×

เสียงสะท้อนคนรุ่นใหม่ไต้หวัน มองตัวเองเป็นประเทศ ไม่ใช่คนจีน

โดย THE STANDARD TEAM
12.11.2021
  • LOADING...

เคน ยัง และ ไคลี หวาง ผู้ดำเนินรายการพอดแคสต์ข่าวประจำวันยอดนิยมในไต้หวัน เผยความรู้สึกว่าพวกตนเป็นคนไต้หวัน ไม่ใช่คนจีน ซึ่งเป็นความรู้สึกเดียวกับกลุ่มคนรุ่นใหม่บนเกาะปกครองตนเองแห่งนี้ แต่ขัดแย้งกับปักกิ่งที่มองว่าไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีน และกดดันไทเปรุนแรงมากขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ความตึงเครียดทางการเมืองระหว่างสองฝ่ายเพิ่มสูงขึ้นจนร้อนระอุ

 

สำหรับชาวไต้หวันรุ่นใหม่ ความเป็นปรปักษ์ที่เพิ่มสูงขึ้นได้ตอกย้ำอัตลักษณ์หรือตัวตนที่แตกต่าง ซึ่งมีรากฐานมาจากประชาธิปไตยไม่ใช่เผด็จการของจีน

 

“สำหรับผม การบอกว่าตัวเองว่าเป็นคนไต้หวันนั้นหมายรวมถึงทุกสิ่งที่ผมภาคภูมิใจ” ยัง นักจัดรายการวัย 38 ปี กล่าวกับ AFP “เราสนับสนุนสิทธิมนุษยชน เราสนับสนุนสิทธิของ LGBT คุณก็รู้ และเราสนับสนุนเสรีภาพในการพูด”

 

หลังไต้หวันแยกตัวจากแผ่นดินใหญ่ในปี 1949 เมื่อกองกำลังชาตินิยมพ่ายแพ้ในสงครามกลางเมืองให้กับคอมมิวนิสต์ ประชาชนบนเกาะไต้หวันมองว่าผู้นำของพวกเขาคือตัวแทนที่แท้จริงของชนชาติจีนอยู่เป็นเวลาหลายทศวรรษ

 

แต่เมื่อไต้หวันเปลี่ยนจากระบอบเผด็จการไปสู่ระบอบประชาธิปไตยในช่วงทศวรรษ 1990 “อัตลักษณ์ความเป็นพลเมืองอันแรงกล้า” ก็ถูกลืมเลือนผ่าน “กระบวนการประชาธิปไตย” อู๋เร่ยเหริน ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์ไต้หวันจากสถาบัน Academia Sinica กล่าวกับ AFP

 

“มันไม่ได้ขึ้นอยู่กับเชื้อชาติหรือสายเลือด แต่… มันคือความรู้สึกว่าเราเป็นประเทศที่มีประชาธิปไตย เสรีภาพ สิทธิมนุษยชน และหลักนิติธรรม และเราสามารถมีส่วนร่วมในการตัดสินใจทางการเมือง” อู๋กล่าว

 

ผลสำรวจความคิดเห็นที่เผยแพร่โดยมหาวิทยาลัยแห่งชาติเจิ้งจื้อของไต้หวันเมื่อไม่นานมานี้ แสดงให้เห็นว่า ประชาชนบนเกาะไต้หวันที่ระบุว่าตัวเองเป็นคนจีนมีอยู่ไม่ถึง 3% ซึ่งต่ำเป็นประวัติการณ์ โดยลดลงจากเกือบ 26% ในปี 1992

 

ขณะที่กว่า 60% ระบุว่าตัวเป็นคนไต้หวัน ไม่ใช่คนจีน

 

อู๋กล่าวว่า “นโยบายที่แข็งกร้าวมากขึ้นของจีน” ส่งผลให้ชาวไต้หวันมองว่าจีนเป็นต่างชาติ หรือถึงขั้นมองว่าเป็น “ประเทศศัตรู”

 

– ‘เรารักเสรีภาพของเรา’ –

 

หลินหยูฮั่น ผู้ช่วยธุรการ วัย 22 ปี กลัวว่าไต้หวันจะกลายเป็นแบบเดียวกับฮ่องกง ที่มีการบังคับใช้กฎหมายความมั่นคงแห่งชาติลงโทษผู้ที่เห็นต่างกับปักกิ่ง และสร้างบรรยากาศแห่งความหวาดกลัว

 

“สิ่งที่เกิดขึ้นในฮ่องกงทำให้ฉันตระหนักว่าจีนเลวร้ายเพียงใด ฉันไม่ต้องการให้ฮ่องกงในวันนี้กลายเป็นไต้หวันในวันพรุ่งนี้” หลินกล่าว

 

ปักกิ่งประกาศกร้าวว่าจะยึดไต้หวันในวันหนึ่ง โดยใช้กำลังหากจำเป็น ขณะที่ประธานาธิบดีสีจิ้นผิงกล่าวเมื่อไม่นานนี้ว่า การรวมไต้หวันกับจีนจะ “สมประสงค์”

 

แต่ชาวไต้หวันส่วนใหญ่ไม่เชื่อว่าไต้หวันจะถูกปกครองโดยปักกิ่ง โดยมีไม่ถึง 8% ที่สนับสนุนการรวมชาติ ไม่ว่าจะเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป หรืออย่างรวดเร็ว

 

ความตึงเครียดระหว่างสองฝ่ายทวีความรุนแรงขึ้นนับตั้งแต่ ไช่อิงเหวิน ซึ่งมองว่าเกาะไต้หวันเป็นประเทศอธิปไตย ก้าวขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีไต้หวันในปี 2016

 

“เราต้องการปกป้องสิทธิในการรักประชาธิปไตยของเรา เสรีภาพของเรา” หวาง ผู้ดำเนินรายการพอดแคสต์กล่าว

 

“ฉันพูดซ้ำๆ ว่าฉันเป็นคนไต้หวัน เพราะเชื่อว่ายิ่งมีประชาชนจำนวนมากขึ้นมองว่าตัวเองเป็นคนไต้หวัน รักประเทศของเรา รักแผ่นดินของเรา นั่นจะสามารถปกป้องเราจากการถูกรุกรานได้”

 

– ‘ทำให้จีนแพ้อีกครั้ง’ –

 

ลิลเจย์ เฉิน วัย 36 ปี นักร้องนำวงดนตรีฮิปฮอปที่ทำการแสดงเมื่อไปร่วมการประท้วงตามท้องถนน และทำธุรกิจขายเสื้อยืดและหมวกเบสบอล กล่าวว่า “ผมเป็นคนไต้หวัน ผมไม่ใช่คนจีน ไต้หวันเป็นประเทศ และจีนเป็นประเทศ เราเท่าเทียมกัน”

 

เฉินกล่าวกับ AFP ที่ร้านของเขา ซึ่งจำหน่ายหมวกเบสบอลสีแดงที่มีข้อความว่า ‘ทำให้จีนแพ้อีกครั้ง’ หรือ ‘Make China Lose Again’ ดัดแปลงมาจากข้อความ ‘Make America Great Again’ ซึ่งเป็นสโลแกนหาเสียงของอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์

 

นอกจากนี้ ภายในร้านยังมีผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่ปรากฏสโลแกนสนับสนุนการเป็นเอกราชของไต้หวัน เช่น ‘เอกราชของไต้หวัน’ และ ‘ไต้หวันไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของจีน’

 

“สำหรับคนหนุ่มสาว ความแตกต่างที่สำคัญระหว่างไต้หวันกับจีนคือ เสรีภาพที่จะสร้างการเข้าถึงโซเชียลมีเดียใดๆ ก็ตามได้อย่างเสรี และเข้าถึงโซเชียลมีเดียใดๆ ก็ตามได้อย่างเสรี” เฉินกล่าว

 

อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้สูงอายุบางคน ไม่รู้สึกขัดแย้งที่จะบอกว่าตนเป็นทั้งคนไต้หวันและคนจีน

 

หูหมินหยื่อ บาทหลวงวัย 56 ปี ผู้เป็นหลานชายของอดีตนายพลที่มีชื่อเสียงนายหนึ่ง ซึ่งมาตั้งรกรากในไต้หวันตั้งแต่ปี 1949 กล่าวว่า “ผมมองว่าตัวเองเป็นคนจีนโดยสายเลือดและวัฒนธรรม ในฐานะที่ปู่ย่าตายายและพ่อแม่ของผมมาจากประเทศจีน แต่ขณะเดียวกัน ผมก็เป็นคนไต้หวัน เพราะผมเกิดและเติบโตในไต้หวัน”

 

แต่สำหรับคนหนุ่มสาวจำนวนมาก ไม่รู้สึกถึงความเชื่อมโยงทางประวัติศาสตร์ของไต้หวันกับจีน

 

“ผมเป็นคนไต้หวัน และเราเป็นประเทศ” เอย์เดน ไหล นักเรียนอายุ 17 ปี กล่าวขณะพักจากการซ้อมเต้นกับเพื่อนมัธยมปลาย “ผมคิดว่าวัยรุ่นส่วนใหญ่ไม่รู้สึกผูกพันกับจีนเลย”

 

ภาพ: Alberto Buzzola / LightRocket via Getty Images

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X