สั่งปรับ ป.ป.ช. ไม่เปิดสำนวนคดีนาฬิกาประวิตร
วานนี้ (8 พฤษภาคม) วีระ สมความคิด ประธานเครือข่ายประชาชนต้านคอร์รัปชัน (คปต.) ได้เผยแพร่คำสั่งศาลปกครองกลางล่าสุด ลงวันที่ 2 พฤษภาคม 2567 ส่งมาถึงวีระในวันเดียวกัน โดยมีรายละเอียดระบุว่า วันที่รอคอยมาถึงแล้ว ในที่สุดศาลปกครองกลางมีคำสั่งให้ปรับผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง (สำนักงาน ป.ป.ช. ภาค 1 และคณะกรรมการ ป.ป.ช. ภาค 2) เป็นเงินขั้นต่ำสุด 5,000 บาท และให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ทราบคำสั่งนี้
วีระระบุอีกว่า หลังจากนี้จะยื่นฟ้องคดีต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง เพื่อนำผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองไปรับโทษในคุกต่อไป เพราะคำสั่งศาลปกครองกลางในวันนี้ คือหลักฐานที่ยืนยันว่า ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองได้กระทำความผิดจริง ตามที่วีระยื่นคำร้องขอให้ศาลปกครองรีบบังคับคดีกับผู้ถูกฟ้องทั้งสอง กรณีผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองมีเจตนาท้าทายอำนาจศาลปกครอง ไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด ทั้งๆ ที่คดีถึงที่สุดแล้ว ไม่ยอมให้เอกสารที่เกี่ยวกับการตรวจสอบกรณีนาฬิกา 22 เรือนของ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ ทั้ง 3 รายการ กับวีระ ผู้ฟ้องคดี
ต่อมาศาลปกครองกลางต้องเรียกคู่ความทั้งสองมาทำการไต่สวนอีกครั้งในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2567 ในที่สุดศาลปกครองกลางก็มีคำสั่งลงวันที่ 2 พฤษภาคม 2567 โดยสรุปว่า ที่ผ่านมาผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองไม่ได้ปฏิบัติตามคำบังคับของศาลปกครองให้ถูกต้องครบถ้วน และล่าช้าเกินสมควร โดยไม่มีเหตุอันสมควร
ศาลปกครองกลางจึงมีคำสั่งลงโทษให้ปรับผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง และบังคับให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองต้องปฏิบัติตามคำพิพากษาภายใน 15 วัน นับแต่ได้รับทราบคำสั่งนี้
ศาลปกครองสูงสุดพิพากษาชี้ขาด ให้เปิดเผยข้อมูลผลสอบนาฬิกาหรู
เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2566 ศาลปกครองสูงสุดพิพากษาให้ ป.ป.ช. ต้องกระทำตามหน้าที่ โดยเปิดเผยข้อมูลข่าวสารดังกล่าว
ศาลปกครองสูงสุดให้เหตุผลโดยสรุปว่า ข้อมูลที่ผู้ร้องขอ ขอให้ ป.ป.ช. เปิดเผยเป็นข้อมูลที่อยู่ในความครอบครองของ ป.ป.ช. และมีที่มามาจากการปฏิบัติหน้าที่ของ ป.ป.ช. ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐ เป็นข้อมูลข่าวสารราชการตามพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540
ผู้ถูกฟ้องคดีมีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะต้องปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร (กวฉ.)
ทั้งนี้ ข้อมูลที่ผู้ร้องขอขอให้เปิดเผยไม่ได้มีลักษณะจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศ หรืออาจทำให้การบังคับใช้กฎหมายของผู้ถูกฟ้องคดีเสื่อมประสิทธิภาพหรือเป็นอุปสรรคต่อการทำงานของ ป.ป.ช.
อีกทั้งข้อมูลดังกล่าวได้ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้วเป็นคนละมูลกันกับกรณีที่อ้างมา การเปิดเผยข้อมูลจึงไม่เป็นอุปสรรคต่อการทำงานของ ป.ป.ช. รวมถึงข้อกล่าวอ้างอื่นๆ ที่ ป.ป.ช. ยกอ้างขึ้นอุทธรณ์ก็ฟังไม่ขึ้นเช่นเดียวกัน
นอกจากนี้ ศาลปกครองสูงสุดให้เหตุผลประกอบเพิ่มเติมอีกว่า การเปิดเผยข้อมูลจะแสดงให้เห็นถึงความโปร่งใสของ ป.ป.ช. อันเป็นการคำนึงถึงหลักประโยชน์สาธารณะและประโยชน์เอกชนที่เกี่ยวข้อง
โดยคดีนี้ผู้สื่อข่าวของสำนักข่าวออนไลน์แห่งหนึ่งยื่นฟ้อง ป.ป.ช. ต่อศาลปกครองชั้นต้นเมื่อปี 2562 หลังจากมีหนังสือถึง ป.ป.ช. ขอข้อมูลเกี่ยวกับคดีนาฬิกาหรูของ พล.อ. ประวิตร
อ้างอิง: