วันนี้ (15 พฤศจิกายน) ศาลอาญากรุงเทพใต้พิพากษาจำคุก 3 จำเลย ประกอบด้วย รุ้ง-ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล, ไมค์-ภาณุพงศ์ จาดนอก และ อรรถพล บัวพัฒน์ หรือ ครูใหญ่ ในคดีร่วมชุมนุมม็อบตีหม้อไล่เผด็จการเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2564 โดยลงโทษจำคุกคนละ 9 เดือน ปรับคนละ 525 บาท
ย้อนพฤติการณ์แห่งคดีตามคำฟ้องอัยการ
คำฟ้องอัยการระบุพฤติการณ์สรุปว่า เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2564 จำเลยทั้งสามกับนักกิจกรรมรายอื่นอีก 8 คน ได้ร่วมกันกระทำความผิด โดยทั้งสามได้ร่วมกันจัดการชุมนุมทางการเมืองในนามกลุ่มราษฎร ในระหว่างที่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ที่บริเวณด้านหน้าของหอศิลป์ฯ แยกปทุมวัน กรุงเทพมหานคร โดยไม่มีมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรค
ในระหว่างการชุมนุม จำเลยทั้ง 3 คนและกลุ่มผู้ชุมนุมยังได้ใช้โทรโข่งขยายเสียงปราศรัย อันเป็นการใช้เครื่องขยายเสียง และยังได้ร่วมกันตั้งเวทีและเก้าอี้บนถนนบริเวณหน้าหอศิลป์ฯ โดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานจราจร มีการพ่นสีลงบนถนนหน้าห้างมาบุญครอง และต่อมายังได้นำผู้ชุมนุมเดินเท้าไปยัง สน.ปทุมวัน
และจำเลยทั้ง 3 คนซึ่งมีหน้าที่สั่งการในการชุมนุม ได้ปล่อยให้ผู้ชุมนุมกีดขวางทางสาธารณะจนเป็นอุปสรรคต่อการจราจร รวมถึงจำเลยทั้ง 3 คนและนักกิจกรรมรายอื่นยังได้ร่วมกันปราศรัยที่หน้า สน.ปทุมวัน เพื่อให้ปล่อยตัวแกนนำที่ถูกจับกุม จากนั้นผู้ชุมนุมได้กระจายตัวล้อม สน. พร้อมทั้งปาประทัด ขวดน้ำ และของแข็งเข้าไปในพื้นที่ สน. อันเป็นการมั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป กระทำการให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง โดยมีจำเลยทั้ง 3 คนเป็นผู้สั่งการ
อีกทั้งยังมีเจตนาทำร้ายเจ้าหน้าที่ตำรวจที่กำลังวางแนวป้องกันสถานที่ เป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่ 7 คนได้รับบาดเจ็บ รถยนต์ที่จอดอยู่บริเวณ สน.ปทุมวัน ซึ่งเป็นทรัพย์สินของทางราชการที่ใช้ในการสืบสวนคดีอาญาและใช้จับกุมผู้กระทำความผิด เกิดความเสียหาย คิดเป็นค่าเสียหาย 155,586 บาท
ศาลลงโทษคดีใดบ้าง
ศาลพิเคราะห์เห็นว่า จำเลยทั้ง 3 คนมีความผิด 3 ข้อหา ได้แก่ ใช้กำลังประทุษร้าย โดยเป็นหัวหน้าหรือผู้สั่งการ ตามมาตรา 215, กีดขวางทางสาธารณะ ตามมาตรา 385 และ พ.ร.บ.เครื่องขยายเสียง รวมลงโทษจำคุกคนละ 1 ปี ปรับคนละ 700 บาท
แต่จำเลยให้การเป็นประโยชน์มีเหตุให้ลดโทษ 1 ใน 4 คงจำคุกคนละ 9 เดือน ปรับคนละ 525 บาท ไม่รอลงอาญา และให้ยกฟ้อง 4 ข้อหา ได้แก่ ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน, ทำร้ายเจ้าพนักงาน, ร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ และ พ.ร.บ.ความสะอาด
หลังจากศาลอ่านคำพิพากษาเสร็จสิ้น ทนายได้ยื่นขอประกันตัวจำเลยทั้ง 3 คน ต่อมาศาลอาญากรุงเทพใต้มีคำสั่งให้ประกันตัวจำเลยทั้ง 3 คน โดยวางหลักทรัพย์คนละ 25,000 บาท รวม 3 คนเป็นหลักทรัพย์ 75,000 บาท โดยใช้เงินจากกองทุนราษฎรประสงค์
อ้างอิง:
- ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน
- https://tlhr2014.com/archives/61504