×

ศาลแพ่งมีคำสั่งให้ คปท.-ศปปส. เลิกชุมนุมเชิงสะพานชมัยมรุเชฐ ข้างทำเนียบภายใน 7 วัน ชี้ใช้สิทธิเกินสมควร ทำประชาชนเดือดร้อน

โดย THE STANDARD TEAM
17.07.2024
  • LOADING...

วันนี้ (17 กรกฎาคม) ศาลแพ่งออกจดหมายข่าวระบุว่า สืบเนื่องมาจากวานนี้ (16 กรกฎาคม) ผู้กำกับการสถานีตำรวจนครบาลนางเลิ้ง ยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งยกเลิกการชุมนุมคดีของกลุ่มเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) ร่วมกับกลุ่มศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) ที่จัดการชุมนุมค้างคืนบริเวณเชิงสะพานชมัยมรุเชฐ ถนนพิษณุโลก แขวงสวนจิตรลดา เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร กับขอให้ศาลมีคำสั่งให้กลุ่มผู้ชุมนุมรื้อถอนเต็นท์ที่ปิดทับช่องจราจรและป้ายรถโดยสารประจำทาง เปิดช่องทางการจราจรบนถนนพิษณุโลกเพิ่มหนึ่งช่องทางจากที่ปิด 2 ช่องทาง และให้กลุ่มผู้ชุมนุมหยุดกิจกรรมชุมนุมในวันที่ 29 กรกฎาคม 2567

 

ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานของผู้ร้องแล้วมีคำสั่งวันนี้ เห็นว่าการที่กลุ่มผู้ชุมนุม ผู้ถูกร้อง ชุมนุมโดยกางเต็นท์และปลูกต้นไม้บนฟุตปาธและผิวจราจร 2 ช่องทางตลอดแนวบนถนนพิษณุโลก ตั้งแต่หน้ามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนครถึงแยกพณิชยการพระนคร ทำให้เหลือช่องจราจร 2 ช่องทาง ตั้งแต่วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2567 ต่อเนื่องถึงปัจจุบัน เป็นเวลานานกว่า 5 เดือน เป็นเหตุให้อาจารย์ เจ้าหน้าที่ และนักศึกษา ได้รับความเดือดร้อนในการเข้า-ออกมหาวิทยาลัย 

 

กลุ่มผู้ชุมนุมยังปราศรัยเสียงดังรบกวนการเรียนการสอน ตั้งเต็นท์ปิดบังป้ายรถประจำทาง ที่ผ่านมากว่า 10 ปี มีกลุ่มผู้ชุมนุมหลายกลุ่ม มหาวิทยาลัยไม่มีปัญหา แต่ครั้งนี้นักศึกษาต้องขึ้นรถประจำทางกลางถนน ไม่ปลอดภัย มหาวิทยาลัยพยายามนัดเจรจา แต่กลุ่มผู้ชุมนุมหลีกเลี่ยงไม่มาพบ

 

นอกจากนี้ กลุ่มผู้ชุมนุมมีรถสุขาเคลื่อนที่ 2 คัน ส่งกลิ่นเหม็นเข้ามาภายในบริเวณมหาวิทยาลัย ต่อมามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนครจึงมีหนังสือถึงผู้ร้อง ขอให้แก้ปัญหาจากการปักหลักชุมนุมตามหนังสือฉบับลงวันที่ 27 มิถุนายน 2567 บุคลากร นักศึกษา ให้ข้อมูลผลกระทบจากการไม่มีป้ายรถประจำทาง ไม่มีที่หลบแดด หลบฝน และนักศึกษา 701 คน รวมตัวกันลงลายมือชื่อเป็นผู้ได้รับความเดือดร้อน 

 

เช่นนี้ถือได้ว่าเป็นการชุมนุมสาธารณะที่ขัดขวางเกินสมควรต่อประชาชนและนักศึกษาที่จะใช้ถนนสาธารณะ ก่อให้เกิดความไม่สะดวกแก่ประชาชนและนักศึกษาที่จะใช้ที่สาธารณะ ได้รับความเดือดร้อนเกินที่พึงคาดหมายได้ว่าเป็นไปตามเหตุอันควร ตามพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 มาตรา 15 (2) และ 16 (1) 

 

ผู้ร้องในฐานะเจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะได้แจ้งประกาศให้กลุ่มผู้ชุมนุม ผู้ถูกร้อง แก้ไขรวมถึง 4 ครั้ง แต่เพิกเฉย ผู้ร้องชอบที่จะยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งเลิกการชุมนุมได้ตามพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 มาตรา 21 วรรคสอง ตามพฤติการณ์ที่กลุ่มผู้ชุมนุมได้ชุมนุมบนฟุตปาธและถนนสาธารณะมานานกว่า 5 เดือน นับว่าผู้ชุมนุมได้ใช้เสรีภาพแสดงความคิดเห็นของตนอย่างเพียงพอแล้ว 

 

“เมื่อการชุมนุมส่งผลกระทบต่อการเรียนการสอน และความปลอดภัยในการเดินทางของนักศึกษา การชุมนุมนานไปกว่านี้ถือเป็นการเอาแต่ใช้สิทธิของกลุ่มตนเกินสมควรไปมาก โดยไม่คำนึงถึงความเดือดร้อนของประชาชนคนอื่น จึงเห็นควรมีคำสั่งให้กลุ่มผู้ชุมนุมตามคำร้องเลิกการชุมนุมสาธารณะตามพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 มาตรา 22 จึงมีคำสั่งให้กลุ่มผู้ชุมนุมตามคำร้องเลิกการชุมนุมสาธารณะภายในเวลา 7 วัน นับแต่วันที่ศาลมีคำสั่งเป็นต้นไป” 


  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X