ย้อนกลับไปในวันนี้เมื่อ 6 ปีที่แล้ว เคาท์ดาวน์ (Countdown) คือหนังไทยแนวระทึกขวัญจากค่าย GTH เข้าฉายในโรงภาพยนตร์ครั้งแรกเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2555 กระทั่งเมื่อสิ้นสุดโปรแกรมฉาย แม้ว่า เคาท์ดาวน์ จะไม่ประสบความสำเร็จด้านรายได้ แต่ตัวหนังกลับได้รับเสียงชื่นชมถึงความสดใหม่ของเนื้อหา อีกทั้งยังสร้างประสบการณ์ใหม่ด้านสายงานแสดงให้กับ พีช-พชร จิราธิวัฒน์, พีค-ภัทรศยา เครือสุวรรณศิริ และเต้ย-จรินทร์พร จุนเกียรติ
แต่ไฮไลต์ที่น่าจดจำอย่างที่สุดคือการที่ เคาท์ดาวน์ นั้นเป็นต้นกำเนิดของผู้ชายสองคนที่ต่อยอดมิตรภาพและความฝันมาด้วยกันจาก ‘นิวยอร์ก’
คนหนึ่งฝันที่จะเป็นผู้กำกับภาพยนตร์
ส่วนอีกคนอยากพิสูจน์ตัวเองในฐานะนักแสดง
หลังจาก เคาท์ดาวน์ เข้าฉาย บาส-นัฐวุฒิ พูนพิริยะ ได้รับการจับตามองทันทีในฐานะผู้กำกับเลือดใหม่อนาคตไกล จนกระทั่งต่อมา ฉลาดเกมส์โกง ผลงานเรื่องที่สองของเขากลายเป็นหนังไทยที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงสุดในปีนี้
เช่นเดียวกับ เดวิด อัศวนนท์ มันคือช่วงเวลาที่วงการบันเทิงไทยได้ทำความรู้จักกับบทบาท ‘เฮซุส’ ที่ส่งให้เขาก้าวขึ้นไปคว้ารางวัลนักแสดงนำชายยอดเยี่ยมจากเวทีสุพรรณหงส์ ครั้งที่ 22 และกลายเป็นนักแสดงคุณภาพที่งานชุกที่สุดคนหนึ่งของวงการบันเทิง
ในโอกาสครบรอบ 6 ปีของ เคาท์ดาวน์ THE STANDARD จะพาย้อนกลับไปทำความรู้จักกับจุดเริ่มต้นที่เต็มไปด้วยมิตรภาพนี้พร้อมๆ กัน
5 4 3 2 1
ย้อนกลับไปที่จุดเริ่มต้นของ ‘เคาท์ดาวน์’
จุดเริ่มต้นและจุดเปลี่ยนสำคัญของบาส นัฐวุฒิ และเดวิด อัศวนนท์ เกิดขึ้นหลังจากหนังสั้น Misbehavers ความยาวประมาณ 45 นาที ถูกนำไปฉายเปิดตัวในงานนิทรรศการประจำปีของ Thai Artists Alliance of New York (TAA) เครือข่ายที่รวมศิลปินไทยในนิวยอร์กหลากหลายสาขาไว้ในที่เดียวกัน และในวันนั้นเองมันคือโมเมนต์การเปิดตัว ‘เฮซุส’ ซึ่งแสดงโดย เดวิด อัศวนนท์ เป็นครั้งแรกต่อหน้าสาธารณชน หลังจากเขาเหินฟ้าสู่นิวยอร์กเพื่อลงเรียนศาสตร์การแสดงและใช้ชีวิตที่นั่นอยู่นานหลายปี
“คาแรกเตอร์ ‘เฮซุส’ มันเกิดขึ้นมาจากจุดด่างดำในตัวผม เพราะผมก็มีเรื่องที่ฝังใจในชีวิตเยอะ เพราะฉะนั้นความโกรธ ความเหี้ยม มันมาจากประสบการณ์ส่วนตัวที่ฝังอยู่ เพียงแต่เราไม่ได้เอาไปใช้กับใครในชีวิตประจำวัน โดยส่วนตัวผมก็ไม่ใช่คนมีนิสัยเกเร ไม่ใช่ว่าอารมณ์เสียที่ไหนแล้วมาพาลใส่คนใกล้ตัว ผมเกลียดคนแบบนั้นมาก เพราะฉะนั้นผมจะพยายามไม่เป็นในสิ่งที่ตัวผมเองไม่ชอบ” เดวิดเคยพูดถึงคาแรกเตอร์ที่ทำให้ผู้คนจะจดจำเขาได้ดีไปตลอดกาล
ขณะเดียวกัน ในวันนั้นหนังสั้นเรื่อง Misbehavers ก็สร้างความประทับให้กับผู้ชมพร้อมเสียงปรบมือดังกึกก้อง ซึ่งมันก็ดังพอจะทำให้ เก้ง-จิระ มะลิกุล และวรรณฤดี พงษ์สิทธิศักดิ์ สองโปรดิวเซอร์คนสำคัญผู้อยู่เบื้องหลังหนังของ GTH และ GDH ในปัจจุบันสนอกสนใจ กระทั่งชักชวนนักทำหนังสั้นจากนิวยอร์กมารีเมกหนังของตัวเองให้กลายเป็นฉบับสตูดิโอเต็มรูปแบบ
ปี 2010 เดินหน้าสู่ ‘เคาท์ดาวน์’
หลังจากได้รับความสนใจจาก GTH บาส นัฐวุฒิ เดินทางกลับเมืองไทยเพื่อพัฒนาบทหนัง เคาท์ดาวน์ ซึ่งยังคงใช้โครงเรื่องหลักจากหนังสั้น Misbehavers ของตัวเอง แน่นอน เมื่อจะทำงานระดับสตูดิโอ นักแสดงนำของเรื่องจึงต้องได้รับความสนใจในระดับคนบันเทิงอาชีพ หากแต่ตัวละครสำคัญที่จะเปลี่ยนตัวละครไปไม่ได้เป็นอันขาดคือ ‘เฮซุส’ โดย เดวิด อัศวนนท์
“พูดจริงๆ ตอนนั้นก็ยังไม่ชัวร์ครับ ด้วยความที่มันคือหนังยาว มีทุนจากค่ายหนังที่มีชื่อเสียงในเมืองไทย เราเลยไม่รู้ว่าตัวเองจะต้องไปออดิชันแข่งกับใครหรือเปล่า ในใจก็ลุ้นๆ
“ผมยังถามบาสอยู่เลยว่าต้องไปออดิชันบทนี้กับใครหรือเปล่า ซึ่งบาสมันก็พูดประโยคที่ทำให้ผมซึ้งมากว่า ถ้าไม่มีป๋า แม่งไม่มีเรื่องนี้นะเว้ย ป๋าแม่งคือเฮซุสของหนังเรื่องนี้ คนอื่นไม่มีทางเล่นได้”
เช่นเดียวกับผู้กำกับหนุ่ม เขาเองก็คอมเมนต์ถึงนักแสดงและตัวละครสำคัญในหนังของเขาไว้ด้วยเช่นกัน
“ทุกอย่างเริ่มต้นจากการที่ผมรู้จักมัน เพราะถ้าผมไม่รู้จักเดวิด ก็จะไม่มีตัวละครตัวนี้เกิดขึ้นมา และไม่มีทางที่จะมีหนังเรื่องนี้ หรือถ้ามี หนังก็อาจจะเล่าไปในอีกทางหนึ่งไปเลย พูดง่ายๆ เดวิดถือเป็นดีเอ็นเอของหนังเรื่องนี้
“มีอย่างหนึ่งที่ผมชอบในตัวเดวิด คือเขาเป็นคนที่ไม่สามารถคาดเดาการกระทำล่วงหน้าได้ คาแรกเตอร์ของเขา ถ้าคนชอบก็รักเลย แต่ถ้าเหวอก็ไม่ชอบไปเลยเหมือนกัน เอาจริงๆ นะ มีเพื่อนผมหลายคนที่พอได้รู้จักกับเขาก็เหวอไปเลย เรียกว่ากลัวและไม่กล้าเจออีกต่อไป เราเลยรู้สึกว่าไอ้คนประหลาดๆ แบบนี้มันหายากบนโลกนี้ ก็เลยต้องจดจำมันเอาไว้
