×

สภาถกปมนักข่าว-ช่างภาพถูกจับ ก้าวไกลชี้ เสรีภาพสื่อคือเสรีภาพประชาชน ภูมิธรรมขออย่าโทษรัฐบาล ยันไม่เกี่ยว

โดย THE STANDARD TEAM
15.02.2024
  • LOADING...
เสรีภาพสื่อ

วันนี้ (15 กุมภาพันธ์) ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร วาระกระทู้ถามสดด้วยวาจา ที่มี ปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาคนที่ 1 ทำหน้าที่เป็นประธานในที่ประชุม, ภคมน หนุนต์อนันต์ สส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ตั้งกระทู้ถาม เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ถึงกรณีที่สื่อมวลชนถูกจับกุมเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยมี ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี ได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรีให้เป็นผู้ตอบกระทู้ถามแทน

 

ภคมนกล่าวว่า เมื่อเราพูดถึงเสรีภาพของสื่อมวลชน หมายถึงว่าเรากำลังพูดถึงเสรีภาพของประชาชนทั้งประเทศด้วย นับตั้งแต่การรัฐประหารปี 2557 มีการละเมิดเสรีภาพสื่อในหลายรูปแบบ ทั้งการใช้กำลัง การควบคุมแทรกแซง รวมไปถึงการฟ้องปิดปาก พร้อมทั้งเรียบเรียงเหตุการณ์ที่สื่อมวลชนถูกจับกุมหลายเหตุการณ์ว่า เหตุการณ์ทั้งหมดเกิดขึ้นในช่วงเผด็จการ หรือเป็นยุครัฐบาลสืบทอดอำนาจ แต่เหตุการณ์ล่าสุดเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา มีการจับกุมสื่อมวลชน สำนักข่าวประชาไทและช่างภาพอิสระ โดยเป็นการทำข่าวกิจกรรมพ่นสีกำแพงวัดพระแก้ว ถูกเชื่อมโยงว่าผู้ถูกจับเป็นการกระทำร่วมสนับสนุนผู้กระทำผิดในคดีอาญา

 

ภคมนกล่าวต่ออีกว่า รัฐบาล โดยเฉพาะสำนักงานตำรวจแห่งชาติและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควรให้ความเคารพและคำนึงถึงสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชน โดยเฉพาะการตั้งข้อกล่าวหา ต้องไม่สร้างข้อจำกัดหรือก่อให้เกิดความหวาดวิตกต่อสาธารณะ ขณะเดียวกันการดำเนินคดียังข้ามขั้นตอน ไม่มีการส่งหมายเรียกมาก่อน ตนเข้าใจว่าเรื่องเกิดในรัฐบาลที่แล้ว แต่การข้ามขั้นตอนแบบนี้ ตนไม่แน่ใจว่าปล่อยให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นได้อย่างไร โดยเฉพาะกับคดีฟ้องปิดปากแบบนี้ หากตอบไม่ได้จะเป็นการทำลายความน่าเชื่อถือและความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบ จึงตั้งคำถามว่า เป็นการส่งสัญญาณเตือนสื่อมวลชนเพื่อสร้างความหวาดกลัวหรือไม่

 

ภูมิธรรมยัน รัฐบาลไม่เกี่ยว

 

ภูมิธรรมกล่าวตอบคำถามดังกล่าวว่า รัฐบาลห่วงใยในเสรีภาพของประชาชนและสื่อมวลชน ทุกอย่างที่เกิดเราพูดหลักการมันไม่ตอบโจทย์ หลักการเราชัดเจนอยู่แล้ว ตนเชื่อว่ารัฐบาลกับฝ่ายค้านก็เห็นไม่ต่างกัน แต่เวลาเกิดกระบวนการต้องไปดูรูปธรรมที่เกิด ซึ่งกระบวนการยุติธรรมเกิดขึ้นกับสิ่งที่เกิดขึ้น

 

