×

ราชทัณฑ์ไม่อนุญาต ‘ป้ามล’ ทิชา เยี่ยมแบม-ตะวัน เรียกร้องผู้มีอำนาจในประเทศฟังเสียงเยาวชน

28.01.2023
  • LOADING...

วันนี้ (28 มกราคม) เมื่อเวลา 13.00 น. ที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ กลุ่มคนทำงานพัฒนา นำโดย ทิชา ณ นคร หรือ ป้ามล ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนแห่งบ้านกาญจนาภิเษก, วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี และ จะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิชายหญิงก้าวไกล ได้ออกแถลงการณ์กรณี ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ หรือ ตะวัน และ อรวรรณ ภู่พงษ์ หรือ แบม สองนักกิจกรรมทางการเมือง และผู้ต้องหาในคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ประกาศถอนประกันตนเอง อดอาหารและน้ำประท้วงกระบวนการยุติธรรม ขณะที่ปัจจุบันมีนักโทษการเมืองหลายคนถูกปฏิเสธสิทธิการประกันตัวอย่างไม่เป็นธรรม 

 

โดยล่าสุดวันนี้เป็นวันที่ 11 ที่ทั้งสองคนอดอาหารและน้ำ รวมทั้งปฏิเสธการรักษาจากโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ต่อมากรมราชทัณฑ์ได้ส่งตัวทั้งสองคนเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ  

 

วัตถุประสงค์ของกลุ่มคนทำงานพัฒนาที่เดินทางมาในวันนี้คือเพื่อเข้าเยี่ยมและให้กำลังใจเยาวชนทั้งสอง แต่กลุ่มคนทำงานพัฒนาไม่สามารถเดินทางเข้าไปเยี่ยมทั้งสองคนได้ เนื่องจากทั้งสองยังอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกรมราชทัณฑ์ พวกเขาจึงประกาศแถลงการณ์เจตจำนงต่อหน้าสื่อมวลชนที่บริเวณสนามหญ้าหน้าโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ อีกทั้งยังได้ทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์เพื่อสื่อสารไปยังผู้มีอำนาจในประเทศ

 

วิฑูรย์เป็นผู้อ่านแถลงการณ์ ระบุว่า พวกเรามาที่นี่เพื่อมาบอกว่าเราได้ยินเสียงเรียกร้องของพวกเธอ โดยเฉพาะการเรียกร้องต่อรัฐ ศาล และกระบวนการยุติธรรม ให้คุ้มครองเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออกทางการเมือง รวมทั้งการเรียกร้องต่อพรรคการเมืองให้แสดงบทบาทและมีนโยบายเพื่อประกันสิทธิ เสรีภาพ และการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน ซึ่งเกิดจากปัญหากฎหมาย การบังคับใช้ และคำตัดสินของศาล ซึ่งได้นำไปสู่การดำเนินคดีจับกุมคุมขังประชาชน โดยเฉพาะคนหนุ่มสาวเป็นจำนวนมากด้วยบทลงโทษที่รุนแรง

 

วิฑูรย์ยังกล่าวอีกว่า การแสดงออกของพวกเธอด้วยการประกาศอดข้าวอดน้ำ จนขณะนี้ร่างกายและชีวิตของเธอกำลังเข้าสู่ภาวะวิกฤตนั้น โบยตีมโนธรรมสำนึกของเรา และไม่อาจทำให้พวกเราปิดหู ปิดตา ปิดการรับรู้ และไม่อาจอยู่นิ่งเฉยได้อีกต่อไป

 

พวกเราและตัวแทนมิตรสหายอีกจำนวนมากที่ไม่อาจมาแสดงออกได้ด้วยตนเองในวันนี้ มาที่นี่เพื่อบอกว่า การจับกุมคุมขังประชาชนและคนหนุ่มสาวจากการที่แสดงความคิดเห็นและแสดงออกทางการเมืองในหลายกรณีดังนี้ที่เป็นอยู่ในช่วงหลายปีมานี้ เป็นสิ่งที่ขัดแย้งตามหลักสิทธิมนุษยชนและค่านิยมประชาธิปไตย ไม่ว่าพวกเราทั้งหลายจะเห็นด้วยกับข้อเรียกร้องทั้งหมดหรือแม้บางส่วนของพวกเขาหรือไม่ก็ตาม

 

วิฑูรย์และคณะขอเรียกร้องต่อรัฐ กระบวนการยุติธรรม สถาบันทั้งหลาย รวมทั้งพรรคการเมือง ได้พิจารณารับข้อเสนอของคนหนุ่มสาวเหล่านี้ พวกเขาเป็นอนาคตของประเทศ และพวกเขาควรได้สิทธิและมีส่วนร่วมในการนำพาประเทศไปข้างหน้า

 

วิฑูรย์ได้ทิ้งท้ายการแถลงไว้ว่า การเปิดรับการเปลี่ยนแปลงด้วยการฟังความคิดเห็นของสังคมทั้งหมดตามหลักการประชาธิปไตยเท่านั้นที่เป็นทางออกของประเทศ

 

ด้านทิชายังย้ำเพิ่มเติมอีกว่า กลุ่มคนทำงานพัฒนาเห็นด้วยกับการกระทำของเยาวชนทั้งสอง แต่ข้อเรียกร้องนั้นอาจไม่เป็นที่ยอมรับของทุกคน ซึ่งเป็นเรื่องปกติในสังคมประชาธิปไตย การแสดงออกของเยาวชนสองคนนั้นจะต้องไม่นำไปสู่ความผิดทางกฎหมาย เพราะพวกเธอไม่ได้ใช้สิทธิเกินสิทธิ เสรีภาพเกินเสรีภาพ เธอคาดหวังว่าแถลงการณ์ดังกล่าวจะเดินทางไปถึงผู้ใหญ่ในประเทศนี้ เพื่อแก้ปัญหาก่อนที่มันจะเป็นประวัติศาสตร์ บาดแผล ที่ตอกย้ำความไม่รับผิดชอบของพวกเรา

 

“เราต้องยอมรับว่าประเทศนี้มีเด็กๆ ที่เติบโตภายใต้ข้อมูลข่าวสารที่มากมาย มีความฝันในเรื่องเสรีภาพ ความฝันในเรื่องความเท่าเทียม ดังนั้นเวลาพวกเขาพูดเรื่องเหล่านี้คือการแก้ไขเพื่อนำไปสู่การอยู่ร่วมกันแบบ Win-Win เอามาตรา 112 มาเป็นตัวตั้ง เพื่อหาทางอยู่ร่วมกันให้ได้ทั้งสถาบันกษัตริย์และคนหนุ่มสาวที่คิดต่าง อย่าพูดมาตรา 112 ด้วยความหวาดกลัว ถ้าเรายิ่งทำแบบนี้ ยิ่งทำให้สถาบันกษัตริย์เสียหาย ถ้าอยากให้สถาบันกษัตริย์เป็นแหล่งรวมแห่งความศรัทธา เราต้องแก้ไขเพื่อให้สถาบันกษัตริย์นั้นอยู่ร่วมกันกับคนหนุ่มสาวได้” ทิชากล่าว

 

ขณะที่จะเด็จกล่าวเพิ่มเติมว่า ตนอยากให้สังคมรับฟังข้อเรียกร้องของเยาวชน เพราะข้อเรียกร้องทั้ง 3 ข้อนั้นเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน อย่าไปคิดว่าความคิดต่างกันแล้วจะไม่รับฟังเขา ตนไม่อยากให้สิ่งที่เขาเรียกร้องเป็นปัญหาของสังคม สิ่งนี้เป็นเรื่องพื้นฐานมากๆ ที่สังคมจะต้องรับฟัง

 

โดยสิ่งที่กลุ่มคนทำงานพัฒนาคาดหวังในวันนี้ ทิชาได้กล่าวว่า “น้องไม่ต่างจากเรา เราไม่ต่างจากน้อง เราต้องอยู่ด้วยความหวัง แม้ว่าเราจะไม่เห็นการตอบสนองของผู้ใหญ่ที่มีอำนาจในประเทศนี้ สมมติว่าวันนี้รวมทั้งอีกหลายๆ วันต่อมายังไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรเลย ยิ่งทำให้เห็นว่าผู้ใหญ่ที่มีอำนาจในประเทศนี้ไม่ได้สำเหนียกอะไรเลยกับความทุกข์ของคนรุ่นถัดไป และถ้าเขาคิดว่าจะเข้าสู่การเมือง เราก็อยากบอกประชาชนที่มีสิทธิเลือกตั้งว่า อย่าไปเลือกเขา เพราะเขาไม่ได้สนใจเสียงของลูกหลานเลย ถ้าไม่มีใครได้ยินเสียงของเด็กๆ คนเหล่านั้นไม่ควรมีอำนาจในการตัดสินใจใดๆ ทั้งสิ้น” 

 

ขณะที่ กฤษฎา บุญชัย จากมูลนิธิชุมชนท้องถิ่นพัฒนา ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า พวกเราคือชาว NGO ซึ่งเกี่ยวข้องกับชีวิตคน ดังนั้นเรื่องราวของชีวิตคือเรื่องของสิทธิมนุษยชน การสร้างความเข้มแข็งของชุมชน การพัฒนาที่ยั่งยืนจะต้องอยู่บนหลักสิทธิเสรีภาพและความเป็นธรรม เยาวชนทั้งสองกำลังส่งเสียงเพื่อบอกว่าเรากำลังทำเรื่องเดียวกัน คือการมีสิทธิที่ดีของชีวิตในสังคมนี้ ข้อเรียกร้องของน้องๆ คือปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมเพื่อรับรองสิทธิเสรีภาพ ตนคิดว่าไม่ใช่หลักที่ทุกคนจะปฏิเสธเลย และเป็นสิ่งที่ทุกคนจะมาร่วม

 

ในช่วงท้ายของแถลงการณ์กรณีแบม-ตะวันนั้น กลุ่มคนทำงานพัฒนาได้ร่วมกันปล่อยนักพิราบขาวออกจากกรง เพื่อเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ถึงการปลดปล่อยเสรีภาพให้กับผู้คน รวมไปถึงเยาวชนทั้งสองที่กำลังดิ้นรนต่อสู้เพื่อสิทธิและเสรีภาพของคนในสังคม

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X