“อีกอย่างผมมักจะเปรียบเทียบเดวิดเหมือนซาลาเปาทอด คือภายนอกมันดูร้อนๆ กรอบๆ เกรียมๆ แต่ข้างในแม่งสวีตมาก เหมือนเป็นซาลาเปาไส้ครีม คือเห็นดิบๆ เถื่อนๆ อย่างนี้ แต่จริงๆ มันเป็นคนดี ดีกว่าคนสุภาพหลายคนที่ผมเคยเจอ มันมีมุมเซนสิทีฟ มันมีมุมที่แคร์คนอื่น เพียงแต่คนเรามีวิธีแสดงออกที่แตกต่างกัน”
จุดเริ่มต้นของมิตรภาพระหว่างผู้กำกับและนักแสดง
ในวงการหนังต่างประเทศ เรามักจะเห็นว่าผู้กำกับและนักแสดงหลายต่อหลายคนทำงานร่วมกันจนกลายเป็นพาร์ตเนอร์คู่ใจ ซึ่งดูเหมือนว่าระหว่างบาสและเดวิดก็ใกล้เคียงกับนิยามนี้อยู่เหมือนกัน
“ถามว่าเดวิดเป็นนักแสดงคู่ใจไหม บอกเลยว่าคู่ใจ เราทำงานร่วมกันมาเยอะ และถ้าเป็นไปได้ ผมอยากทำงานกับมันไปตลอด พยายามจะหาบทดีๆ มาให้ หาบทอะไรที่จะสามารถท้าทายความสามารถในการแสดงให้กับมัน” -ว่าแต่จุดเริ่มต้นแห่งมิตรภาพของพวกเขาอยู่ตรงไหน
เดวิด อัศวนนท์ คือหลานชายแท้ๆ ของอมรา อัศวนนท์ นางเอกระดับตำนานของประเทศ ย้อนกลับไปก่อนหน้านี้ 7 ปี เดวิดเคยเป็นทั้งนักแสดงและพิธีกรรายการโทรทัศน์อย่าง Inside Entertainment ในยุคไอทีวี เคยเป็น CJ และพิธีกรรายการให้กับ Chic Channel ทางเคเบิลทีวีชื่อดัง นอกจากนั้นเขายังเคยร่วมแสดงในหนังแอ็กชัน ต้มยำกุ้ง (2548) ในบทตำรวจหนุ่มคู่หูของ หม่ำ จ๊กมก ก่อนจะค่อยๆ หายหน้าไปจากวงการบันเทิงไทยอย่างไร้คนสนใจ
ที่สุดในวัยต้น 30 เดวิดตัดสินใจเหินฟ้าไปนิวยอร์ก เขาเลือกเรียนศาสตร์การแสดงที่ The Lee Strasberg Theatre and Film Institute จากหลักสูตร 2 ปี เขาเรียนจบภายในระยะเวลาปีครึ่ง หลังจากนั้นก็ใช้ชีวิตเยี่ยงนกไร้ขา โบยบินอยู่ในมหานครใหญ่ ออกไล่ล่าตามหาโอกาสเพื่อต่อยอดความฝัน ระหว่างใช้ชีวิตที่นั่น เดวิดหาเลี้ยงชีพด้วยการเป็นพนักงานเสิร์ฟ รับงานเป็นล่ามบ้าง เป็นอาจารย์สอนภาษาอังกฤษให้กับนักเรียนไทย พร้อมกับการเข้าออดิชันงานแสดงอยู่เรื่อยๆ กระทั่งโชคชะตาได้นำพาเขามารู้จักกับบาส นัฐวุฒิ คนทำหนังรุ่นใหม่ที่ไปใช้ชีวิตอยู่ในเมืองเดียวกัน
“ช่วง 2-3 เดือนแรกที่อยู่นิวยอร์ก ผมได้รู้จักบาสจากคำแนะนำของน้องร่ม (ร่มฉัตร ธนาลาภพิพัฒน์ แอ็กติ้งโค้ชชื่อดัง ซึ่งครั้งหนึ่งเธอคือแอ็กติ้งโค้ชของภาพยนตร์ เคาท์ดาวน์ ด้วยเช่นกัน) เป็นเพื่อนในโรงเรียนเดียวกันกับผม น้องร่มมาเรียนการแสดงเพื่อที่จะนำวิชาไปใช้สำหรับการเป็นแอ็กติ้งโค้ชให้กับตัวเอง วันหนึ่งร่มก็บอกกับผมว่ามีผู้กำกับคนหนึ่งอยากทำหนังสั้นประมาณ 20 นาที เขากำลังหานักแสดงอยู่ ซึ่งผมก็สนใจ คือหลังจากได้ร่วมงานกันในหนังสั้นเรื่องแรก ผมก็พบว่าเราสามคนทำงานเข้าขากันดี มีความสนุก หลังจากนั้นผมก็เหมือนเป็นหุ่นกระบอกของบาสมาโดยตลอด”
หนังสั้นเรื่องแรกที่ทั้งคู่ร่วมงานกันมีชื่อว่า The Silent Conversation ความยาวเกือบ 20 นาที จุดเริ่มต้นเล็กๆ ที่ทำให้ทั้งคู่เปลี่ยนระยะความสัมพันธ์จากเพื่อนร่วมงานกลายมาเป็นเพื่อนร่วมทางในการต่อยอดความฝัน คนหนึ่งอยากทำหนัง
อีกคนหนึ่งอยากเป็นนักแสดง และอีกคนอยากเป็นแอ็กติ้งโค้ช
“Welcome to the Night of the Life!”
เสียงทักทายสุดกวนตีนจาก ‘เฮซุส’ ในตัวอย่างหนัง เคาท์ดาวน์ สร้างความประทับใจให้ผู้ชมได้ตั้งแต่แรกเห็น กระทั่งหนังออกมาฉายจริงในวันที่ 20 ธันวาคม 2555 และเฮซุสได้กลายเป็นอีกหนึ่งในคาแรกเตอร์ที่ต้องจดจำในหน้าประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไทย และปีต่อมาในวันที่ 1 มีนาคม 2556 เดวิด อัศวนนท์ ก้าวขึ้นไปคว้ารางวัลนักแสดงนำชายยอดเยี่ยมจากเวทีสุพรรณหงส์ ครั้งที่ 22 ขณะที่นัฐวุฒิ พูนพิริยะ ก้าวขึ้นไปคว้ารางวัลบทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม จาก เคาท์ดาวน์
วันนี้หลังจากหนัง เคาท์ดาวน์ เข้าฉายไป 6 ปี เดวิดก้าวขึ้นมาเป็นนักแสดงคุณภาพที่งานชุกอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดในต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2561 เราจะได้ชม Samui Song (สมุยซอง) หนังเรื่องใหม่ของเป็นเอก รัตนเรือง ที่เขาร่วมแสดง
ขณะที่บาส นัฐวุฒิ ที่ต้องเรียกว่าปี 2560 คือปีทองของเขาอย่างแท้จริง หลังจากหนังเรื่องที่สองอย่าง ฉลาดเกมส์โกง (Bad Genius) ประสบความสำเร็จอย่างสูงทั้งในและนอกประเทศ โดยเฉพาะประเทศจีนที่ ฉลาดเกมส์โกง ในชื่อภาษาจีน 天才枪手 (Tiāncái qiāngshǒu) หรือ มือปืนอัจฉริยะ กวาดรายได้ไปเกินกว่า 200 ล้านหยวน ซึ่งทำให้เราเชื่อว่าผู้ชายที่เริ่มต้นตามฝันและเติบโตขึ้นจากหนังเรื่องเดียวกันจะยังคงไปต่อได้อีกไกลบนเส้นทางที่เขาเลือกและพิสูจน์ตัวเองจนสำเร็จแล้วว่า ‘คือตัวจริง’
Photo: