วานนี้ (23 เมษายน) กรมราชทัณฑ์เผยแพร่เอกสารชี้แจงกรณี นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ประธานพรรคไทยภักดี ได้ส่งข้อมูลผู้ตรวจการแผ่นดินยื่นคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในการช่วยเหลือทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โดยระบุว่าได้รับการช่วยเหลือจนไม่ต้องติดคุกว่า กรมราชทัณฑ์ได้ดำเนินการเป็นไปตามกระบวนการยุติธรรม กฎระเบียบ และภายใต้กฎหมาย ซึ่งสามารถชี้แจงได้ตามประเด็นต่างๆ ดังนี้
ประเด็นแรก การส่งตัวออกไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลตำรวจนั้น ขอเรียนว่า เมื่อเวลาประมาณ 22.00 น. ของวันที่ 22 สิงหาคม 2566 เจ้าหน้าที่พยาบาลเวรเรือนจำได้ตรวจติดตามอาการทักษิณ เนื่องจากเป็นผู้ต้องขังที่จัดอยู่ในกลุ่มเปราะบาง 608 (ผู้สูงอายุ และมีโรคประจำตัว) และพบว่ามีอาการนอนไม่หลับ แน่นหน้าอก วัดความดันโลหิตสูง ระดับออกซิเจนปลายนิ้วต่ำ
พยาบาลเวรเรือนจำได้ติดต่อขอคำแนะนำกับแพทย์ที่ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ และแพทย์ได้สอบถามอาการโดยละเอียดแล้ว ตลอดจนพิจารณาจากรายงานประวัติการรักษาของผู้ป่วยโดยแพทย์จากโรงพยาบาลต่างประเทศ (สิงคโปร์ และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์)
พบมีโรคประจำตัวหลายโรคที่อยู่ระหว่างการรักษา ติดตามอาการ เช่น กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ความดันโลหิตสูง พังผืดในปอด กระดูกสันหลังเสื่อม โดยโรคที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษคือโรคหัวใจ เนื่องจากทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ยังขาดเครื่องมือทางการแพทย์ที่มีศักยภาพ แพทย์จึงมีความเห็นว่า เพื่อป้องกันความเสี่ยงอันตรายที่อาจจะส่งผลต่อชีวิต เห็นควรส่งตัวไปโรงพยาบาลตำรวจที่มีความพร้อม มีเครื่องมือทางการแพทย์ที่มีศักยภาพสูงกว่า โดยแนวปฏิบัติกรณีมีผู้ป่วยที่เป็นโรคหัวใจซึ่งอาจมีความเสี่ยงต่อชีวิตจะมีการส่งตัวรักษาให้ทันท่วงที และได้นำตัวส่งโรงพยาบาลเมื่อเวลาประมาณ 23.59 น.
ประเด็นที่ 2 การส่งตัวไปโรงพยาบาลตำรวจ ผิดกฎกระทรวงการส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำ พ.ศ. 2563 เพราะตามกฎกระทรวงต้องผ่านการรักษาพยาบาลจากสถานพยาบาลภายในเรือนจำเสียก่อน แต่จากรายงานไม่ได้ผ่าน ขอเรียนว่า เมื่อรับตัวทักษิณ เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครได้ดำเนินการตามมาตรฐานการรับตัวเสร็จเรียบร้อย และได้จัดให้อยู่ในสถานพยาบาล แดน 7 เพื่อสังเกตอาการ
เนื่องจากการตรวจร่างกายเบื้องต้นพบว่า อายุ 74 ปี จึงถือว่าเป็นผู้สูงอายุ และมีโรคประจำตัว โดยมีโรคที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษคือโรคหัวใจ และเมื่อเวลาประมาณ 22.00 น. เจ้าหน้าที่พยาบาลได้ตรวจติดตามอาการแล้วพบว่ามีอาการตามที่กล่าวแล้วในประเด็นแรก จึงได้นำตัวส่งออกรักษาตามความเห็นของแพทย์
ประเด็นที่ 3 กรณีไม่มีการตัดผมนักโทษตามระเบียบ แม้จะอ้างว่านักโทษยังอยู่ในโรงพยาบาลตำรวจ และต้องรอให้โรงพยาบาลตำรวจส่งตัวกลับมาที่เรือนจำ ซึ่งฟังไม่ขึ้น เพราะนักโทษที่ไป โรงพยาบาลยังถือว่าเป็นผู้ถูกคุมขัง
สำหรับเรื่องการตัดผมผู้ต้องขัง ขอเรียนว่า กรมราชทัณฑ์ได้มีระเบียบว่าด้วยการตัดผมผู้ต้องขัง พ.ศ. 2565 โดยเรือนจำจะจัดให้ผู้ต้องขังเข้าใหม่ได้รับการตัดผมภายในระยะเวลาที่เหมาะสม แต่ทั้งนี้ไม่เกิน 7 วัน กรณีทักษิณ เมื่อเรือนจำได้รับตัว และกักโรคตามระเบียบของกรมราชทัณฑ์แล้ว ต่อมาเมื่อเวลาประมาณ 23.59 น. ของวันที่ 22 สิงหาคม 2566 ได้ส่งออกไปรักษาที่โรงพยาบาลตำรวจตามความเห็นของแพทย์โรงพยาบาลราชทัณฑ์ จึงเป็นระยะเวลาที่อยู่ในระหว่างการรักษาของแพทย์ เมื่อพ้นการรักษาแล้วเรือนจำก็จะได้ดำเนินการตามระเบียบต่อไป
ประเด็นที่ 4 การจัดให้อยู่ชั้น 14 ซึ่งเป็นห้องพิเศษต่อเนื่อง 180 วัน ผิดกฎกระทรวงที่กำหนด ไม่มีเหตุผลที่อ้างเรื่องความปลอดภัย เพราะถ้ามีปัญหานี้ ตามกฎกระทรวงต้องส่งกลับมารักษาที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์ หรืออ้างเตียงสามัญและไอซียูเต็มก็ฟังไม่ขึ้นนั้น
สำหรับห้องพักรักษาตัวของผู้ป่วย โรงพยาบาลที่ทำการรักษาจะเป็นผู้กำหนดว่าจะให้ผู้ป่วยพักรักษาที่ห้องใด ตึกใด เพื่อการรักษาทางการแพทย์ กรณีทักษิณนั้น โรงพยาบาลตำรวจได้กำหนดห้องสำหรับการพักรักษา ซึ่งเป็นไปตามกฎกระทรวงการส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำ พ.ศ. 2563 กล่าวคือ สถานพยาบาลที่ทำการรักษาจัดให้ และเป็นไปตามแผนการรักษาของแพทย์
ประเด็นที่ 5 การให้พักโทษกรณีพิเศษให้คะแนนต่ำกว่าความเป็นจริง ที่สำคัญการมีคะแนนต่ำกว่า 11 คะแนน นักโทษต้องมีสภาพย่ำแย่ เพื่อไปใช้ชีวิตบั้นปลายกับครอบครัว สภาพการช่วยเหลือตนเองไม่ได้อย่างต้องต่อเนื่อง และระยะยาว จึงได้รับสิทธิพักโทษกรณีพิเศษ ไม่ใช่ดูแข็งแรงแบบที่เห็น
โดยการพักการลงโทษเป็นไปตามพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560, กฎกระทรวงกำหนดประโยชน์ของนักโทษเด็ดขาดฯ พ.ศ. 2562 และประกาศกรมราชทัณฑ์ เรื่อง หลักเกณฑ์การพิจารณาพักการลงโทษ พ.ศ. 2562 ได้กำหนดประโยชน์ที่ผู้ต้องขังเด็ดขาดได้รับ โดยกรณีทักษิณเข้าคุณสมบัติที่ได้รับประโยชน์จากการพักการลงโทษ กรณีอายุ 70 ปีขึ้นไป และไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ หรือช่วยเหลือตัวเองได้น้อย
โดยผลการประเมินตามแบบประเมินคัดกรองปัญหาสุขภาพผู้สูงอายุระยะยาวในชุมชน กรมอนามัย (คะแนนไม่เกิน 11 คะแนน) ซึ่งการประเมินดังกล่าวเป็นไปตามแบบเกณฑ์การประเมิน โดยผู้ประเมินได้ดำเนินการประเมินตามสภาพข้อเท็จจริงที่ได้พบเห็นในช่วงระยะเวลาขณะนั้น