×

ทำความรู้จักโครงการ COVAX เสาหลักแห่งการเข้าถึงวัคซีนโควิด-19 อย่างเท่าเทียม ที่มี 172 ประเทศเข้าร่วมแล้ว

โดย THE STANDARD TEAM
25.08.2020
  • LOADING...
วัคซีนโควิด-19 COVAX WHO

HIGHLIGHTS

5 MINS. READ
  • โครงการ COVAX เกิดขึ้นภายใต้ความร่วมมือของกลุ่มพันธมิตรความร่วมมือด้านนวัตกรรมเพื่อรับมือโรคระบาด (Coalition for Epidemic Preparedness Innovations: CEPI) องค์กรกาวี (Gavi, the Vaccine Alliance) และองค์การอนามัยโลก ซึ่งทำงานร่วมกับผู้ผลิตวัคซีนทั้งในประเทศพัฒนาแล้วและประเทศกำลังพัฒนา
  • ปัจจุบันถือเป็นโครงการที่รวบรวมข้อมูลการพัฒนาวัคซีนจากกลุ่มวิจัยต่างๆ ไว้มากที่สุดในโลก รวมถึงวัคซีน 9 ตัวที่ได้รับการสนับสนุนจาก CEPI ซึ่ง 7 ตัวยังอยู่ระหว่างการทดลองทางคลินิกหรือทดลองในคน
  • โครงการนี้ใช้กลไกการจัดซื้อร่วมกันในการจัดหาวัคซีนโควิด-19 และใช้กรอบการจัดสรรวัคซีนที่กำหนดโดยองค์การอนามัยโลก เพื่อรับประกันการเข้าถึงวัคซีนอย่างเท่าเทียม โดยแบ่งตามสัดส่วนจำนวนประชากร และให้กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์เป็นกลุ่มแรก ก่อนจะขยายไปยังกลุ่มที่เปราะบาง เช่น ผู้สูงอายุและผู้ที่มีอาการป่วยจากโรคโควิด-19

องค์การอนามัยโลก (WHO) เปิดเผยเมื่อวานนี้ (24 สิงหาคม) ว่ามี 172 ประเทศ และแคนดิเดตวัคซีนโควิด-19 จากหลายกลุ่มวิจัยทั่วโลก ที่เข้าร่วมในโครงการ COVAX (COVID-19 Vaccine Global Access Facility) ซึ่งจัดตั้งขึ้นเพื่อสนับสนุนการเข้าถึงวัคซีนโควิด-19 ของประเทศต่างๆ ทั่วโลก โดย WHO มั่นใจว่าโครงการนี้ จะเป็นเสาหลักให้ทุกประเทศสามารถเข้าถึงวัคซีนต้านโควิด-19 ที่พัฒนาสำเร็จแล้วและผ่านการจดทะเบียนรับรองได้อย่างเท่าเทียมกัน

 

โครงการ COVAX นั้นเกิดขึ้นภายใต้ความร่วมมือของกลุ่มพันธมิตรความร่วมมือด้านนวัตกรรมเพื่อรับมือโรคระบาด (Coalition for Epidemic Preparedness Innovations: CEPI) องค์กรกาวี (Gavi, the Vaccine Alliance) และองค์การอนามัยโลก ซึ่งทำงานร่วมกับผู้ผลิตวัคซีนทั้งในประเทศพัฒนาแล้วและประเทศกำลังพัฒนา โดยถือเป็นโครงการริเริ่มเพียงโครงการเดียวที่มีการทำงานร่วมกับภาครัฐบาลและผู้ผลิตวัคซีน เพื่อให้แน่ใจได้ว่าวัคซีนโควิด-19 จะพร้อมแบ่งปันสำหรับทุกประเทศทั่วโลก

 

ปัจจุบัน COVAX ถือเป็นโครงการที่รวบรวมข้อมูลการพัฒนาวัคซีนจากกลุ่มวิจัยต่างๆ ไว้มากที่สุดในโลก รวมถึงวัคซีน 9 ตัวที่ได้รับการสนับสนุนจาก CEPI ซึ่ง 7 ตัวยังอยู่ระหว่างการทดลองทางคลินิกหรือทดลองในคน โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณวิจัยและพัฒนาจำนวน 1.4 พันล้านดอลลาร์ จากรัฐบาลของหลายประเทศ ตลอดจนองค์กรระหว่างประเทศ และผู้ผลิตวัคซีน รวมถึงบุคคลหลากหลายจากภาคเอกชน แต่ยังคงต้องการอีก 1 พันล้านดอลลาร์ เพื่อใช้ขับเคลื่อนการพัฒนาวัคซีนต่อไป 

 

นอกจากนี้ยังมีวัคซีนอีก 9 ตัวที่อยู่ระหว่างการประเมินเพื่อเพิ่มในโครงการ COVAX และจะมีการพิจารณาจัดหาวัคซีนโควิด-19 ที่เหมาะสมจากกลุ่มวิจัยอื่นๆ ทั่วโลกเพิ่มอีก 

 

ทั้งนี้เพื่อให้แน่ใจว่าวัคซีนต้านโควิด-19 จะมีเพียงพอสำหรับปกป้องประชากรทั่วโลก ในขั้นต่อไปของโครงการ COVAX คือการยืนยันถึงศักยภาพในการจัดหาเงินทุนด้วยตนเองของผู้ร่วมโครงการที่ตั้งใจจะเข้าร่วมภายในวันที่ 31 สิงหาคม ก่อนจะเปลี่ยนสิ่งเหล่านี้เป็นพันธกรณีในการเข้าร่วมโครงการ COVAX ภายในวันที่ 18 กันยายน แต่จะต้องมีการชำระเงินล่วงหน้า โดยงวดแรกไม่เกินวันที่ 9 ตุลาคม

 

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ในเดือนมิถุนายน ทางองค์กรกาวี ยังได้เปิดตัว COVAX Advance Market Commitment (AMC) ซึ่งเป็นเครื่องมือสนับสนุนด้านการเงินสำหรับผู้ร่วมโครงการ และมีจุดมุ่งหมายเพื่อสนับสนุนทางการเงินแก่ 92 ประเทศที่มีรายได้ปานกลางและรายได้ต่ำ

 

โดย COVAX AMC นั้นสามารถระดมเงินทุนได้แล้วมากกว่า 600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากเป้าหมาย 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐภายในสิ้นปีนี้ นอกจากนี้ยังมีอีก 80 ประเทศรายได้สูง ที่จะใช้งบประมาณส่วนตัวในการร่วมสนับสนุนเงินทุนให้ได้ตามเป้า ซึ่งเงินทุนจาก COVAX AMC จะเป็นเครื่องมือรับประกันว่าศักยภาพในการจ่ายเงินของประเทศที่ร่วมโครงการจะไม่ใช่กำแพงปิดกั้นการเข้าถึงวัคซีนโควิด-19 

 

“การเข้าถึงวัคซีนโควิด-19 อย่างเท่าเทียมกัน เป็นกุญแจสำคัญในการเอาชนะไวรัสและปูทางไปสู่การฟื้นตัวจากการระบาด นี่ไม่ใช่การแข่งขันที่สามารถมีผู้ชนะเพียงไม่กี่รายได้ และ COVAX เป็นส่วนสำคัญในทางออกของวิกฤต เพื่อให้แน่ใจว่าทุกประเทศจะได้รับประโยชน์จากการเข้าถึงผลงานพัฒนาวัคซีนที่ใหญ่ที่สุดในโลกของกลุ่มวิจัยต่างๆ ด้วยความยุติธรรมและแจกจ่ายวัคซีนอย่างเท่าเทียมกัน” สเตฟาน เลอเวน นายกรัฐมนตรีสวีเดน กล่าวถึงความสำคัญของโครงการ COVAX 

 

สำหรับโครงการ COVAX จะใช้กลไกการจัดซื้อร่วมกันในการจัดหาวัคซีนโควิด-19 และใช้กรอบการจัดสรรวัคซีนที่กำหนดโดยองค์การอนามัยโลก เพื่อรับประกันการเข้าถึงวัคซีนอย่างเท่าเทียม 

 

ภายใต้กลไกนี้ โครงการ COVAX จะรวบรวมกำลังซื้อจากประเทศที่เข้าร่วมและให้การรับประกันปริมาณการสั่งซื้อจากกลุ่มวิจัยวัคซีนที่มีแนวโน้มประสบความสำเร็จ ก่อนจะเปิดทางให้ผู้ผลิตวัคซีนที่มีความเชี่ยวชาญ ขยายการผลิตในสเกลใหญ่ ซึ่งแม้การลงทุนด้านการผลิตวัคซีนในช่วงต้นจะมีความเสี่ยง แต่ก็ทำให้ประเทศที่เข้าร่วมมีโอกาสเข้าถึงวัคซีนโควิด-19 ที่พัฒนาสำเร็จแล้วได้อย่างรวดเร็ว

 

นอกจากนี้ความสำเร็จของโครงการ COVAX ไม่เพียงขึ้นอยู่กับการลงนามเข้าร่วมของประเทศต่างๆ แต่ยังเป็นการสนับสนุนเงินทุนเพื่อปิดช่องว่างด้านการวิจัยและพัฒนา ตลอดจนกลไกในการสนับสนุนประเทศผู้เข้าร่วมที่มีรายได้น้อยด้วย

 

“โควิด-19 เป็นความท้าทายด้านสาธารณสุขระดับโลกที่ไม่เคยมีมาก่อน ซึ่งสามารถรับมือได้ด้วยความร่วมมือที่ไม่เคยมีมาก่อนระหว่างรัฐบาล นักวิจัย ผู้ผลิต และพันธมิตรระดับพหุภาคี ด้วยการรวบรวมทรัพยากรและดำเนินการอย่างเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันผ่าน ACT Accelerator (กลไกความร่วมมือเพื่อช่วยเร่งการพัฒนาและผลิตวัคซีน) และโครงการ COVAX เราสามารถแน่ใจได้ว่าเมื่อมีวัคซีนสำหรับโควิด-19 มันจะสามารถเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียมกันสำหรับทุกประเทศ” ดร.ทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลกระบุ

 

เป้าหมายของโครงการ COVAX คือการส่งมอบวัคซีน 2 พันล้านโดสให้แก่นานาประเทศทั่วโลกที่ร่วมโครงการได้ภายในสิ้นปี 2021 โดยวัคซีนทั้งหมดจะต้องมีประสิทธิภาพและความปลอดภัย และผ่านการจดทะเบียนรับรองหรือผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติเบื้องต้นจาก WHO แล้ว  

 

ขณะที่การแจกจ่ายวัคซีนจะเป็นไปอย่างเท่าเทียมกัน โดยแบ่งตามสัดส่วนจำนวนประชากร และให้กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์เป็นกลุ่มแรก ก่อนจะขยายไปยังกลุ่มที่เปราะบาง เช่น ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีอาการป่วยจากโรคโควิด-19 ส่วนการให้วัคซีนเพิ่มเติมจะขึ้นอยู่กับความจำเป็นและสถานการณ์ระบาดของแต่ละประเทศ ซึ่งโครงการ COVAX จะยังคงจัดเก็บวัคซีนไว้สำหรับการใช้งานฉุกเฉินและการใช้งานด้านมนุษยธรรม รวมถึงใช้รับมือกับการระบาดร้ายแรงก่อนที่จะไม่สามารถควบคุมได้

 

ข้อมูลจาก WHO ระบุว่า ปัจจุบันมีแคนดิเดตวัคซีน 9 ตัวที่อยู่ในระหว่างประเมินเพื่อบรรจุในโครงการ COVAX โดยจำนวนนี้มาจากจีน 2 ชนิด จากสหรัฐฯ 2 ชนิด และสหราชอาณาจักร 1 ชนิด

 

ส่วนประเทศที่แสดงความสนใจเข้าร่วมมี 80 ประเทศ ซึ่งรวมถึง 43 ประเทศที่อนุญาตให้เปิดเผย ได้แก่ อาร์เจนตินา, บราซิล, แคนาดา, ชิลี, โครเอเชีย, นิวซีแลนด์, นอร์เวย์, โปรตุเกส, สิงคโปร์, สหราชอาณาจักร, ไอร์แลนด์เหนือ เป็นต้น 

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising