×

มติสภาเอกฉันท์! รับหลักการร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมห้ามทำร้ายบุตร

โดย THE STANDARD TEAM
24.07.2024
  • LOADING...
ทำร้ายบุตร

วันนี้ (24 กรกฎาคม) ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ที่ ณัฐวุฒิ บัวประทุม สส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กับคณะ เป็นผู้เสนอ ซึ่งเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เพื่อกำหนดสิทธิของผู้ใช้อำนาจปกครองใน การทำโทษบุตร ต้องไม่เป็นการกระทำทารุณกรรมหรือทำร้ายร่างกายหรือจิตใจ ที่เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมในมาตรา 1567 (2) ซึ่งเป็นการพิจารณาต่อเนื่องจากวันพุธที่ 10 กรกฎาคม 2567

 

ณัฐวุฒิกล่าวว่า ปัจจุบันประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่กำหนดสิทธิของผู้ใช้อำนาจปกครอง ว่ามีสิทธิทำโทษบุตรตามสมควรเพื่อว่ากล่าวสั่งสอนนั้น มีการบังคับใช้มาเป็นระยะเวลานาน อีกทั้งพบว่าการลงโทษนั้นหลายกรณีกลับกลายเป็นการกระทำในลักษณะทารุณกรรมหรือทำร้าย อันส่งผลกระทบต่อร่างกายหรือจิตใจของบุตร เป็นการเฆี่ยนตีบุตร หรือทำโทษด้วยวิธีการอื่นอันเป็นการด้อยค่า ส่งผลกระทบต่อพัฒนาการของบุตร และไม่นำไปสู่การแก้ไขปัญหาการกระทำผิดหรือพฤติกรรมของบุตรที่จำเป็นต้องว่ากล่าวสั่งสอน

 

ประกอบกับการปรับแก้ไขสิทธิของผู้ใช้อำนาจปกครองในการทำโทษบุตรนี้ เป็นการดำเนินการที่สอดคล้องกับอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กที่ประเทศไทยเป็นรัฐภาคี ที่ออกตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก และประเทศไทยตอบรับและให้คำมั่นโดยสมัครใจที่จะปฏิบัติตามภายใต้กลไก Universal Periodic Review (UPR) รอบที่ 2 (พ.ศ. 2559-2563) อีกด้วย

 

ณัฐวุฒิกล่าวว่า การทำร้ายร่างกายและจิตใจของเด็กจะนำไปสู่การเกิดความกลัว วิตกกังวล สภาวะเจ็บป่วยทางร่างกาย และสภาวะซึมเศร้า รวมถึงมีภาวะยอมรับตัวเองต่ำ ตลอดจนอาจมีภาวะอารมณ์แปรปรวน ก้าวร้าว ไม่เข้าใจเหตุผล จนนำไปสู่การต่อต้านสังคม จึงจำเป็นต้องทบทวนเจตนารมณ์ว่าการลงโทษเพื่อว่ากล่าวตักเตือนนั้น จำเป็นต้องใช้การเฆี่ยนตี หรือวิธีการอื่นใดที่อาจส่งผลต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิตของเด็กหรือไม่

 

ทั้งนี้ ภายหลังการอภิปรายสรุปหลักการและเหตุผลเสร็จสิ้นแล้ว ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติรับหลักการเห็นชอบด้วยกับร่างแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายฉบับดังกล่าว ด้วยคะแนนเสียง 400 เสียง ไม่ลงคะแนนเสียงอีก 1 เสียง

 

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้เกี่ยวข้องกับเด็กและเยาวชน ดังนั้นตามรัฐธรรมนูญมาตรา 128 วรรคสอง และข้อบังคับข้อที่ 121 จะต้องมีการตั้งคณะกรรมาธิการในสัดส่วนของผู้แทนองค์กรเอกชนที่เกี่ยวข้องกับเด็กและเยาวชนไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของจำนวนกรรมาธิการทั้งหมด ซึ่งตามสัดส่วนคณะกรรมาธิการที่มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเสนอจำนวน 42 คน จึงประกอบไปด้วยคณะรัฐมนตรี 7 คน พรรคการเมือง 21 คน ผู้แทนองค์กรเอกชนที่เกี่ยวข้องกับเด็กและเยาวชนอีกจำนวน 14 คน โดยมีกรอบระยะเวลาแปรญัตติ 15 วัน

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

X
Close Advertising