×

นับถอยหลังสู่วันครีษมายัน 21 มิถุนายน วันที่กลางวันยาวนานกว่ากลางคืน และปีนี้มีสุริยุปราคา

โดย Mr.Vop
17.06.2020
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

4 mins. read
  • ปรากฏการณ์สุริยุปราคาที่จะเกิดในวันครีษมายันนี้ เป็นสุริยุปราคาครั้งที่ 36 ในวัฏจักรซารอสที่ 137 มีรูปแบบเป็นสุริยุปราคาชนิดวงแหวน ซึ่งเป็นสุริยุปราคาที่เกิดในช่วงเวลาที่ดวงจันทร์อยู่ห่างโลก ทำให้ดวงจันทร์มีขนาดที่มองเห็นจากโลกเล็กกว่าปกติจนบังดวงอาทิตย์ไม่มิด เหลือแสงเป็นขอบรูปวงกลมเหมือนแหวน กลายเป็นที่มาของชื่อสุริยุปราคาแบบนี้
  • ในประเทศไทยเราอยู่นอกเส้นเงามืดของดวงจันทร์ เราจึงเห็นสุริยุปราคาในครั้งนี้แบบสุริยุปราคาบางส่วนไม่เห็นเป็นวงแหวน โดยจะเห็นการบังมากที่สุดที่จุดเหนือสุดของอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย การบังเต็มที่จะเกิดเวลา 14.42.40 น. ตามเวลาไทย โดยจะเห็นพื้นที่ๆ ดวงอาทิตย์ถูกพระจันทร์บังไป 62.88% แต่ในตัวเมืองเชียงรายจะเห็นที่ 60.7%
  • สำหรับกรุงเทพมหานครการบังเต็มที่จะเกิดเวลา 14.49 น. ที่ 39.5% และการบังจะเกิดขึ้นน้อยที่สุดที่จังหวัดยะลา 14.55 น. ที่ 18.4% ของพื้นที่ดวงอาทิตย์

เราทุกคนรู้ว่าในฤดูร้อนของทุกปี ช่วงเวลากลางวันจะยาวนานกว่ากลางคืน นั่นหมายความว่าท้องฟ้าในฤดูร้อนจะสว่างเร็วและมืดช้ากว่าฤดูหนาว 

 

เหตุที่เป็นเช่นนี้ก็เนื่องมาจากความเอียงของแกนโลก ทำให้ในรอบหนึ่งปีที่โลกโคจรไปรอบดวงอาทิตย์ จะมีบางเดือนที่ซีกบนคือซีกโลกเหนือ ซีกที่ประเทศไทยเราตั้งอยู่ เอียงเข้าหาดวงอาทิตย์นานกว่าเดือนอื่น และจะมีอยู่หนึ่งวันในรอบปีที่ช่วงเวลากลางวันยาวที่สุด เราเรียกวันนั้นว่าวัน ‘ครีษมายัน’ ซึ่งในปีนี้จะตรงกับวันที่ 21 มิถุนายน และที่พิเศษกว่าปีอื่นคือ จะมีปรากฏการณ์สุริยุปราคาในวันนั้นด้วย

 

 

ปรากฏการณ์สุริยุปราคาที่จะเกิดในวันครีษมายันนี้เป็นสุริยุปราคาครั้งที่ 36 ในวัฏจักรซารอสที่ 137* มีรูปแบบเป็นสุริยุปราคาชนิดวงแหวน ซึ่งเป็นสุริยุปราคาที่เกิดในช่วงเวลาที่ดวงจันทร์อยู่ห่างโลก (ดวงจันทร์ผ่านจุด Apogee หรือจุดที่อยู่ไกลโลกที่สุดในเดือนมิถุนายนนี้เมื่อวันที่ 15 และอีก 6 วัน คือวันที่ 21 ก็เกิดสุริยุปราคา) ทำให้ดวงจันทร์มีขนาดที่มองเห็นจากโลกเล็กกว่าปกติจนบังดวงอาทิตย์ไม่มิด เหลือแสงเป็นขอบรูปวงกลมเหมือนแหวน กลายเป็นที่มาของชื่อสุริยุปราคาแบบนี้

 

สุริยุปราคาวงแหวนครั้งนี้แนวคราสที่จะเห็นดวงอาทิตย์มืดเป็นรูปวงแหวนคือส่วนที่อยู่ใต้เงามืดของดวงจันทร์ (แสดงโดยเส้นนอนสีแดงในภาพล่าง) จะเริ่มต้นที่สาธารณรัฐคองโกในทวีปแอฟริกา 11.57.46 น. ตามเวลาไทย เงามืดจะเคลื่อนผ่านไปทางซูดานใต้ ผ่านเอธิโอเปีย เอริเทรีย จากนั้นลงสู่ทะเลแดง ผ่านตะวันออกกลาง เยเมน ซาอุดีอาระเบีย โอมาน จากนั้นจะเข้าสู่ปากีสถาน แล้วเข้าสู่ประเทศอินเดีย

 

จุดกึ่งกลางคราส หรือจุดที่จะเห็นสุริยุปราคานานที่สุด (ดอกจันทร์ในภาพล่าง) จะอยู่ที่พิกัด 30° 31′ 11.1″ N, 79° 39′ 54.2″ E ในประเทศอินเดีย ตรงกับเวลา 12.10.04 น. ตามเวลาท้องถิ่น หรือเวลา 13.40.04 น. ตามเวลาไทย พื้นที่ดวงอาทิตย์ถูกบังไป 98.89% ขณะดวงอาทิตย์อยู่ที่ความสูง 83° จากขอบฟ้า

 

หลังจากนั้นเงามืดของดวงจันทร์จะออกจากอินเดีย เคลื่อนผ่านจีน เข้าสู่ประเทศไต้หวัน แล้วไปสิ้นสุดในมหาสมุทรแปซิฟิก นอกชายฝั่งทางทิศใต้ของเกาะกวมเวลา 15.24.44 น. ตามเวลาไทย

 

 

ในประเทศไทยเราอยู่นอกเส้นเงามืดของดวงจันทร์ เราจึงเห็นสุริยุปราคาในครั้งนี้แบบสุริยุปราคาบางส่วนไม่เห็นเป็นวงแหวน โดยจะเห็นการบังมากที่สุดที่จุดเหนือสุดของอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย การบังเต็มที่จะเกิดเวลา 14.42.40 น. ตามเวลาไทย โดยจะเห็นพื้นที่ๆ ดวงอาทิตย์ถูกพระจันทร์บังไป 62.88% แต่ในตัวเมืองเชียงรายจะเห็นที่ 60.7%

 

จังหวัดเชียงใหม่ การบังเต็มที่จะเกิดเวลา 14.41 น. ที่ 55.9% จังหวัดนครราชสีมา การบังเต็มที่จะเกิดเวลา 14.52 น. ที่ 45.2% ภูเก็ต การบังเต็มที่จะเกิดเวลา 14.45 น. ที่ 19.8% ของพื้นที่ดวงอาทิตย์

 

 

สำหรับกรุงเทพมหานคร การบังเต็มที่จะเกิดเวลา 14.49 น. ที่ 39.5% และการบังจะเกิดขึ้นน้อยที่สุดที่จังหวัดยะลา 14.55 น. ที่ 18.4% ของพื้นที่ดวงอาทิตย์

 

ท่านสามารถดูเวลาและขนาดพื้นที่ดวงอาทิตย์ที่จะถูกพระจันทร์บัง โดยปักพิกัดที่ท่านสนใจ ลงในแผนที่ของเว็บไซต์นี้ https://theskylive.com/solar-eclipse?id=2020-06-21

 

สำหรับการชมปรากฏการณ์สุริยุปราคาบางส่วนวันครีษมายันในไทย ห้ามดูด้วยตาเปล่าอย่างเด็ดขาด แว่นกันแดดธรรมดาก็ป้องกันดวงตาท่านไม่ได้ หากจะมองโดยตรง วิธีที่ปลอดภัยคือใช้แผ่นกรองแสงที่เหมาะสม ได้แก่ แว่นสุริยะที่ทำมาโดยเฉพาะ หรือแผ่นกระจกหน้ากากของช่างเชื่อมโลหะ หาซื้อได้ตามร้านวัสดุก่อสร้าง ให้เลือกเบอร์ 14 ขึ้นไป หรืออาจใช้ฟิล์มเอกซเรย์ซ้อนกันหลายชั้น (ใช้ได้เฉพาะส่วนมืดสนิทที่ไม่มีภาพเท่านั้น) และควรดูครั้งละไม่เกิน 1 นาที แล้วหยุดพัก

 

 

หรืออาจใช้วิธีมองเงาแทน เช่น สังเกตเงาที่ลอดผ่านใบไม้ใต้ต้นไม้ใหญ่บนพื้น หรืออาจใช้หลักการดูเงาผ่านรูเล็กๆ เช่น ซึ้งนึ่งข้าว หรือเจาะรูกล่องกระดาษแข็ง แล้วสังเกตการเกิดเงาในกล่อง เป็นต้น

 

อีกวิธีที่สะดวกคือ ท่านสามารถชมปรากฏการณ์สุริยุปราคาแบบวงแหวนที่เกิดในประเทศต่างๆ ตามเส้นทางที่เงามืดพาดผ่าน โดยเข้าไปดูการถ่ายทอดสดที่ https://youtu.be/du1JNrFD0M0 และ https://youtu.be/M5t14F-ivNY 

 

ปี 2563 นี้จะมีปรากฏการณ์สุริยุปราคาอีกครั้งในวันที่ 14 ธันวาคม เป็นสุริยุปราคาแบบเต็มดวง แต่ต้องเดินทางไปชมที่ประเทศอาร์เจนตินา ซึ่งคงไม่สะดวกเท่าชมสุริยุปราคาในประเทศไทยเราเอง ที่แม้จะไม่บังเต็มดวง แต่ก็เป็นปรากฏการณ์ที่ไม่ได้เกิดง่ายๆ เพราะเป็นสุริยุปราคาในวันครีษมายันนั่นเอง

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

FYI

วัฏจักรซารอส 

ทุกๆ 18 ปี 11 วัน กับอีก 8 ชั่วโมง ดวงจันทร์และโลกจะโคจรรอบดวงอาทิตย์จนมาเรียงตัวในลักษณะเดิม ก่อให้เกิดปรากฏการณ์สุริยุปราคาขึ้น เงาของดวงจันทร์ที่กวาดผ่านไปบนผิวโลกจะมีรูปแบบเกือบซ้ำเดิมในทุกรอบ แต่จะไม่ซ้ำประเทศ โดยจะเลื่อนไปทางตะวันตกครั้งละ 120° จากเศษ 8 ชั่วโมงของวงรอบข้างต้น เราเรียกรูปแบบการเกิดเงานี้ว่า วัฏจักรซารอส หรือ Saros Cycle และมีการตั้งหมายเลขเพื่อกำกับซารอสต่างๆ เอาไว้เพื่ออ้างอิง เงาที่เกิดในซารอสเดียวกันจะขยับจากซีกโลกหนึ่งไปอีกซีกโลกหนึ่งครั้งละนิด แต่ละซารอสจะมีอายุเฉลี่ยราว 1,300 ปี ก็จะจบสิ้นไป ระหว่างนั้นก็จะมีซารอสใหม่เกิดขึ้นมาแทน

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X