×

ถึงเวลายอมรับความจริงวิกฤตผู้ป่วยโควิด-19 ล้น เตียงเต็ม เรามาถึงจุดที่คนไทยต้องนอนป่วยรอความตายอยู่ในบ้าน

26.06.2021
  • LOADING...
เตียงเต็ม โควิด
  • จำนวนผู้ป่วยโควิด-19 ที่พบผู้ติดเชื้อรายใหม่มากกว่า 3,000 คนต่อวันต่อเนื่องมาหลายวัน ทำให้ตอนนี้ประเทศไทยเกิดวิกฤตเตียงไม่พอ วิกฤตนี้เริ่มเด่นชัดจนน่าหดหู่ใจว่าประเทศไทยเดินมาถึงจุดที่ประชาชนคนไทยต้องนอนป่วยอยู่ที่บ้านโดยไม่รู้ชะตากรรมว่าจะได้รับการรักษาเมื่อไร

 

  • หลายโรงพยาบาลออกมาประกาศยอมรับสถานการณ์เตียงเต็ม และ ICU ไม่พอ และเริ่มปิดให้บริการตรวจเชื้อโควิด-19 เพราะเตียงเต็ม อาทิ

 

    • โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์: ปิดคัดกรองโควิด-19 เป็นเวลา 4 วัน เริ่ม 24-27 มิถุนายน

 

    • โรงงพยาบาลศิริราช: ประกาศปิดให้บริการผู้ป่วยหน่วยตรวจโรคแพทย์เวร ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 (COVID-19) ทั้งนี้ เนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 มีความรุนแรงมากขึ้น โดยมีการตรวจพบผู้ป่วยติดเชื้อในหน่วยตรวจโรคแพทย์เวรเพิ่มขึ้น

 

    • โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์: ประกาศว่า แผนกฉุกเฉิน (ER) จำเป็นต้องลดการให้บริการชั่วคราว เนื่องจากขณะนี้มีผู้ป่วยโควิด-19 ที่กำลังรอการส่งต่อไปยังโรงพยาบาลอื่น ผู้ป่วยฉุกเฉินที่ไม่ติดเชื้อโควิด-19 จำนวนมาก และห้อง ICU ของโรงพยาบาลเต็มทั้งหมด

 

    • โรงพยาบาลพริ้นซ์ สุวรรณภูมิ ประกาศว่า เนื่องด้วยขณะนี้พบอัตราการระบาดของโควิด-19 เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการ ส่งผลให้ทางโรงพยาบาลฯ มีปริมาณเตียงไม่เพียงพอต่อการรองรับผู้ป่วยโควิด-19 รายใหม่พี่เพิ่มขึ้นสูงในขณะนี้

 

  • เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน นพ.ศุภโชค เกิดลาภ อายุรแพทย์โรคติดเชื้อ สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี โพสต์เฟซบุ๊กถึงสถานการณ์นี้ช่วงหนึ่งว่า “เตียง ICU มันเต็มๆๆๆๆๆ จริงๆ

 

เพราะ ICU 1 Case นอนทีกินเตียง 2-4 Weeks กันอย่างน้อย บางคนนอน 2 เดือน บางคนเอาท่อช่วยหายใจออกไม่ได้ ต้องเจาะคอ

 

จะเพิ่มศักยภาพอย่างไรก็ไม่มีทางทำได้แล้ว พยาบาล หมอก็มีเท่าเดิม (และมีแต่จะลดลงเรื่อยๆ เพราะบางส่วนก็ติดเชื้อด้วย) จะเปิด รพ. สนามเพิ่มอีกกี่ที่ก็ไม่ไหว ไม่มีคนแล้ว ระบบ Node ที่จะส่งต่อเคสที่หนักเมื่อเกินศักยภาพของแต่ละ รพ. ก็เริ่มติดขัดฝืดเคืองมากขึ้นเรื่อยๆ และในที่สุดก็ไปต่อไม่ได้”

 

  • วิกฤตนี้สะท้อนมาถึงสำนักข่าว THE STANDARD โดยตรง เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน สำนักข่าวได้รับการติดต่อจากประชาชนทางบ้าน ให้ช่วยเหลือหาเตียงให้คุณพ่อ-คุณแม่ซึ่งติดเชื้อโควิด-19 ทั้งคู่

 

คุณพ่ออายุ 66 ปี คุณแม่อายุ 62 ปี มีโรคประจำตัวทั้งคู่และอาการเริ่มหนัก เราช่วยกันติดต่อหาโรงพยาบาลทั้งคืนก็ไม่สามารถหาเตียงได้ ติดต่อศูนย์เอราวัณได้รับแจ้งว่าให้รอ เพราะยังมีผู้ป่วยที่อาการหนักกว่านี้ก็ยังต้องรอเตียงเช่นกัน ติดต่อโรงพยาบาลบุษราคัม แจ้งว่ารับผู้ป่วยเคสนี้ไว้ไม่ได้เพราะเป็นเคสหนัก ที่สุดแล้วเราต้องประสานสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ให้เข้าไปดูอาการเพราะอาการเริ่มทรุด หายใจไม่สะดวก 

 

ทีม สพฉ. ต้องเข้าช่วยเหลือเบื้องต้น และทิ้งถังออกซิเจนไว้ให้เพื่อให้ผ่านพ้นคืนนั้นไป และหวังว่าพรุ่งนี้เช้าจะมีเตียงว่าง จนตอนสายวันรุ่งขึ้น (25 มิถุนายน) ทั้ง 2 คนติดต่อเตียงได้จากโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง แต่ต้องจ่ายค่าเตียง 5 หมื่นบาทสำหรับ 2 คน ส่วนค่ารักษาโรงพยาบาลจะไปเก็บจากรัฐบาลจนกว่าจะรักษาหาย

 

  • วันเดียวกัน (25 มิถุนายน) ในโซเชียลมีเดีย ได้มีการแชร์เรื่องราว 2 สามี-ภรรยาอยู่ในห้องเช่า 7 วันเพราะติดโควิด-19 แต่ไม่มีเตียงรักษา ต้องกักตัวเองในห้องแคบๆ สุดท้ายสามีนั่งมองภรรยาสิ้นใจไปต่อหน้า

 

  • คำถามคือ กทม.-ปริมณฑล เหลือเตียงผู้ป่วยโควิด-19 ว่างเท่าไร? 

 

ข้อมูลล่าสุดที่หาได้ วันที่ 23 มิถุนายน จากกรมการแพทย์ โรงพยาบาลรัฐ ผู้ป่วยสีแดง เตียงว่างแค่ 23 เตียง จาก 446 เตียง / ผู้ป่วยสีเหลือง เตียงว่างแค่ 1,153 เตียง จากทั้งหมด 5,120 เตียง / ผู้ป่วยสีเขียว เตียงว่าง 1,417 เตียง จากทั้งหมด 5,782 เตียง

 

ส่วนโรงพยาบาลเอกชน เตียงว่างแค่ 108 เตียง จาก 937 เตียง / ผู้ป่วยสีเหลือง เตียงว่างแค่ 807 เตียง จากทั้งหมด 7,183 เตียง / ผู้ป่วยสีเขียว เตียงว่าง 2,840 เตียง จากทั้งหมด 11,004 เตียง จากข้อมูลจะเห็นว่าเตียงผู้ป่วยสีแดง เหลือว่างไม่ถึง 10%

 

  • แต่ข้อมูลล่าสุดเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ขณะนี้เตียงผู้ป่วย ICU แน่นมาก ต้องบริหารวันต่อวัน โดยขณะนี้เหลือเตียงว่างเพียงแค่ 2-3% เท่านั้น

 

  • วันเดียวกัน (25 มิถุนายน) สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ยอมรับในวิกฤตเตียงเต็ม ส่วนสถานการณ์เตียง ICU ขณะนี้เข้าขั้นวิกฤตแล้ว จึงอยากให้รัฐบาลส่งสัญญาณถึงประชาชนได้แล้ว ว่าขณะนี้สถานการณ์โรคระบาดในไทยกำลังตกอยู่ในภาวะวิกฤต

 

  • อย่างไรก็ตาม อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.สาธารณสุข ยังออกมายืนยันว่า เตียงยังมีเพียงพอเพราะขณะนี้โรงพยาบาลบุษราคัมยังเพิ่มศักยภาพเตียงได้อีกจาก 2,000 เตียง เป็น 5,000 เตียง แต่ปัญหาตอนนี้คือ จะทำอย่างไรเพื่อควบคุมพื้นที่ต่างๆ ในการลดการติดเชื้อ 

 

ส่วนที่มีการโพสต์ตามโลกออนไลน์ถึงปัญหาการรอเตียง อนุทินกล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขได้เข้าไปติดตามทันที มีการแก้ไขปัญหา แต่ก็มีบางกรณีที่เป็นเฟกนิวส์

 

  • ขณะที่ความพยายามจะแก้ปัญหานี้นั้น ศบค. ที่แถลงว่า มีแผนการขยายศักยภาพโรงพยาบาลและเตียงผู้ป่วย รองรับผู้ป่วยสีเหลืองและสีแดง รวม 471 เตียง แต่เริ่มเปิดได้วันที่ 10 กรกฎาคมนี้ 

 

พร้อมขอความร่วมมือโรงพยาบาลเอกชนในการแบ่งเตียง และขอสนับสนุนบุคลากรทางการแพทย์ในการเปิดเตียงในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยโรงเรียนแพทย์เสนอให้แพทย์จบใหม่ประมาณ 2,000 คน จะสามารถเข้ามาช่วยในเดือนกรกฎาคมนี้

 

  • หมอบอส แพทย์ประจำบ้าน เวชศาสตร์ฉุกเฉิน ประจำโรงพยาบาลรัฐขนาดใหญ่แห่งหนึ่งใน กทม. ให้สัมภาษณ์กับ THE STANDARD ในฐานะหมอด่านหน้าที่ต้องเผชิญปัญหานี้โดยตรง ยอมรับว่าหมอมีความกดดัน และเครียดอย่างมากที่ต้องตัดสินใจเลือกผู้ป่วยบางคนให้ได้รับการรักษา และทิ้งผู้ป่วยอีกคนให้รอ บางคืนต้องกลับมานอนคิดว่าเราตัดสินใจถูกหรือไม่ ผู้ป่วยที่เราทิ้งเขาจะอาการหนักขึ้นหรือเปล่า และถ้าเขาเสียชีวิตมันจะเป็นเพราะเราหรือไม่ นอกจากภาระงานที่หนัก แพทย์ด่านหน้ายังขาดขวัญกำลังใจอย่างมากในเวลานี้

 

  • จากข้อมูลและข้อเท็จจริงที่ปรากฏออกมา ถึงเวลาแล้วที่ต้องยอมรับความจริงว่าระบบสาธารณสุขของไทยสำหรับรองรับผู้ป่วยโควิด-19 ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลกำลังเข้าใกล้จุดล่มสลาย เรามาถึงจุดที่คนไทยต้องนอนป่วยรอความตายอยู่ในบ้าน นี่คือปัญหาเฉพาะหน้าที่ต้องเร่งแก้ไขอย่างสุดกำลังเพราะมีชีวิตประชาชนเป็นเดิมพัน ไม่ใช่มุ่งแก้ตัว และสื่อสารชวนเชื่อว่าสถานการณ์ยังดีอยู่ ทั้งที่มันสวนทางกับข้อเท็จจริงอย่างชัดเจน

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X