เมื่อวันที่ 11 ธันวาคมที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ออกเอกสารเผยแพร่ข่าวระบุว่า ที่ประชุม กกต. ได้พิจารณาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐาน พร้อมทั้งความเห็นของนายทะเบียนพรรคการเมือง กรณีพรรคอนาคตใหม่กู้ยืมเงินจาก ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ที่ประชุมเห็นว่าการที่พรรคอนาคตใหม่กู้ยืมเงินจากธนาธรเป็นเงินจำนวน 191,200,000 บาท เป็นการกระทำอันฝ่าฝืน พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 72
จึงมีมติด้วยคะแนนเสียงข้างมากให้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณายุบพรรคอนาคตใหม่ตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 92 วรรคหนึ่ง (3) ประกอบมาตรา 93
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับมาตรา 72 ระบุว่าห้ามมิให้พรรคการเมืองและผู้ดํารงตําแหน่งในพรรคการเมืองรับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด โดยรู้หรือควรจะรู้ว่าได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือมีเหตุอันควรสงสัยว่ามีแหล่งที่มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
คำถามที่ตามมาคือจะเกิดอะไรขึ้นหลังจากนี้
สติธร ธนานิธิโชติ รักษาการผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า ให้สัมภาษณ์กับ THE STANDARD ว่า ถ้ายึดตามเอกสารแถลงข่าวสั้นๆ ของ กกต. เท่ากับว่า กกต. เลือกใช้มาตรา 72 ของ พ.ร.ป. พรรคการเมือง ในการเอาผิดกับพรรคอนาคตใหม่ ดังนั้นผลในทางลบหากยึดตามกฎหมายข้อนี้คือพรรคอนาคตใหม่จะถูกยุบพรรค กรรมการบริหารพรรคถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง (ไม่กำหนดปี) ขณะที่ ส.ส. ของพรรคต้องหาสังกัดใหม่ภายใน 60 วัน
ขณะที่หากกรรมการบริหารพรรคทั้ง 15 คนถูกสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง ส่วนกรรมการบริหารพรรคที่เป็น ส.ส. บัญชีรายชื่อ 10 คนจะพ้นจากตำแหน่งด้วย
- ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ (ไม่ได้เป็น ส.ส.)
- ปิยบุตร แสงกนกกุล (ส.ส. บัญชีรายชื่อ)
- กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ (ส.ส. บัญชีรายชื่อ)
- ชำนาญ จันทร์เรือง (ส.ส. บัญชีรายชื่อ)
- พล.ท. พงศกร รอดชมภู (ส.ส. บัญชีรายชื่อ)
- รณวิต หล่อเลิศสุนทร (ไม่ได้เป็น ส.ส.)
- นิติพัฒน์ แต้มไพโรจน์ (ไม่ได้เป็น ส.ส.)
- ไกลก้อง ไวทยการ (ส.ส. บัญชีรายชื่อ)
- พรรณิการ์ วานิช (ส.ส. บัญชีรายชื่อ)
- สุรชัย ศรีสารคาม (ส.ส. บัญชีรายชื่อ)
- เยาวลักษณ์ วงษ์ประภารัตน์ (ส.ส. บัญชีรายชื่อ)
- ชัน ภักดีศรี (ไม่ได้เป็น ส.ส.)
- เจนวิทย์ ไกรสินธุ์ (ส.ส. บัญชีรายชื่อ)
- สุนทร บุญยอด (ไม่ได้เป็น ส.ส.)
- จารุวรรณ ศรัณย์เกตุ (ส.ส. บัญชีรายชื่อ)
อย่างไรก็ตาม กรณี ส.ส. บัญชีรายชื่อ 10 คนที่เป็นกรรมการบริหารพรรค หากพ้นจากตำแหน่งจะถูกทดแทนอย่างไรนั้นยังมีปัญหาทางข้อกฎหมายให้พิจารณา เบื้องต้นมี 3 ทาง ได้แก่
- ดันบัญชีรายชื่อ 10 คนท้ายของพรรคอนาคตใหม่ขึ้นมาแทน
- คำนวณ ส.ส. ใหม่โดยปัดเศษสูงสุด 10 อันดับแรกจากพรรคต่างๆ ขึ้นมาแทน
- ไม่ต้องทำอะไร ให้สภาเหลือเท่าที่มีอยู่จาก 500 คน เหลือ 490 คน
นอกจากนี้ยังมีประเด็นใหญ่ที่ต้องติดตามคือในส่วนของคดีอาญา หากศาลรัฐธรรมนูญตัดสินยุบพรรคอนาคตใหม่ กกต. สามารถส่งดำเนินคดีอาญากรรมการบริหารพรรคตามมาตรา 126 พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง โทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 5 ปี
และอย่าลืมว่าก่อนหน้านี้ในคดีหุ้นสื่อฯ กกต. ยังอยู่ระหว่างชั้นไต่สวนเพื่อยื่นฟ้องในคดีอาญาตามมาตรา 151 พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญเลือกตั้ง ส.ส. โทษจำคุก 1-10 ปี ปรับ 20,000-100,000 บาท เพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 20 ปี
ภาพประกอบ: ฉัตรชัย เฉยชิต