×

วิกฤตโควิด-19 ลุกลามเศรษฐกิจไทยเร็วและแรงกว่าคาด

โดย SCB WEALTH
18.03.2020
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

4 MINS. READ
  • นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่เห็นตรงกันว่าเศรษฐกิจโลกในปี 2020 มีโอกาสเข้าสู่ภาวะถดถอย (Recession) อย่างน้อยในช่วง 2 ไตรมาสแรกของปี 2020 เศรษฐกิจไทยก็อยู่ในข่ายดังกล่าว ล่าสุดนักเศรษฐศาสตร์เริ่มคาดการณ์ว่า GDP ในปี 2020 ของไทยมีโอกาสติดลบ
  • การระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและภาคธุรกิจไทยในวงกว้างขึ้น ไม่ใช่เพียงภาคท่องเที่ยว แต่เริ่มมีสัญญาณว่ากำลังกระทบต่อภาคอุตสาหกรรม ภาคบริการ และการใช้ชีวิตประจำวัน เนื่องจากจำนวนผู้ติดเชื้อในไทยยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
  • ผลกระทบด้านราคาหุ้น พบว่ากลุ่มที่มีราคาลดลงมากสุดคือปิโตรเคมี รองลงมาคือธนาคารและพลังงาน ตามลำดับ ส่วนกลุ่มที่ราคาปรับตัวลดลงน้อยที่สุดคือเกษตร

สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้พัฒนาความรุนแรงมาจนถึงระดับที่ส่งผลกระทบในวงกว้างไปทั่วโลก หลายประเทศประกาศปิดประเทศ หลายๆ กิจกรรมสำคัญถูกเลื่อน ไม่ว่าจะเป็นการเปิดตัวภาพยนตร์ เช่น James Bond 007: No Time to Die การแข่งขันกีฬาสำคัญถูกเลื่อน เช่น ฟุตบอลอังกฤษ ซึ่งแน่นอนว่ากำลังส่งผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจและการลงทุนรุนแรงชัดเจนขึ้นตามลำดับ

 

นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่เห็นตรงกันว่าเศรษฐกิจโลกในปี 2020 มีโอกาสเข้าสู่ภาวะถดถอย (Recession) อย่างน้อยในช่วง 2 ไตรมาสแรกของปี 2020 เศรษฐกิจไทยก็อยู่ในข่ายดังกล่าว ล่าสุดนักเศรษฐศาสตร์เริ่มคาดการณ์ว่า GDP ในปี 2020 ของไทยมีโอกาสติดลบ

 

ความกังวลเกี่ยวกับเศรษฐกิจถดถอยได้สะท้อนไปที่สภาวะการลงทุนในตลาดหุ้นทั่วโลกในช่วง 1-2 สัปดาห์ที่ผ่านมาอย่างเห็นได้ชัด โดยตลาดหุ้นทั่วโลกมีการปรับตัวลดลงแล้วกว่า 30% นับตั้งแต่ต้นปี นำโดยตลาดหุ้นสหรัฐฯ ซึ่งถือได้ว่าเข้าสู่ภาวะหมีเรียบร้อยแล้ว (Bear Market) และถือว่าเป็นการลดลงรุนแรงเกือบเทียบเท่ากับวิกฤตการเงินสหรัฐฯ ปี 2007-2008 ทั้งนี้ตลาดหุ้นสหรัฐฯ และไทยในบางวันลดลงหนักจนถึงระดับที่ต้องใช้ Circuit Breaker เป็นการหยุดการซื้อขายชั่วคราวเพื่อลดความตื่นตระหนกของนักลงทุน  

 

วิกฤตความเชื่อมั่นในตลาดหุ้นเป็นเสมือนสัญญาณที่ส่งไปให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ต้องเร่งประกาศลดอัตราดอกเบี้ยแบบฉุกเฉินถึง 2 รอบ จนอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Fed Fund Rate) ล่าสุดลดลงเหลือ 0-0.25% อยู่ในระดับเดียวกันกับช่วงวิกฤตการเงินสหรัฐฯ ไปเรียบร้อยแล้ว พร้อมกันนั้นธนาคารกลางสหรัฐฯ ยังได้นำมาตรการอัดฉีดเงินเพื่อเข้าซื้อสินทรัพย์ หรือ Quantitative Easing (QE) กลับมาใช้รอบใหม่ โดยกำหนดวงเงินเริ่มต้นไว้ที่ระดับ 7 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อซื้อพันธบัตรรัฐบาลและ ตราสารหนี้ที่ผูกกับสินเชื่อเงินกู้อสังหาริมทรัพย์ (Mortgage-backed Securities หรือ MBS)

 

มาตรการของธนาคารกลางสหรัฐฯ ครั้งล่าสุดนี้ถือเป็นการส่งสัญญาณให้ธนาคารกลางอื่นๆ ดำเนินนโยบายตามมาอีกหลายแห่ง ทั้งนี้ SCBS Research ประเมินว่าหากธนาคารกลางสหรัฐฯ ญี่ปุ่น ยุโรป และอังกฤษ อัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบตามที่ประกาศจะทำให้ปริมาณเงินในระบบเพิ่มขึ้น 1.87 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน ทั้งนี้เพื่อให้ตลาดการเงินมั่นใจได้ว่าจะไม่เกิดวิกฤตการเงินเหมือนในอดีต

 