“ตอนแรกก็ตกใจว่าทำไมถึงถอยหลังไปขนาดนั้น เราก็รู้กันอยู่แล้วว่ารัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งที่มีปัญหา เพราะฉะนั้นการเกิดยาวไปจะสร้างความไม่เข้าใจ กลายเป็นว่าเป็นการกระทำของรัฐบาลนี้ ท่านพูดว่าเกี่ยวกับรัฐบาลเก่า ไม่เกี่ยวกับรัฐบาลนี้ เพราะฉะนั้นควรจะเข้ามาสู่รัฐบาลนี้เลย ถ้าไปโยงแล้วทำเหมือนรัฐบาลนี้เห็นพ้องต้องกัน ผมไม่อยากให้ใช้วาทกรรมแบบนี้” ภูมิธรรมกล่าว

 

ภูมิธรรมกล่าวต่อว่า รัฐบาลนี้เป็นรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนตามระบอบประชาธิปไตย สิ่งที่รัฐบาลเข้ามายืนตรงนี้ได้มาจากเสียงของประชาชน เสียงของประชาชนที่สะท้อนมาจากสื่อมวลชน จึงเป็นงานของรัฐบาลที่จะต้องปกป้องเสรีภาพของสื่อมวลชน ในฐานะที่เป็นอีกหนึ่งในการสร้างสมดุลอำนาจในสังคมประชาธิปไตย เรื่องนี้รัฐบาลยืนยันและคิดว่าเป็นสิ่งที่เราปฏิบัติอย่างเต็มที่

 

“แต่สิ่งที่สำคัญในระบอบประชาธิปไตย การใช้สิทธิเสรีภาพของแต่ละส่วนก็ต้องเป็นไปตามกฎหมาย ดังนั้นถ้ามีสิ่งใดที่จะล่วงเกินหรือละเมิดก็ต้องให้กระบวนการยุติธรรมมาเกี่ยวข้อง ผมยังไม่ยืนยันหรือสรุป คิดว่ากระบวนการยุติธรรมกำลังทำหน้าที่ เรื่องนี้เกิดขึ้นสมัยรัฐบาลที่แล้ว ไม่ได้เกี่ยวข้องกับรัฐบาลนี้โดยตรง” ภูมิธรรมกล่าว

 

ภูมิธรรมกล่าวว่า รัฐบาลนี้เพิ่งมาได้ 5 เดือน ไม่ได้มีงบประมาณดำเนินงานตามที่อยากทำ เราทำในโครงสร้างต่างๆ ที่สะสมมาจากอดีตหรือปัญหาที่สั่งสมมา หลายเรื่องยังทำไม่ได้ในปัจจุบัน แต่อำนาจรัฐบาลไม่ได้อยู่เหนือกฎหมาย และอย่าเพิ่งด่วนสรุปว่ารัฐบาลปิดปาก ขอให้ดูกระบวนการยุติธรรมก่อนดีหรือไม่ ถ้าชัดเจนว่าไม่มีหลักฐานและคุกคาม ตนเชื่อว่ารัฐบาลนี้ก็ไม่ปล่อยให้เสรีภาพของประชาชนถูกคุกคาม แต่ถ้าด่วนสรุปไป อย่าเหมารวมว่าเป็นระบบไปทั้งหมด ส่วนกรณีสื่อมวลชน 2 รายรัฐบาลก็เสียใจที่เรื่องนี้เกิดขึ้น แต่อย่างไรก็ตามต้องเรียนให้ทราบว่า หมายจับออกตั้งแต่ปี 2566 ซึ่งกระบวนการยุติธรรมรัฐบาลไม่สามารถก้าวก่ายล้วงลูกได้

 

ภูมิธรรมกล่าวย้ำด้วยว่า เห็นด้วยกับหลักการท่าน แต่คิดว่าเวลามาตีความหรือมองเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นต้องดูอย่างรอบคอบ ทำใจให้เป็นธรรม อย่าเพิ่งใช้ความรู้สึก ความชอบ หรือความสนับสนุน ที่เกินไปจากข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ทุกอย่างเกิดขึ้นไปตามกระบวนการยุติธรรม รออีกสักนิดหนึ่งจะดีหรือไม่ รอให้กระบวนการต่างๆ เผยออกมาว่าถูกหรือผิด แล้วเราค่อยมาคิดร่วมกันว่าจะแก้ปัญหาอย่างไรด้วยกัน

 

“ท่านสบายใจหรือไม่ที่อดีตหัวหน้าพรรคท่านหรือหัวหน้าพรรคท่านไปเกี่ยวข้องหรือสัมพันธ์กับคนที่ไปก่อคดีคุกคามขบวนเสด็จฯ อยู่ โบราณเขาบอกว่ารักวัวให้ผูกรักลูกให้ตี เราเข้าใจ เราเห็นใจ เรารักใคร ถ้าทำไม่ดีเราก็ต้องช่วยกันตักเตือน คัดค้าน เดี๋ยวนี้เขาไม่ตีกันครับ เขาใช้การพูดคุย การให้ความรู้ ความคิด ให้ความเข้าใจว่าสิ่งใดกฎหมายบังคับ สิ่งใดสมควรหรือไม่สมควร แล้วอยู่ๆ เรื่องนี้ก็มาโทษรัฐบาล ผมว่าฝ่ายค้านต้องทำหน้าที่ตรวจสอบอย่างมีเหตุผลนะครับ เมื่อวานท่านกำลังเรียกร้องให้เคร่งครัดอยู่ดีๆ วันนี้ท่านมาบอกว่าเราใช้อำนาจไปคุกคาม ท่านก็คงไม่สบายใจถ้าใครมากล่าวหาโดยตรงว่าเป็นอย่างโน้นอย่างนี้ หรืออยู่เบื้องหลังอะไรต่างๆ” ภูมิธรรมกล่าว

 

ภูมิธรรมกล่าวต่อว่า ขอให้ใจเย็นๆ ทุกอย่างว่าไปตามเหตุผล ถ้ากฎหมายไปสร้างเรื่องเท็จ เรามาคุยกันทั้งรัฐบาลและฝ่ายค้าน ซึ่งในข้อเท็จจริงไม่ถูกปิดกั้นการแสดงออก บอกว่าการพ่นสีวัดพระแก้ว การบีบแตรขบวนเสด็จฯ เป็นเรื่องเดียวกัน รัฐบาลพยายามทำ ขณะเดียวกันก็ให้ความนุ่มนวล ยืนยันว่าจะนำไปเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา

 

“ท่านอยากให้ความขัดแย้งใหม่กลับมาเหรอครับ แล้วถ้าความขัดแย้งแบบใหม่เกิดขึ้นมา ท่านพยายามปลุกให้สังคมเกิดการเผชิญหน้ากัน ท่านอยากเห็นเมืองไทยใน 10 ปีที่ผ่านมากลับไปแบบเดิมอีกหรือไม่ ทุกคนไม่ว่าจะเป็นประชาชน หรือแม้แต่รัฐบาลและฝ่ายค้าน ก็ต้องและเคารพกฎกติกา สังคมถึงจะสงบสุข” ภูมิธรรมกล่าว

 

จากนั้นภคมนจึงกล่าวต่อว่า ตนยังไม่ได้พูดถึงขบวนเสด็จฯ อย่าเพิ่งไปไกลถึงขนาดนั้น ตนพูดถึงเสรีภาพสื่อที่ไม่ได้เป็นอิสระจากนายทุน เพราะต้องพึ่งพาแหล่งทุน อย่าลืมว่าสื่อมวลชนต้องอาศัยความน่าเชื่อถือ เมื่อรัฐไปจับกุม ทำให้ลดทอนความน่าเชื่อถือ ต้นสังกัดก็ต้องออกมาปกป้องตัวเองและเลือกที่จะผลักไสแรงงาน ทำให้สื่อมวลชนไม่กล้าที่จะปกป้องตัวเอง วันนี้เราอยู่ในยุครัฐบาลพลเรือน เราจะปล่อยให้เรื่องนี้เกิดขึ้นต่อไปอย่างนั้นหรือไม่ นอกจากนี้รัฐยังมีการให้ลงทะเบียน ซึ่งชี้ได้ว่าใครเป็นสื่อหรือไม่เป็นสื่อ ซึ่งต้องถามต่อว่า หลังจากนี้เทคโนโลยีที่ใครๆ ก็เป็นสื่อได้เรามีข้อกำหนดอะไร ตนอยากถามว่าเราจะมีการคุ้มครองเสรีภาพอย่างไร 

 

“นี่ไม่ใช่การด่วนสรุป เพราะในสังคม กระบวนการยุติธรรมต้องเชื่อถือได้ สร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนได้ ดิฉันไม่ได้บอกว่ารัฐปิดปากหรือรัฐบาลแทรกแซงกระบวนการยุติธรรม แต่เราจะแก้ไขมันอย่างไร เพื่อให้กระบวนการยุติธรรมเป็นไปตามขั้นตอน ไม่ใช่ดิฉันไม่ทำการบ้านว่าเรื่องนี้เกิดขึ้นสมัยรัฐบาลที่แล้ว แต่วันนี้รัฐบาลของท่านเป็นผู้บริหารประเทศ รัฐบาลเป็นพื้นที่ที่กว้างที่สุดในการพูดถึง ที่แห่งนี้คือพื้นที่ที่ปลอดภัยที่สุดที่เราจะคุยกันเรื่องนี้” ภคมนกล่าว

 

ภคมนกล่าวเสริมอีกว่า หน้าที่สำคัญของสื่อคือการนำเสนอข้อเท็จจริง สะท้อนสิ่งที่เกิดขึ้น ถือเป็นสิ่งที่สื่อทั้งสองคนทำอย่างสมบูรณ์ที่สุดแล้ว เรื่องนี้สื่อใหญ่ไม่ค่อยพูดกันแล้ว รัฐบาลพลเรือนชุดนี้จะสลัดรอยต่อของรัฐบาลเผด็จการได้และคืนศักดิ์ศรีเสรีภาพให้กับประชาชนได้หรือไม่ ตนยกเรื่องนี้มาพูดเพราะคาดหวังว่ารัฐบาลชุดนี้จะเปิดพื้นที่ตรงกลางให้กว้างที่สุด

 

ภูมิธรรมกล่าวตอบว่า อย่ากังวลใจหรือหมกมุ่นกับสิ่งที่จะเกิด และอย่าจินตนาการต่อเนื่องว่ารัฐบาลที่เข้ามาใหม่จะต้องทำอย่างนั้นอย่างนี้ เรายืนยันว่ารัฐบาลนี้ให้ความเคารพสิทธิเสรีภาพของประชาชนและสื่อมวลชน พร้อมยกตัวอย่างเรื่องของการเขียนวิเคราะห์บทความคอลัมน์วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล ซึ่งรัฐบาลก็ไม่ได้ดำเนินการอะไรแม้จะเป็นเนื้อหาที่รุนแรง 

 

“รัฐบาลนี้ยึดมั่นในเสรีภาพ ส่วนสื่อทั้งสองคนอย่ากังวลใจแทนกระบวนการยุติธรรมที่กำลังดำเนินการไป หากถึงที่สุดแล้วมีปัญหาว่าหลักฐานไม่เพียงพอที่ไปดำเนินการอย่างนั้น เราค่อยมาวิพากษ์วิจารณ์กันว่าการดำเนินการไม่เหมาะสม แต่ตำรวจยืนยันว่ามีหลักฐานครบถ้วน เราทั้งสองฝ่ายก็อย่าเพิ่งไปยืนข้างใคร รอหลักฐานก่อนแล้วค่อยมาว่ากันดีไหม ถ้าหลักฐานชัด ประเด็นคำถามก็จะไม่เกิด แต่ถ้าคำถามไม่ชัด มันก็อาจจะคิดไปได้ว่านี่คือกระบวนการคุกคามสื่อ ค่อยมาว่ากัน” ภูมิธรรมกล่าว

 

ภูมิธรรมกล่าวทิ้งท้ายว่า สื่อไม่ใช่หน่วยงานประชาสัมพันธ์หรือไอโอของใคร แม้รัฐบาลมีสื่อมวลชนก็ไม่ประชาสัมพันธ์ให้รัฐบาล ขออย่านำบางเรื่องมาหยิบยกแล้วกล่าวหาว่ารัฐบาลคุกคามสื่อ ขอให้อยู่กับความเป็นจริง คนที่จะตอบได้ดีที่สุดว่ารัฐบาลคุกคามสื่อ หรือคนที่กล่าวหาพูดไม่ครบถ้วน โดยมีประโยคที่ตัวเองอยากเชื่ออยากเห็นฝ่ายเดียว ประชาชนคือคำตอบ

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising