ย้อนกลับไป 6 ปีที่แล้ว วันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ประวัติศาสตร์การเมืองไทยซ้ำรอยอีกครั้ง หลังคณะบุคคลในชื่อ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ภายใต้การนำของกองทัพ นำโดย พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ในเวลานั้น ประกาศเข้าควบคุมอำนาจ หรือทำการรัฐประหารรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
นับแต่วันนั้นชื่อของ พล.อ. ประยุทธ์ ก็กลายเป็นชื่อของผู้นำทางการเมือง ผู้นำการบริหารประเทศมาจนถึงปัจจุบัน แม้จะเปลี่ยนผ่านมาสู่การเลือกตั้ง ที่มีอำนาจ ส.ว. ซึ่งมีสิทธิ์ในการเลือกนายกรัฐมนตรีร่วมกับผู้แทนราษฎรด้วย จึงทำให้ชื่อของ พล.อ. ประยุทธ์ ถูกบันทึกว่าครองเก้าอี้นายกรัฐมนตรียาวนานมากที่สุดในประวัติศาสตร์การเมือง จากผู้นำอันมีต้นทางมาจากการก่อรัฐประหาร
ตัวละครทางการเมืองที่มีบทบาทสำคัญ เริ่มเปลี่ยนสถานะไปตามเวลาและอำนาจที่เปลี่ยนมือ ตามบริบททางการเมือง THE STANDARD สำรวจความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ว่าปัจจุบันตำแหน่งของตัวละครสำคัญบางคนเป็นอย่างไรบ้าง
ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
จากนายกรัฐมนตรีหญิงที่ควบเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมหญิงคนแรก ที่ต่อมาถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยถอดถอนด้วยมติเอกฉันท์ 9 ต่อ 0 เสียง ให้พ้นตำแหน่งรักษาการนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เนื่องจากใช้อำนาจหน้าที่แทรกแซงการโยกย้ายตำแหน่งของ ถวิล เปลี่ยนศรี จากเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ให้ไปปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ในปี 2554 ที่คดีขึ้นสู่ศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2557
ต่อมา หลังจากศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองนัดฟังคำพิพากษาคดีจำนำข้าว เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2560 แต่ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ไม่ได้เดินทางมาตามนัด โดยได้เดินทางออกไปต่างประเทศ ก่อนที่ต่อมาศาลจะมีการอ่านคำพิพากษาในวันที่ 27 กันยายน 2560 พิพากษาจำคุกยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นเวลา 5 ปี โดยมีมติเป็นเอกฉันท์ไม่รอลงอาญา
วันนี้เธอยังคงใช้ชีวิตอย่างเป็นปกติในต่างแดน
พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ
จากอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หลังการรัฐประหารได้รับตำแหน่งเป็นรองหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ประธานคณะที่ปรึกษาคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ก่อนจะหวนกลับมารัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในรัฐบาลของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา และเป็นรองนายกรัฐมนตรี ก่อนที่ท้ายสุดหลังการเลือกตั้งทั่วไปวันที่ 24 มีนาคม 2562 จะเหลือเพียงตำแหน่งเดียวคือรองนายกรัฐมนตรีด้านความมั่นคง
เคยได้รับการแต่งตั้งเป็นประธานคณะที่ปรึกษาคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2557 ซึ่งคณะที่ปรึกษานี้ยังมีรองประธาน 2 คน คือ พล.อ. อนุพงษ์ เผ่าจินดา และ หม่อมราชวงศ์ปรีดิยาธร เทวกุล
แม้จะเป็นรองนายกรัฐมนตรีที่ดูแลด้านความมั่นคง และเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในห้วงเวลาที่ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ไม่เดินทางมาฟังคำพิพากษาศาลในคดีจำนำข้าว พล.อ. ประวิตร ก็ไม่มีคำตอบอื่น ต่อการหายตัวไปของยิ่งลักษณ์ ชินวัตร โดยตอบเพียงว่า “ขอให้ไปถามนายกรัฐมนตรี โดยตนเลิกพูดเรื่องนี้อีก เพราะนายกรัฐมนตรีได้ให้สัมภาษณ์ไปแล้ว”
ในฐานะมือประสานตั้งรัฐบาลหลังเลือกตั้ง หรือฉายาผู้จัดการรัฐบาล พี่ใหญ่สายเอ็นพี่ใหญ่ของสาม ป. ทำให้บ้านป่ารอยต่อมีคนไปมาหาสู่ไม่ขาด ในห้วงเวลาก่อนการเลือกตั้งวันที่ 24 มีนาคม 2562 ปัจจุบัน ยังคงเป็นประธานที่ปรึกษาพรรคพลังประชารัฐ ท่ามกลางข่าวลือว่าจะถูกเชิญเป็นหัวหน้าพรรค
พลิกข้างสลับขั้ว: ‘แรมโบ้อีสาน’ สุภรณ์ อัตถาวงศ์
เป็น ‘แกนนำสายเหยี่ยว’ ที่ประกาศยุติบทบาทการเมืองทันทีที่ได้รับอิสรภาพ ถูกปล่อยตัวหลังจากถูก คสช. ควบคุมกว่า 1 สัปดาห์
ก่อนที่จะถูกควบคุมตัว แรมโบ้อีสาน สุภรณ์ เป็นรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี รัฐบาลยิ่งลักษณ์ และเป็นประธานกลุ่มอาสาสมัครพิทักษ์ประชาธิปไตยแห่งชาติ (อพปช.) ซึ่งสุภรณ์ได้ประกาศยุบ อพปช. ในวันที่ 29 พฤษภาคม 2557 หลังจากถูกปล่อยตัวที่หน้าค่ายสุรนารี
ต่อมาเมื่อ คสช. จัดงาน ‘มหกรรมปรองดองสมานฉันท์ คืนความสุขให้คนในชาติ’ ที่ท้องสนามหลวง ช่วงวันที่ 22-27 กรกฎาคม 2557 แรมโบ้ก็ได้ยืนประกบปลัดกระทรวงกลาโหม ในเวทีมหกรรมปรองดองสมานฉันท์ คืนความสุขให้คนในชาติ ขนาบข้างด้วย วีระกานต์ มุสิกพงศ์ แกนนำ นปช. หลังจากนั้นแรมโบ้อีสาน ก็ให้สัมภาษณ์ถึงมุมมองต่อทหารว่า “ทหารมีสองพวก คือทหารที่ปล้นอำนาจประชาธิปไตย รัฐบาลบริหารบ้านเมืองอยู่ดีๆ ก็เข้ามายึดอำนาจ แบบนี้เรายอมไม่ได้ อีกพวกเข้ามาแก้ปัญหา อย่างสถานการณ์บ้านเมืองก่อนที่ คสช. จะเข้ามายึดอำนาจประชาชนกำลังจะตีกัน เกิดสงครามกลางเมือง เราเป็นคนไทยเมื่อรัฐบาลที่มาจากประชาธิปไตยได้ถอยแล้ว จนถึงวันที่ทหารประกาศกฎอัยการศึก เราก็ให้ความร่วมมือ”
เมื่อเข้าสู่ฤดูเตรียมจัดการเลือกตั้ง ช่วงเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม 2561 ในที่สุด แรมโบ้อีสานก็ให้ข่าวชัดเจนว่าหันมาหนุนพลังประชารัฐแบบเต็มตัว
หลังจัดตั้งรัฐบาลประยุทธ์ ก็ได้แต่งตั้งเป็นผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และผ่านงานสำคัญในศึกซักฟอกรัฐบาลโดยเป็นเลขานุการ คณะทำงานเตรียมข้อมูลสนับสนุนผู้ถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจในฝ่ายของรัฐบาล
วราเทพ รัตนากร
- จากหนึ่งในทีมเพื่อไทย ที่ได้เข้าร่วมประชุมกับกองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย หรือ กอ.รส. ในนาทีรัฐประหารวันที่ 22 พฤษภาคม 2557
- หลังจากที่ คสช. เข้ายึดอำนาจ และเป็นรัฐบาลมากว่า 4 ปี ก่อนที่จะจัดให้มีการเลือกตั้งครั้งแรกวันที่ 24 มีนาคม 2562 ราวเดือนพฤศจิกายน วราเทพ รัตนากร อดีต รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้นำอดีต ส.ส. กำแพงเพชร พรรคเพื่อไทย มาร่วมงานกับพรรคพลังประชารัฐ อันเป็นพรรคที่รู้กันว่าสนับสนุนรัฐบาลประยุทธ์
วราเทพมีความสัมพันธ์แนบแน่นกับสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ ตั้งแต่สมัยร่วมงานในกระทรวงการคลัง รัฐบาลไทยรักไทย รวมถึงสุชาติ ตันเจริญ แกนนำกลุ่มบ้านริมน้ำ ในฐานะเป็นกลุ่ม 16 มาด้วยกัน
บทบาทสำคัญในรัฐบาลประยุทธ์หลังการเลือกตั้งวันที่ 24 มีนาคม 2562 เป็นรองประธานกรรมาธิการคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 สัดส่วนโควตาคณะรัฐมนตรี
เป็นแม่ทัพสนามเลือกตั้งซ่อม กำแพงเพชร เขต 2 ของพลังประชารัฐ โดยนำทีมพาเพชรภูมิ อาภรณ์รัตน์ บุตรชาย พ.ต.ท. ไวพจน์ อาภรณ์รัตน์ อดีต ส.ส. กำแพงเพชร เขต 2 พรรคพลังประชารัฐ ที่ถูกออกหมายจับ ต้องโทษจำคุก 4 ปี คดีบุกล้มเวทีประชุมผู้นำอาเซียนที่เมืองพัทยาและยังหลบหนีอยู่ มารายงานตัววันสมัครรับเลือกตั้งซ่อม และคว้าชัยชนะมาได้สำเร็จ
สมชัย ศรีสุทธิยากร
บทบาทสำคัญคือทำหน้าที่ กกต. ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง ในช่วงการเลือกตั้งวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557
ต่อจากนั้นหลังการรัฐประหาร เป็นกรรมการการเลือกตั้งในห้วงการจัดออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับมีชัย
ท้ายสุดพ้นจากตำแหน่งเนื่องจากคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 4/2561 เรื่องให้กรรมการการเลือกตั้งยุติการอยู่ปฏิบัติหน้าที่
ในการเลือกตั้งทั่วไปวันที่ 24 มีนาคม 2562 ลงสมัครรับเลือกตั้งสังกัดพรรคประชาธิปัตย์ แต่ไม่ได้รับเลือกตั้ง
ต่อมาได้ประกาศลาออกจากสมาชิกพรรค หลังจากที่พรรคประชาธิปัตย์ประกาศเข้าร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐ และมีมติสนับสนุน พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกสมัย
สองแกนนำม็อบที่เจรจาไม่สำเร็จ: จตุพร & ลุงกำนัน จากบทบาทแกนนำม็อบสู่แกนนำพรรค
จตุพร พรหมพันธุ์ เดินหน้าปรองดอง สร้างสามัคคี
จตุพรเคยให้สัมภาษณ์กับ THE STANDARD ไว้ถึงการรัฐประหารว่า “ถามว่ารู้ไหมว่าจะมีการควบคุมอำนาจ ตอบว่ารู้ตั้งแต่มีการประกาศกฎอัยการศึกแล้ว ก็พูดชัด เพียงแต่เราไม่สามารถที่จะพาประชาชนไปบาดเจ็บล้มตายเพิ่ม แกนนำทุกคนจึงไปหมดในวันที่เขานัดคุย เพราะถ้าสถานการณ์มันเอาไม่อยู่ก็อาจเกิดความเสียหายมากกว่าปี 2553”
หลังจากได้รับการปล่อยตัวเป็นอิสระในวันที่ 5 สิงหาคม 2561 หลังครบกำหนดจองจำ 1 ปี 15 วัน ในความผิดฐานหมิ่นประมาท อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกฯ และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้ให้สัมภาษณ์ในวันแรกที่มีอิสรภาพว่า “ผมปรารถนาให้บ้านเมืองเดินไปข้างหน้า ดังปณิธานของในหลวงรัชกาลที่ 10 ทุกแนวทางแก้ไขปัญหาบ้านเมือง อยู่ในพระกระแสรับสั่ง ทั้งเรื่องความยุติธรรม ความสามัคคีในชาติ ถ้าทุกฝ่ายน้อมนำปฏิบัติอย่างเป็นจริง เราจะผ่านวิกฤตไปได้”
ปัจจุบันมีกระแสข่าวว่าอาจร่วมงานกับพรรคสามัคคีไทย พรรคที่เน้นจุดเด่นคือเปลี่ยนความเห็นต่างเป็นความร่วมมือ เน้นการสร้างความรัก ความสามัคคีของคนในชาติ โดยมีอดีตรองโฆษกพรรคเพื่อชาติมาเป็นผู้ร่วมก่อตั้งพรรค
สุเทพ เทือกสุบรรณ ไม่ขอหวนกลับในฐานะนักการเมือง
จากประธานคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) ที่ชุมนุม ‘ปิดเมืองหลวง’ ระหว่างเดือนตุลาคม 2556 ถึงพฤษภาคม 2557
ต่อมาได้เข้าพิธีอุปสมบทเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2557 ที่วัดท่าไทร อำเภอกาญจนดิษฐ์ จังหวัดสุราษฎร์ธานี จำวัดที่วัดธารน้ำไหล สวนโมกขพลาราม อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี
ได้ลาสิกขาบท กลับสู่การเป็นฆราวาสในวันที่ 28 กรกฎาคม 2558
เข้าทำหน้าที่ประธานมูลนิธิมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย ผลักดันกิจกรรมของมูลนิธิควบคู่ไปกับการเดินหน้าปฏิรูปประเทศ
เข้ามาเป็น ‘โค้ช’ ให้กับพรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) พาพรรคเข้าสู่สนามการเลือกตั้งหนแรกหลัง ‘ปฏิรูป’ กว่า 5 ปี โดยยืนยันว่า “ผมยังคงยึดคำมั่นที่เคยบอกว่า ‘จะไม่หวนกลับไปเล่นการเมืองอีกแล้ว’ ในฐานะนักการเมือง”
ทั้งนี้ แม้จะโค้ชให้ รปช. ได้ ส.ส. มาทั้งสิ้น 5 ที่นั่ง แต่สำหรับพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ปรากฏผลเลือกตั้งทั้ง 6 เขต แพ้พรรคประชาธิปัตย์ทั้ง 6 เขต
250 ส.ว. แต่งตั้ง: มรดกจากยุค คสช.
สมาชิกวุฒิสภา หรือ ส.ว. ที่มีที่มาโดยการคัดเลือกของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตามที่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 269
ไอลอว์ รายงานว่า รายชื่อของ ส.ว. 250 คน มีคนชื่อคุ้นเคยอยู่มาก เช่น พล.อ. ปรีชา จันทร์โอชา, พล.อ. อภิรัชต์ คงสมพงษ์, แพทย์หญิง คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์, คำนูณ สิทธิสมาน, วัลลภ ตังคณานุรักษ์ เป็นต้น
พบว่ามีคนหน้าซ้ำ เคยรับตำแหน่งยุค คสช. ถูกแต่งตั้งเป็น ส.ว. 157 คน มียศนายพล 103 คน รวมแล้วมีอดีตข้าราชการอย่างน้อย 143 คน มี 51 คนที่นั่งควบตำแหน่งตามแผนยุทธศาสตร์ชาติและแผนปฏิรูปประเทศด้วย
ส.ว. เหล่านี้ยังมีอำนาจพิเศษอยู่หลายประการ อำนาจสำคัญคือการร่วมกับ ส.ส. ลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่กำหนดอนาคตของประเทศ และทำให้ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีต่อได้หลังการเลือกตั้ง
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์
ห้ามพลาด! ฟอรัมที่เจาะลึก New Normal ที่ใหญ่ที่สุดในเมืองไทย จากวิทยากรระดับประเทศ 40 คน ซื้อบัตรงาน THE STANDARD ECONOMIC FORUM ที่ https://www.eventpop.me/e/8705-economic-forum