×

ศาล รธน. สั่งรักษาความปลอดภัยตลอดวัน ในวันอ่านคำวินิจฉัยคดียุบพรรคก้าวไกลและถอดเศรษฐา

โดย THE STANDARD TEAM
31.07.2024
  • LOADING...
ศาล รธน. ยุบพรรคก้าวไกล ถอดเศรษฐา

วันนี้ (31 กรกฎาคม) ศาลรัฐธรรมนูญเผยแพร่เอกสารข่าว โดยระบุว่า ตามที่ศาลรัฐธรรมนูญนัดอ่านคำวินิจฉัย เรื่องพิจารณาที่ 10/2566 เรื่อง คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยเพื่อมีคำสั่งยุบพรรคก้าวไกล ในวันพุธที่ 7 สิงหาคม 2567

 

และเรื่องพิจารณาที่ 17/2567 เรื่อง ประธานวุฒิสภาส่งคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าความเป็นรัฐมนตรีของ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ พิชิต ชื่นบาน รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สิ้นสุดลงเฉพาะตัวหรือไม่ ในวันพุธที่ 14 สิงหาคม 2567 นั้น

 

เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยในบริเวณที่ทำการศาลรัฐธรรมนูญ คุ้มครองประโยชน์สาธารณะ และเพื่อให้การดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญเป็นไปด้วยความเรียบร้อยและมีประสิทธิภาพ ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่ง ดังนี้

 

  1. กำหนดบุคคลให้เฉพาะผู้ร้อง ผู้ถูกร้อง ผู้รับมอบอำนาจ หรือผู้รับมอบฉันทะ หรือผู้ที่ศาลรัฐธรรมนูญอนุญาต รวมทั้งเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติหน้าที่เท่านั้น อยู่ในห้องพิจารณาคดีเพื่อรับฟังการอ่านคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในวันดังกล่าว และให้สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญจัดให้มีช่องทางการรับฟังการอ่านคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนและสื่อมวลชน

 

  1. ประกาศกำหนดอาณาบริเวณหรือพื้นที่ที่กำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญและสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญใช้เป็นสถานที่ปฏิบัติงาน รักษาความปลอดภัยและความสงบเรียบร้อยต่อไป ดังนี้

 

2.1 ในวันพุธที่ 7 สิงหาคม 2567 เวลา 00.01 นาฬิกา ถึงเวลา 23.59 นาฬิกา สำหรับการอ่านคำวินิจฉัยเรื่องพิจารณาที่ 10/2567 เรื่อง กกต. ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยเพื่อมีคำสั่งยุบพรรคก้าวไกล

 

2.2 ในวันพุธที่ 14 สิงหาคม 2567 เวลา 00.01 นาฬิกา ถึงเวลา 23.59 นาฬิกา สำหรับการอ่านคำวินิจฉัยเรื่องพิจารณาที่ 17/2567 เรื่อง ประธานวุฒิสภาส่งคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 ว่า ความเป็นรัฐมนตรีของ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ พิชิต ชื่นบาน รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (4) และ (5) หรือไม่

 

ทั้งนี้ ท้ายเอกสารมีข้อความระบุว่า “ความรู้ทางกฎหมายเพื่อประโยชน์สังคม: บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

 

พุทธศักราช 2560 มาตรา 34 แต่หากเป็นกรณีการแสดงความเห็นในลักษณะของการวิจารณ์คำสั่งหรือคำวินิจฉัยคดีที่มิได้กระทำโดยสุจริต โดยใช้ถ้อยคำที่มีความหมายหยาบคาย เสียดสี หรืออาฆาตมาดร้าย เป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มาตรา 38 และมาตรา 39 และอาจเป็นความผิดฐานดูหมิ่นศาลตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 198”

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising