อเล็กซานเดอร์ ออสเทอร์วัลเดอร์ ผู้คิดค้น Business Model Canvas กล่าวในงาน ‘Corporate Innovation Summit 2019’ เวทีที่รวบรวมผู้บริหารองค์กรและผู้นำทางความคิดเพื่อสร้างนวัตกรรมองค์กร ว่าธุรกิจส่วนใหญ่ในปัจจุบันจะยังคงยึดติดกับรูปแบบธุรกิจและความสำเร็จเดิมๆ ด้วยการแสวงหาผลประโยชน์จากสิ่งที่มีอยู่เดิม (Exploit) โดยการเน้นลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน ให้ความสำคัญกับกระบวนการและรายละเอียด ซึ่งท้ายที่สุดองค์กรเหล่านี้มักจะพบกับความท้าทายและช่วงขาลงของวัฏจักรธุรกิจ
สิ่งที่ภาคธุรกิจต้องการสำหรับการขยายธุรกิจในอนาคตคือการค้นหาโอกาสและนวัตกรรมทางธุรกิจใหม่ๆ (Explore) ที่จะช่วยสร้างการเจริญเติบโตทางธุรกิจ ด้วยรูปแบบการลงทุนของเวนเจอร์ แคปิทัล ซึ่งจะต้องกล้าเสี่ยง ทดลอง และลงทุนในไอเดียหรือธุรกิจใหม่ๆ อยู่เสมอ
อเล็กซ์ ขยายความว่าองค์กรจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนการบริหารจัดการพอร์ตฟอลิโอของธุรกิจที่มีอยู่ เดิมจะวิเคราะห์ในเมทริกซ์ที่วัดระหว่างธุรกิจที่ความเสี่ยงต่ำกับความเสี่ยงสูง และธุรกิจที่ผลตอบแทนต่ำกับธุรกิจที่ผลตอบแทนสูง ทุกองค์กรต่างให้ความสำคัญกับส่วนที่ความเสี่ยงต่ำและผลตอบแทนสูงอยู่เสมอ และใช้เวลาส่วนใหญ่กับการเพิ่มประสิทธิภาพ (Efficiency) แต่สุดท้ายธุรกิจก็จะอิ่มตัวอยู่ดี ยอดขายลดลงจนกลายเป็นธุรกิจที่ผลตอบแทนต่ำและความเสี่ยงสูง ซึ่งจะต้องถูกกำจัดออกไปจากโลกธุรกิจในที่สุด
ทางออกที่จำเป็นคือต้องกล้าเสี่ยงลงทุนในธุรกิจใหม่ๆ เพื่อค้นหากลุ่มธุรกิจใหม่ที่ดีที่สุดเข้ามาเป็นเครื่องมือสร้างรายได้ในอนาคตและจะกลายเป็นธุรกิจที่สร้างความมั่นคงให้องค์กรต่อไปในอนาคต
ตัวอย่างที่น่าสนใจคือ ผู้นำธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มอย่าง Nestle ลงทุนในโครงการใหม่ๆ ถึง 250 โครงการ (เฉลี่ยโครงการละ 1.5 แสนเหรียญสหรัฐหรือ 4.8 ล้านบาท) โดยที่ 162 โครงการล้มเหลว 87 โครงการมีความเป็นไปได้ที่จะทำเงิน และ 1 โครงการอย่าง Nespresso เท่านั้นที่กลายเป็นโครงการที่ประสบความสำเร็จ สร้างรายได้ถล่มทลายและกลายเป็นเครื่องยนต์ตัวใหม่ในการสร้างการเติบโตทางธุรกิจ (Growth Engine) ได้ อย่างไรก็ตาม ไม่ควรฝากความหวังไว้กับโครงการที่ดีที่สุดเพียงโครงการเดียวเท่านั้น (You can not pick only one winner) องค์กรจะต้องลงทุนในโครงการใหม่ๆ ต่อเนื่องไปเรื่อยๆ ด้วย
นอกจากนี้สิ่งที่ภาคธุรกิจควรจะปรับตัวคือ การประเมินเรื่องนวัตกรรมให้มากกว่าการพัฒนาสินค้าและนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้ นวัตกรรมครอบคลุมได้ทั้งกระบวนการทำงาน การบริหารจัดการลูกค้า หรือกระทั่งกระบวนการทางการเงิน คำถามที่ต้องพิจารณาเสมอคือสินค้าหรือธุรกิจที่ทำอยู่นั้นเป็นที่ต้องการของตลาดจริงหรือไม่ (Desirability) สามารถทำได้จริงเพียงไร (Feasibility) และจะอยู่รอดได้จริงแค่ไหน (Viability)
เกาะติดเวที Corporate Innovation Summit 2019 จัดวันที่ 28-29 มีนาคม 2562 กรุงเทพฯ และติดตามประเด็นที่น่าสนใจในวงการธุรกิจได้ทุกช่องทางของ THE STANDARD
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์
อ้างอิง:
- Corporate Innovation Summit 2019: Asia’s first experiential conference โดย RISE