วานนี้ (10 สิงหาคม) สภาผู้แทนราษฎรมีวาระพิจารณารายงานประจำปี 2565 ของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ โดย ดร.ธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เริ่มต้นชี้แจงว่ากองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เมื่อปี 2558
โดยในพระราชบัญญัติซึ่งรัฐบาลในขณะนั้นได้เล็งเห็นว่าสื่อในปัจจุบันโดยเฉพาะสื่อสำหรับเด็กและเยาวชนไม่ตอบสนองต่อสถานการณ์ ซึ่งหากจะให้ภาคเอกชนดำเนินงานพบว่าไม่คุ้มค่าต่อการลงทุน นับตั้งแต่ปี 2561 จนถึงปี 2565 เป็นการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ในระยะที่ 1 ภายใต้แผนงาน 4 ด้าน
เช่น แผนงานส่งเสริมและสนับสนุนทำให้สื่อดีๆ เกิดขึ้น ให้เกิดการพัฒนาศักยภาพของผู้ผลิตสื่อ
สำหรับยุทธศาสตร์ที่ 2 คือ การสนับสนุนองค์ความรู้วิจัยและพัฒนา สื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์
ยุทธศาสตร์ที่ 3 เป็นเรื่องของการรณรงค์ ส่งเสริมและสนับสนุน ทักษะการรู้เท่าทันสื่อ รวมถึงสร้างความตระหนักรู้ให้ประชาชน มีส่วนร่วมในการเฝ้าระวังสื่อที่ไม่ปลอดภัย
ยุทธศาสตร์ที่ 4 เป็นเรื่องของการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคม
ยุทธศาสตร์ที่ 5 เป็นเรื่องของการพัฒนาองค์กร
ดร.ธนกรยังกล่าวถึงการดำเนินงานของกองทุนสื่อฯ ที่ผ่านมาว่าได้ดำเนินงานผ่าน 2 รูปแบบคือ 1. การให้ทุนสนับสนุนหรือการจัดสรรทุน โดยกันงบในส่วนนี้ไว้ 60% หรือ 300 ล้านบาท
ในส่วนรายงานประจำปีของกองทุนสื่อฯ ได้รับความสนใจจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในการอภิปรายอย่างกว้างขวาง เช่น ศรัณย์ ทิมสุวรรณ สส. จังหวัดเลย พรรคเพื่อไทย อภิปรายขอให้กองทุนสื่อเดินหน้าเข้าถึงประชาชนให้มากที่สุด เช่น การรณรงค์ให้ประชาชนรู้เท่าทันสื่อและข่าวปลอม ซึ่งในรายงานประจำปีไม่ปรากฏให้เห็นแต่เรื่องนี้
เอกราช อุดมอำนวย สส. กทม. พรรคก้าวไกล ได้อภิปรายเกี่ยวขอบเขตของสื่อปลอดภัยและสร้างตามนิยามปัจจุบันว่าดูกว้างเกินไป โดยอยากเสนอให้มีจุดโฟกัส และต้องการให้มีเครื่องมือในการสำรวจการรับรู้ของประชาชนที่ชัดเจน พร้อมทั้งเสนอแนะให้กองทุนมีแอปพลิเคชันหรือแพลตฟอร์มกลางในการเผยแพร่ผลงาน
ต่อมา รักชนก ศรีนอก สส. กทม. พรรคก้าวไกล ได้อภิปรายตั้งข้อสังเกตต่อคณะกรรมการกองทุนตามมาตรา 14 ว่ามีตัวแทนรัฐบาลและภาครัฐมากเกินไป ทำให้กองทุนขาดความเป็นอิสระ และต้องทำงานตามที่รัฐบาลต้องการ นอกจากนี้ได้รับทราบจากผู้รับทุนว่าการทำงานของกองทุนสื่อฯ ค่อนข้างยาก มีเงื่อนไขมาก และโครงการที่มีวงเงินสูงบางโครงการยังไม่พบการเผยแพร่
ด้าน ธัญธร ธนินวัฒนาธร สส. กทม. พรรคก้าวไกล ได้ตั้งข้อสังเกตถึงความหลากหลายของโครงการกองทุนสื่อฯ ว่ายังขาดความหลากหลายของหัวข้อที่สามารถเข้าถึงมวลชน กองทุนสื่อฯ อาจพิจารณาสนับสนุนด้านภาพยนตร์หรือละครโทรทัศน์ และประชาสัมพันธ์โครงการเพื่อขอรับทุนสนับสนุนไม่กว้างพอ นอกจากนั้นควรเพิ่มความหลากหลายของคณะกรรมการภายในกองทุน เช่น เพิ่มผู้ทรงคุณวุฒิที่มาจากมหาวิทยาลัย
โดย สส. ส่วนใหญ่ต่างอภิปรายว่าต้องการเห็นกองทุนสื่อฯ ทำงานร่วมกับอินฟลูเอ็นเซอร์ เพื่อดึงกลุ่มประชาชนมาติดตามผลงานของกองทุนสื่อฯ และเพื่อเพิ่มผู้ติดตามและมีผู้ชมเพิ่มขึ้น
ในช่วงท้าย ดร.ธนกรได้กล่าวขอบคุณสมาชิกที่อภิปรายตั้งข้อสังเกตและแนะนำ โดยจะสรุปเพื่อเสนอฝ่ายนโยบาย รวมถึงปรับปรุงพระราชบัญญัติที่เปิดช่องให้แก้ไขได้ต่อไป