×

ศาลรับฟ้องสื่อ-ประชาชน ขอเพิกถอนข้อกำหนด ห้ามเสนอข่าวสร้างความหวาดกลัว เตรียมไต่สวนคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราววันนี้

02.08.2021
  • LOADING...
ศาลรับฟ้องสื่อ-ประชาชน

วันนี้ (2 สิงหาคม) เวลา 10.00 น. ที่ศาลแพ่ง ถนนรัชดาภิเษก สื่อมวลชนและประชาชนนำโดย The Reporters, Voice, THE STANDARD, The Momentum, THE MATTER, ประชาไท, Dem All, The People, way magazine, echo, PLUS SEVEN และประชาชนเบียร์ พร้อมทีมทนายความจากภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน รวมตัวยื่นฟ้อง พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และเป็นผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 กรณีออกข้อกำหนดฉบับที่ 29 ให้อำนาจ กสทช. ‘ตัดเน็ต’ ผู้โพสต์ข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว ซึ่งเป็นการออกคำสั่งโดยไม่มีอำนาจ ไม่มีความจำเป็น ไม่ได้สัดส่วน และขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560

 

โดยขอให้ศาลเพิกถอนข้อกำหนดฉบับที่ 29 เนื่องจากการห้ามเผยแพร่ ‘ข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว’ เป็นการบัญญัติที่คลุมเครือ ไม่ชัดเจน อาจตีความได้ว่า แม้ข้อความนั้นเป็น ‘เรื่องจริง’ ก็อาจจะเป็นการฝ่าฝืนข้อกำหนดนี้ และถูกระงับสัญญาณอินเทอร์เน็ตได้ และในวันเดียวกันนี้ จะยื่นคำร้องขอให้ศาลไต่สวนฉุกเฉินเพื่อคุ้มครองเสรีภาพของประชาชนด้วย

 

อีกทั้ง การที่ให้ กสทช. สั่งระงับสัญญาณจาก IP Address เป็นสิ่งที่จะทำให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยในบ้านเมืองแน่นอน เพราะ IP Address ไม่ได้ระบุเฉพาะเจาะจงต่อบุคคลเหมือนเลขบัตรประชาชน แต่เป็นเหมือนบ้านเลขที่ที่สามารถใช้ร่วมกันได้หลายๆ คน ผ่านไวไฟที่อาจมีคนเข้าใช้อินเทอร์เน็ตโดยไม่ได้รับความยินยอม เช่น แอบรู้รหัส หรือแฮ็กเข้ารหัสได้ นอกจากนี้หมายเลข IP Address ที่ User เข้าใช้งานแต่ละครั้งจะไม่ซ้ำกัน หาก กสทช. ตรวจพบข้อความที่เห็นว่าเป็นการกระทำความผิดล่าช้า ผู้ที่ถูกระงับสัญญาณอาจไม่ใช่ผู้ที่เผยแพร่ข้อความดังกล่าวแล้วก็ได้ นอกจากนี้ในสถานการณ์โรคระบาดโควิดที่ประเทศไทยกำลังเผชิญอยู่ ประชาชนต้องเข้าถึงสิทธิการฉีดวัคซีน สิทธิเยียวยาจากรัฐด้วยการลงทะเบียนผ่านอินเทอร์เน็ต นี่ยังไม่นับรวมมาตรการของรัฐ ที่จำกัดการเดินทางและการพบปะสมาคมของประชาชน ดังนั้นอินเทอร์เน็ตจึงเป็นสิ่งจำเป็นต่อการดำรงชีพในสถานการณ์เช่นนี้ อย่างไรก็ดี มาตรา 9 (3) แห่ง พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ ไม่ได้ให้อำนาจนายกรัฐมนตรีในการสั่ง ‘ตัดอินเทอร์เน็ต’ หรือการระงับการติดต่อสื่อสารระหว่างกัน

 

ดังนั้น ข้อกำหนดดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะขัดต่อหลักนิติธรรมไม่จำเป็นและไม่ได้สัดส่วน ทั้งผู้ออกก็ใช้ดุลพินิจในการออกข้อกำหนดโดยมิชอบเพราะไม่มีฐานของกฎหมายให้อำนาจ เป็นการละเมิด จำกัดและกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนทุกคน ซึ่งได้รับการรับรองคุ้มครองไว้ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 จึงขอให้ศาลดำเนินกระบวนการพิจารณาตรวจสอบการใช้อำนาจของฝ่ายบริหารตามวิถีระบอบประชาธิปไตย

 

กรณีนี้ สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2564 ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 29) ลงวันที่ 29 กรกฎาคม 2564 ความว่า …….อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการณ์ในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 นายกรัฐมนตรีออกข้อกำหนดไว้ ดังต่อไปนี้

 

ข้อ 1. ห้ามผู้ใดเสนอข่าว จำหน่าย หรือทำให้แพร่หลายซึ่งหนังสือ สิ่งพิมพ์ หรือสื่ออื่นใด ที่มีข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว หรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสาร ทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉินจนกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ หรือความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชนในเขตพื้นที่ที่ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน

 

ข้อ 2. ในกรณีมีการเผยแพร่ข้อความหรือข่าวสารตามข้อ 1 ในอินเทอร์เน็ต ให้สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) แจ้งผู้รับใบอนุญาตการให้บริการอินเทอร์เน็ตตามกฎหมายว่าด้วยองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมทุกรายทราบ และให้ผู้รับใบอนุญาตดังกล่าวทุกรายมีหน้าที่ตรวจสอบว่าข้อความหรือข่าวสารดังกล่าวมีที่มาจากเลขที่อยู่ไอพี (IP Address) ใด หากเป็นเลขที่อยู่ไอพี (IP Address) ที่ตนเป็นผู้ให้บริการ ให้แจ้งรายละเอียดตามที่สำนักงาน กสทช. กำหนด ให้สำนักงาน กสทช. ทราบ และให้ระงับการให้บริการอินเทอร์เน็ตแก่เลขที่อยู่ไอพี (IP Address) นั้นทันที

 

ให้สำนักงาน กสทช. ส่งรายละเอียดตามที่ได้รับแจ้งตามวรรคหนึ่งให้แก่สำนักงานตำรวจแห่งชาติโดยเร็วเพื่อดำเนินคดีต่อไป ผู้รับใบอนุญาตผู้ใดไม่ปฏิบัติตามวรรคหนึ่ง ให้ถือว่าไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในใบอนุญาตการให้บริการอินเทอร์เน็ต และให้สำนักงาน กสทช. ดำเนินการตามกฎหมายต่อไปโดยข้อกำหนดมีผลบังคับใช้ในวันที่ 30 กรกฎาคม 2564 เป็นต้นไป

 

ด้าน นรเศรษฐ์​ หนองนาตูม​ ทนายความ เปิดเผยว่า​ การยื่นฟ้องในวันนี้เพื่อให้ศาลพิจารณา​การออกคำสั่ง​คุ้มครองชั่วคราว​ และขอให้ศาลนัดไต่สวนคำสั่งดังกล่าวเนื่องจากในมุมมองของสื่อมีการจำกัดความหวาดกลัว​ไว้ชัดเจน แต่ในกรณีนี้ไม่มีการระบุความหมายที่ชัดเจน​ ซึ่งอาจทำให้เกิดความวุ่นวายได้​ ส่วนการให้อำอาจ กสทช. ระงับสัญญาณ​อินเทอร์​เน็ต​ เป็นการเข้าข่ายผิดบทบัญญัติ​จำกัดสิทธิเสรีภาพ​ โดยเฉพาะการให้อำนาจ​เลขา กสทช.​ เป็นผู้ดำเนินการจะทำให้ประชาชนไม่มีช่องทางยื่นหนังสือเพื่อต่อสู้คดี​

 

ฐปณีย์ เอียดศรีไชย ตัวแทนสื่อ​มวลชน​ ได้ย้ำจุดยืนของสื่อมวลชนว่า​ มี่ผ่านมาสื่อ​ปฏิบัติ​หน้าที่​โดยยึดในหลักจริยธรรม​มาโดยตลอด ​ไม่เคยบิดเบือน​หรือกล่าวหาโดยไม่มีพยานหลักฐาน​หรือการตรวจสอบ​ ซึ่งที่ผ่านมาสื่อมวลชน​นำเสนอความจริงทุกอย่างโดยเฉพาะ​สิ่งที่อยู่ตรงหน้า​ ขณะ​เดียวกัน​มองว่าในสถานการณ์​ที่ประชาชนหวังพึ่งสื่อ​เพื่อขอความช่วยเหลือ แต่กลับถูกปิดกั้นและนำกฎหมายมาควบคุมก็จะยิ่งทำให้ประชา​ชนไม่กล้าร้องขอ​ความช่วยเหลือ จนท้ายที่สุดแม้ว่าจะมีผู้เสียชีวิตในบ้าน​ก็จะไม่มีใครกล้าเข้าไปช่วยเพราะกลัวความผิด​ เกรงกลัวกฎหมาย 

 

ล่าสุด ทนายความแจ้งว่า ศาลประทับรับฟ้องแล้ว เตรียมไต่สวนคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราววันนี้

 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X