นอกจากมาตรการด้านการเงินแล้ว รัฐบาลกลางทั่วโลก เช่น จีน สหรัฐฯ ญี่ปุ่น อิตาลี และอังกฤษ ยังได้เร่งอัดฉีดเงินเพื่อช่วยภาคธุรกิจและประชาชนทั้งในรูปแบบเงินกู้หรือภาษี เพื่อช่วยลดผลกระทบการระบาดของโควิด-19 โดยเฉลี่ยในวงเงิน 1-2% ของ GDP โดยประเทศไทยเองล่าสุดก็ได้มีการประกาศมาตรการเยียวยาเศรษฐกิจชุดที่ 1 วงเงิน 1 แสนล้านบาท  

 

ผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยมากกว่าท่องเที่ยว

การระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและภาคธุรกิจไทยในวงกว้างขึ้น ไม่ใช่เพียงภาคท่องเที่ยว แต่เริ่มมีสัญญาณว่ากำลังกระทบต่อภาคอุตสาหกรรม ภาคบริการ และการใช้ชีวิตประจำวัน เนื่องจากจำนวนผู้ติดเชื้อในไทยยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ล่าสุดเกิน 100 รายแล้ว

 

ทั้งนี้จากการติดตามข้อมูลของภาคธุรกิจในเดือนมกราคมถึงกุมภาพันธ์ เช่น ปริมาณการใช้ไฟฟ้าภาคอุตสาหกรรม ปริมาณรถยนต์ที่ใช้บริการทางด่วน ปริมาณการใช้บริการรถไฟฟ้า BTS และ MRT ฯลฯ เห็นได้ชัดเจนว่ามีสัญญาณชะลอตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ทำให้พอคาดได้ว่าตัวเลขเศรษฐกิจอย่างเป็นทางการของเดือนกุมภาพันธ์จะออกมาอ่อนแอเช่นกัน


เงินทุนต่างชาติไหลออกจากตลาดหุ้นและตลาดตราสารหนี้ไทย  

ตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลงอย่างรุนแรงต่อเนื่อง SET Index ได้ลดลงไปต่ำกว่า 1,000 จุด ก่อนฟื้นตัวมายืนเหนือได้เล็กน้อย แรงขายส่วนใหญ่มาจากนักลงทุนต่างชาติที่นับตั้งแต่ต้นปี 2020 มีมูลค่าขายสุทธิสะสมกว่า 8.3 หมื่นล้านบาทแล้ว 

 

เช่นเดียวกันกับตลาดตราสารหนี้ที่นักลงทุนต่างชาติมีมูลค่าขายสุทธิกว่า 6.4 หมื่นล้านบาท เนื่องจากนักลงทุนต่างชาติหันมาถือครองเงินสดมากขึ้น สถานการณ์ดังกล่าวมีผลกดดันให้ค่าเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าไปบริเวณ 32 บาท  

 

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณามูลค่าของตลาดหุ้นไทยโดยภาพรวม พบว่าอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าช่วงวิกฤตการเงินสหรัฐฯ ปี 2008 แล้วค่อนข้างมาก หากวัดจากระดับค่า PER Next 12 Months สะท้อนว่าราคาหุ้นโดยเฉลี่ยในปัจจุบันได้ลดลงไป สะท้อนความเสี่ยงของการปรับลดลงของกำไรสุทธิในอีก 12 เดือนข้างหน้าไปมากพอสมควรแล้ว

 

ผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมสามารถแบ่งได้เป็น 3 ประเด็น

  1. ผลกระทบด้านแนวโน้มธุรกิจ นักวิเคราะห์คาดว่ากลุ่มโรงแรมได้รับผลกระทบมากที่สุด กลุ่มขนส่ง กลุ่มพลังงาน ได้รับผลกระทบตามมา โดยกลุ่มสื่อสารได้รับผลกระทบน้อยที่สุด

 

  1. ผลกระทบด้านการปรับประมาณการกำไรสุทธิ นักวิเคราะห์ปรับลดประมาณการกำไรสุทธิปี 2020 กลุ่มโรงแรมมากที่สุด รองลงมาคือขนส่ง ตามมาด้วยพลังงานและปิโตรเคมี ส่วนกลุ่มที่ถูกปรับประมาณการกำไรสุทธิขึ้น ได้แก่ กลุ่มเกษตร

 

  1. ผลกระทบด้านราคาหุ้น พบว่ากลุ่มที่มีราคาลดลงมากสุดคือปิโตรเคมี รองลงมาคือธนาคารและพลังงาน ตามลำดับ ส่วนกลุ่มที่ราคาปรับตัวลดลงน้อยที่สุดคือเกษตร  


คำแนะนำสำหรับการลงทุน

เนื่องจากวิกฤตรอบนี้เกิดจากการระบาดของโควิด-19 ดังนั้นความเสี่ยงจะยังไม่จบจนกว่าจะควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ นักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้ต่ำ แนะนำ Wait & See แต่หากรับความเสี่ยงได้สูง แนะนำให้ซื้อขายภายในวัน ส่วนนักลงทุนระยะยาวสามารถเลือกซื้อหุ้นพื้นฐานดีมีปันผลได้ โดยอาศัยช่วงจังหวะที่ตลาดเกิด Panic Sell เชื่อว่าหากถือหุ้นไว้ 1 ปีขึ้นไปก็มีโอกาสได้ผลตอบแทนน่าพอใจ

 

หากประเมินสถานการณ์ให้ไกลขึ้น การลงทุนยังคงมีความเสี่ยงที่ต้องติดตาม โดยหากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ไม่จบภายในครึ่งปีแรกของปี 2563 ตามที่ตลาดคาดหวัง อาจทำให้ตลาดหุ้นทั่วโลกมี Downside เพิ่มขึ้น

 

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising