วันนี้ (9 พฤษภาคม) สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยจัดกิจกรรมราชดำเนินเสวนาในหัวข้อ ‘เลือก สว. กติกาใหม่ ใครได้ใครเสีย?’ โดยมีวิทยากรร่วมเสวนา ประกอบด้วย
- ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- รัชพงษ์ แจ่มจิรไชยกุล เจ้าหน้าที่ iLaw
- เสรี สุวรรณภานนท์ สมาชิกวุฒิสภา ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง และการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา
- ตัวแทนคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ไม่สามารถมาร่วมงานได้
นักวิชาการคาด ประกาศผลไม่ทันวันที่ 2 กรกฎาคมนี้
ผศ.ดร.ปริญญา กล่าวว่า ระเบียบของ กกต. ในเรื่องการสมัคร สว. ถือว่าเป็นปัญหาในทางกฎหมาย วันที่ 2 กรกฎาคม 2567 กกต. จะประกาศรายชื่อได้หรือไม่ โดยไทม์ไลน์เบื้องต้นเป็นดังนี้
- สว. ชุดเก่า หมดวาระ วันที่ 10 พฤษภาคม 2567
- เปิดรับสมัคร สว. วันที่ 13 พฤษภาคม 2567
- คัดเลือกระดับอำเภอ วันที่ 9 มิถุนายน 2567
- คัดเลือกระดับจังหวัด วันที่ 16 มิถุนายน 2567
- คัดเลือกระดับประเทศ วันที่ 26 มิถุนายน 2567
โดยการคัดเลือกมีการโหวต 6 ครั้ง ตั้งแต่กลุ่มอาชีพตัวเอง 20 กลุ่มอาชีพ เริ่มตั้งแต่ระดับอำเภอจนมาถึงระดับจังหวัดและประเทศ
ผศ.ดร.ปริญญา กล่าวต่ออีกว่า ส่วนจำนวนผู้สมัคร สว. ครั้งนี้เชื่อว่าจะอยู่ในระดับหลักแสนคน จากเดิมยุค คสช. อยู่ที่ประมาณ 55,000 คน และเมื่อมีผู้สมัครจำนวนมากก็เชื่อว่าจะมีการคัดค้านร้องเรียนตามมาหลายเรื่อง ทำให้วันที่ 2 กรกฎาคม 2567 กกต. ไม่น่าจะประกาศรายชื่อได้ทัน
“ถ้ามีคำร้องมาก กกต. จะพิจารณาได้ทันวันที่ 2 กรกฎาคมหรือไม่ กกต. ก็ต้องทำให้ทุกอย่างโปร่งใส โดยเพิ่มผู้สังเกตการณ์คัดเลือก สว. เข้าไป โดยให้ กกต. ออกระเบียบมา เช่น กลุ่มผู้สังเกตการณ์จากสื่อมวลชนที่สมาคมนักข่าวฯ รับรอง รวมถึงการบันทึกเทปก็ต้องเป็นสาธารณะ และเมื่อมีการร้องขอก็ต้องเปิดดูได้ หรือสามารถขึ้นเว็บไซต์ได้เลยไม่ว่าจะเป็นอำเภอไหน เพื่อให้มีความโปร่งใสเข้ามาแทนความไม่ชอบมาพากล เหมือนการมีกล้องหน้ารถ” ผศ.ดร.ปริญญา กล่าว
ผศ.ดร.ปริญญา กล่าวว่า ส่วนเรื่องระเบียบ กกต. ควรทำให้ง่าย เพราะหากเขียนรายละเอียดหยุมหยิมมากมาย ก็จะทำให้การร้องเรียนมีจำนวนมากตามมา จนทำให้การประกาศรายชื่อล่าช้าจากผู้สมัครที่มีจำนวนหลักแสนคน จึงคิดว่า กกต. จะทำทันหรือไม่ และทำให้ สว. ชุดเก่า รักษาการไปโดยไม่มีกรอบเวลาชั่วนิรันดร์จนกว่าจะมี สว. ชุดใหม่ เข้ามา
iLaw มองระเบียบคลุมเครือ เอื้อการฮั้ว
ด้านรัชพงษ์กล่าวว่า กรณีการร้องศาลปกครองมีการฟ้องระเบียบ กกต. ไม่ชอบด้วย พ.ร.ป.เลือก สว. และรัฐธรรมนูญ แต่ระเบียบนี้เป็นโอกาสให้มีการฮั้วอย่างมาก หรือกรณีขั้นตอนการแนะนำตัวด้วยกัน ผู้สมัครจะรู้ได้อย่างไรว่าใครจะสมัครหรือไม่ ยังไม่นับการเลือกไขว้กัน ยกตัวอย่างเช่น ถ้าผู้สมัครมีอาชีพศิลปินและข้าราชการ จะทำให้ผู้สมัครรู้จักกันหรือไม่ ดังนั้นยิ่งระเบียบคลุมเครือก็จะทำให้ประชาชนไม่อยากมีส่วนร่วมในการเลือกครั้งนี้
“iLaw พยายามจำลองขั้นตอนการเลือกออกมาก็พบว่า หากคนที่มีอิทธิพลก็สามารถพาคนไปคัดเลือกได้ หรือต้องเป็นคนมีชื่อเสียงก็จะมีโอกาสที่คัดเลือกเข้าไปได้ หรือคนที่ถูกคัดเลือกได้ก็ต้องเป็นคนที่ดวงดีมากๆ” รัชพงษ์กล่าว
รัชพงษ์กล่าวต่อไปว่า ที่ผ่านมา iLaw เปิดเว็บไซต์ http://senate67.com เพื่อให้ผู้สนใจตรวจสอบข้อมูลว่ามีคุณสมบัติในการสมัคร สว. หรือไม่ นอกจากนี้จะพยายามแก้ไขการฮั้วเพื่อให้คนที่ไม่มีพวกชนะได้ จึงมีเว็บไซต์ขึ้นมาให้คนมาประกาศตัวได้ว่าตัวเองเป็นใครทั้งในกลุ่มตัวเองและกลุ่มอื่น โดยใช้คุณสมบัติตัวเองเข้าสู้กับการจัดตั้งกันมา
“เรื่องเว็บไซต์เราไม่ได้คิดคนเดียว เพราะเคยไปนั่งอ่านรายงานการประชุมของกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ 2560 ชุด มีชัย ฤชุพันธุ์ ก็พบว่า ในกรรมาธิการยกร่างชุดนี้ก็คิดตรงกันว่าให้มีเว็บไซต์สำหรับให้ผู้สมัคร สว. มาประกาศตัวกันได้ด้วย เพื่อให้ประชาชนรับทราบและให้ผู้สมัครได้รู้จักกัน” รัชพงษ์กล่าว
รัชพงษ์กล่าวต่อว่า กกต. บอกว่าแนะนำตัวให้ผู้สมัครกันเองอย่างเดียวเท่านั้น ก็มีคำถามว่าแล้วผู้สมัครจะรู้ได้อย่างไรว่าใครเป็นผู้สมัครบ้างในแต่ละอำเภอ ก็จะเป็นการสนับสนุนให้ผู้สมัครที่รู้จักกันนำไปสู่การฮั้วกันหรือไม่ ทั้งที่ควรให้มีการแนะนำตัวสาธารณะ แล้วผู้สมัครจะไปชนะคนที่ฮั้วกันได้อย่างไร
“ดังนั้นเป็นเรื่องยาก ถ้าไปสมัครเยอะ กระจายตัวทุกกลุ่ม ถ้าต้องทำให้เกมนี้ออกมามีประชาชนในสมการมากที่สุด ก็ต้องทำให้คล้ายการเลือกตั้งมากที่สุด” รัชพงษ์กล่าว
สว. ชุดเดิมแนะ กกต. ต้องดำเนินการเร็ว
ขณะที่ เสรี กล่าวว่า กติกาในการคัดเลือก สว. ตามสาขาอาชีพนั้น คือกติกาที่แตกต่างไปจากการเลือก สส. หรือ สว. ซึ่งรัฐธรรมนูญบอกว่าเป็นผู้แทนชาวไทย ทำให้การได้มาก็เป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ ส่วนเรื่องการยื่นฟ้องศาลปกครองก็ขอให้ฟ้อง เพราะความเห็นที่ต่างกันก็ต้องหาข้อยุติ เพื่อให้ศาลวินิจฉัยว่าระเบียบที่ กกต. ออกมาเป็นอย่างไร และการที่ iLaw มาประชาสัมพันธ์ต่างๆ ก็ทำให้ กกต. อาจจะเปลี่ยนใจก็ได้
เสรีกล่าวด้วยว่า หวังว่า กกต. จะดำเนินการคัดเลือก สว. ให้เสร็จ เพื่อไม่ให้มีการบอกว่า สว. ชุดปัจจุบันจะอยู่นาน จริงๆ ไม่ควรคิดแบบนี้ กกต. ควรทำให้เป็นระเบียบและถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อให้คนดีๆ คนเก่งๆ คนใหม่ๆ เข้ามาทำหน้าที่ตามกฎหมายและกติกาของบ้านเมือง ส่วนเรื่องการฮั้ว ถ้าตนประเมินก็มีโอกาสเป็นไปได้ แต่ไม่ทั้งหมด อาจจะเกิดแค่บางกลุ่มที่รู้เห็นเป็นใจกันและให้คะแนนกันเอง
“ผมมองว่าการเลือก สว. ต้องดูความเป็นจริงของการเมืองและกระบวนการได้ สว. เข้ามา เพื่อให้ได้ตัวแทนประชาชนที่เลือกกันเองของผู้สมัคร แต่ในความเป็นจริงในเวลาจำกัดจะหาคะแนนอย่างไร คนที่มาสมัครต้องดูว่ามีชื่อเสียงแบบไหน ถ้าเป็นชื่อเสียงไม่ดีผมเชื่อว่าไม่มีใครเลือก ดังนั้นคนที่เข้ามาไม่ว่าจะระดับใดต้องเป็นที่รู้จัก เป็นคนที่ทำความดี เข้าวัดเข้าวา เป็นคนดูแลสังคม คนกลุ่มนี้คือคนที่ได้คะแนน” เสรีกล่าว
เสรีกล่าวด้วยว่า ในกรรมาธิการที่ตนเป็นประธาน ก็มีการพูดกันมาตลอดว่าการได้ของ สว. ชุดใหม่ อยากเห็นแบบสุจริตและสำเร็จโดยเร็ว ส่วนการทำหน้าที่รักษาการ ถ้าเป็นไปได้ก็อย่าให้เกิดขึ้น โดยเข้าใจว่า กกต. จะรับรองก่อนแล้วไปสอยทีหลัง เพราะต้องมี สว. ชุดใหม่ มาทำหน้าที่ แต่ขอว่าอย่ามีการรณรงค์อย่างเดียวว่าจะไปแก้รัฐธรรมนูญ เพราะคนเป็น สว. ต้องอิสระ เป็นตัวของตัวเอง และอย่าไปทำในสิ่งไม่ดี
“การได้มาซึ่ง สว. ชุดใหม่ อาจยุ่งยากซับซ้อน แต่อยู่ในวิสัยที่จะวิจารณ์ หากเห็นช่องโหว่ก็ต้องแจ้ง กกต. โดย กกต. ก็ต้องใจกว้างและปรับปรุงหากคิดว่าถูกต้อง เพื่อให้การคัดเลือก สว. ลุล่วงไปด้วยดี” เสรีกล่าว
เสรีกล่าวทิ้งท้ายว่า จากค่าสมัคร สว. จำนวน 2,500 บาท จึงไม่คิดว่าจะมีผู้มาสมัครเป็นจำนวนมากถึงหลักแสน ส่วนคนมีเงินก็คิดว่าไม่อยากลงสมัคร เพราะกลัวถูกร้องเรียน ก็ทำให้แต่ละอำเภอและสาขาอาชีพอาจจะไม่ครบ แต่จะมีผู้สมัครจำนวนมากคือ มีพวกตัวเองเยอะ ก็มีโอกาสเกิดขึ้นได้ในรอบแรก พอมาถึงการเลือกไขว้ก็คิดว่าคนที่จะเสียเงินไปสมัครเพื่อเลือกคนอื่นอาจจะได้เลือกเพียงรอบเดียว
หลากหลายมุมมองบนเวทีเสวนาสะท้อนถึงความห่วงกังวลของแต่ละฝ่ายต่อการเลือกสรร สว. ชุดใหม่ ในครั้งนี้ สาเหตุหลักอาจมองได้ว่ามาจากความคลุมเครือและลักลั่นในตัวเองของกฎกติกาต่างๆ ทั้งยังน่าเสียดายที่ตัวแทนจาก กกต. ซึ่งรับบทผู้คุมกฎกลับไม่มาไขข้อสงสัยในการเสวนาครั้งนี้ด้วย
ขณะที่พรุ่งนี้ (10 พฤษภาคม) จะเป็นวันสิ้นสุดการปฏิบัติหน้าที่ในวาระ 5 ปีของ 250 สว. ชุดแต่งตั้งแล้ว นับถอยหลังอีกไม่กี่วัน ปี่กลองการเลือก สว. ก็จะดังขึ้น แต่ดูเหมือนจะเป็นเสียงในความเงียบงันและคลุมเครือต่อไปอีกสักระยะ
อัปเดตข่าวล่าสุด เลือก สว. 2567 เกาะติดผลการเลือก สว. ได้ที่ https://thestandard.co/thai-senate-election-2024/, Facebook : THE STANDARD และ YouTube : THE STANDARD