่าสุด (8 กุมภาพันธ์) กระทรวงสาธารณสุขเปิดเผยแผนการฉีดวัคซีนในไทยกว่า 63 ล้านโดส ตั้งเป้าหมายจะฉีดหลังเดือนมิถุนายน เดือนละ 10 ล้านโดส โดยวัคซีนมาจากบริษัทซิโนแวค 2 ล้านโดส และ (มิถุนายน 2564) จากบริษัทแอสตราเซเนกา 26 ล้านโดส และที่จองเพิ่ม 35 ล้านโดส โดยจะแบ่งการฉีดเป็น 3 ระยะ (ตามความจำเป็นที่เปลี่ยนแปลงตามสถานการณ์)

 

แต่สิ่งที่ต้องจับตามองต่อไปคือ วัคซีนต้านโควิด-19 จะลำเลียงสู่ประเทศไทยและมีการกระจายวัคซีนตามที่ภาครัฐคาดหวังไว้แค่ไหน รวมถึงสภาพแวดล้อมอื่นๆ เช่น ประสิทธิผลของวัคซีนว่าจะสามารถรองรับการกลายพันธุ์ หรือจะมีการกระจายวัคซีนได้ตรงกับกลุ่มเสี่ยงได้อย่างไร 

 

ท้ายที่สุดแล้วนอกจากปัญหาระยะสั้น รัฐบาลยังต้องรับมือกับปัญหาระยะกลางและยาวที่รออยู่ด้วย ได้แก่ การปฏิรูปโครงสร้างรายได้ของรัฐ (การขยายฐานภาษี) เพื่อรองรับกับงบประมาณของรัฐที่เพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมา และเพิ่มขึ้นเป็นพิเศษจากวิกฤตโควิด-19 นี้ รวมถึงความเหลื่อมล้ำในไทยที่ถ่างออกมากขึ้นอย่างรวดเร็ว และความสามารถการแข่งขันของไทยกับโลกที่ลดลงเรื่อยๆ 

 

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X