จากกรณีที่อัยการสูงสุดพิจารณาสั่งฟ้องทักษิณ ชินวัตร ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ จากการให้สัมภาษณ์สื่อต่างประเทศเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2558 ที่กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งมีกำหนดนัดส่งตัวต่อศาลในวันพรุ่งนี้ (18 มิถุนายน)
วันนี้ (17 มิถุนายน) สหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ระบุถึงกรณีหากในวันที่ 18 มิถุนายนนี้ อัยการมีการนำตัวทักษิณส่งฟ้องต่อศาล และศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัวชั่วคราวเนื่องด้วยเหตุผลอื่นๆ ว่า หากศาลมีคำสั่งฝากขังยังเรือนจำใด บุคคลนั้นก็จะต้องถูกเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์คุมตัวเข้าเรือนจำดังกล่าว
โดยเป็นการแยกออกจากคดีเก่าที่เจ้าตัวมีโทษจำคุกและอยู่ระหว่างการพักโทษ เพราะคดีใหม่นี้ (ม.112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์) เป็นคนละส่วนกัน ซึ่งจะต้องถูกคุมขังในเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร เพราะเป็นเรือนจำระหว่างพิจารณาคดี
เมื่อถามว่าในส่วนที่ทักษิณได้รับการพักโทษและถูกคุมประพฤติ ซึ่งดำเนินการอยู่ในขณะนี้จะมีผลอย่างไรบ้าง จะถูกยุติไปเลยหรือไม่ เพราะทักษิณมีห้วงเวลาพักโทษ 6 เดือน คือสิ้นสุดที่เดือนสิงหาคมนี้
สหการณ์กล่าวว่า ต้องอยู่ที่การพิจารณาของศาลในวันพรุ่งนี้ หากศาลไม่อนุญาตประกันตัวชั่วคราว การพักโทษก็จะไม่มีผลอะไร เพราะผู้ถูกคำสั่งศาลจะต้องถูกนำตัวเข้าเรือนจำ อย่างไรก็ตาม การพักโทษจะไม่ได้มีอันยุติลง ยืนยันว่าสิทธิในการพักโทษยังคงมีอยู่ ระยะเวลาก็ดำเนินไปตามปกติจนกว่าจะครบ 6 เดือน เพียงแต่ช่วงที่ศาลสั่งควบคุมตัว การพักโทษก็ไม่ได้ส่งผลอะไร
ส่วนประเด็นเรื่องข้อกังวลของสังคมที่อาจมองว่าหากทักษิณถูกคุมตัวเข้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร หากมีอาการเจ็บป่วยจะต้องส่งตัวไปนอนพักรักษาภายนอกเรือนจำเป็นครั้งที่ 2 อีกหรือไม่นั้น การจะส่งไปรักษาตัวภายนอกเรือนจำขึ้นอยู่กับอาการเจ็บป่วยของผู้ต้องขัง ถ้าไม่มีการเจ็บป่วยทางราชทัณฑ์ก็ไม่สามารถอนุญาตให้ส่งตัวออกรับการรักษาได้อยู่แล้ว
นอกจากนี้ ในส่วนข้อกังวลว่าอาจเข้าเงื่อนไขของระเบียบคุมขังนอกเรือนจำหรือไม่นั้น ตนขอเรียนว่าระเบียบดังกล่าวยังดำเนินการไม่แล้วเสร็จ ยังอยู่ระหว่างการพิจารณารายละเอียดหลักเกณฑ์ต่างๆ ยืนยันว่า ณ ตอนนี้ยังไม่สามารถใช้กับผู้ต้องขังรายใดได้ แต่กรมราชทัณฑ์พยายามเร่งรัดเรื่องการวางกรอบแนวทาง หลักการปฏิบัติสำหรับราชทัณฑ์และผู้ต้องขังที่มีคุณสมบัติเพราะถือว่าค้างมานานแล้ว
เมื่อถามต่อว่าในวันอาทิตย์ที่ 18 กุมภาพันธ์ 2567 ทักษิณได้รับการพักโทษที่บ้านจันทร์ส่องหล้า หากคำนวณตามห้วงเวลาอัตราโทษคงเหลือคือ 6 เดือน หมายความว่าทักษิณจะได้พ้นโทษในวันอาทิตย์ที่ 18 สิงหาคม 2567 หรือไม่
สหการณ์อธิบายว่า หากมีการคุมประพฤติจนครบตามกำหนด 6 เดือนเสร็จสิ้น ก็ถือว่าพ้นการพักโทษ ส่วนขั้นตอนหลังจากนั้นกรมราชทัณฑ์โดยผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร จะดำเนินการออกใบบริสุทธิ์พ้นโทษ และส่งเอกสารรายงานดังกล่าวแจ้งไปยังสำนักงานคุมประพฤติกรุงเทพมหานคร 1 ซึ่งเป็นหน่วยงานเจ้าของพื้นที่