×

ไขคำตอบทฤษฎีโควิด-19 หลุดจากห้องแล็บอู่ฮั่น หลังสหรัฐฯ เผยรายงานชี้ความเป็นไปได้

08.06.2021
  • LOADING...
ไขคำตอบทฤษฎีโควิด-19

โควิด-19 มาจากไหน

 

คำถามนี้เป็นสิ่งที่ผู้คนทั่วโลกสงสัย นับตั้งแต่ที่การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสที่ส่งผลกระทบไปทั่วโลกเกิดขึ้นมานานกว่า 1 ปี

 

หนึ่งในสมมติฐานเกี่ยวกับที่มาของโควิด-19 คือ เชื้อไวรัสนั้นถูกพัฒนาขึ้นภายในห้องแล็บของสถาบันไวรัสวิทยาอู่ฮั่น ก่อนจะรั่วไหลออกมาและแพร่กระจายสู่ภายนอก จนทำให้เกิดการระบาดรุนแรง เริ่มต้นจากเมืองอู่ฮั่น

 

ซึ่งรายงานล่าสุดจากทางการสหรัฐฯ เกี่ยวกับการสืบสวนที่มาของโควิด-19 ที่ดำเนินการโดยห้องปฏิบัติการแห่งชาติ Lawrence Livermore ในรัฐแคลิฟอร์เนีย พบว่า สมมติฐานไวรัสหลุดออกมาจากห้องแล็บนั้นมีความเป็นไปได้ และควรมีการสืบสวนต่อ

 

ก่อนหน้านี้เมื่อต้นเดือนมิถุนายน สื่อท้องถิ่นสหรัฐฯ หลายสำนัก เช่น Washington Post และ BuzzFeed เผยแพร่ข้อมูลจากอีเมลที่ได้มา ซึ่งแสดงให้เห็นว่า แอนโทนี เฟาซี ผู้อำนวยการสถาบันโรคภูมิแพ้และโรคติดเชื้อแห่งชาติ​ มีการติดต่อกับนักวิทยาศาสต์เมื่อช่วงต้นเดือนมกราคมปีที่แล้ว เพื่อสืบสวนความเป็นไปได้ที่เชื้อไวรัส SARS-CoV-2 ต้นตอโรคโควิด-19 อาจถูกสร้างขึ้นในห้องแล็บ 

 

นอกจากนี้ Vanity Fair ยังรายงานว่า การสืบสวนทฤษฎีไวรัสหลุดจากห้องแล็บในอู่ฮั่นนั้นถูกระงับในบางหน่วยงานของรัฐบาลสหรัฐฯ เนื่องจากเจ้าหน้าที่รัฐบาลบางคนกังวลว่าห้องแล็บอู่ฮั่นที่ได้รับเงินทุนสนับสนุนจากสหรัฐฯ นั้น อาจเป็นต้นตอของการระบาด

 

จากข้อมูลดังกล่าวยิ่งทำให้ข้อสงสัยเรื่องทฤษฎีไวรัสหลุดจากห้องแล็บมีมากขึ้น แต่จนถึงตอนนี้ยังไม่มีข้อมูลและหลักฐานยืนยันแน่ชัด ทำให้นักวิทยาศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญทั่วโลกมีทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและคัดค้านความเป็นไปได้นี้ 

 

ทำไมนักวิทยาศาสตร์บางคนเห็นด้วยให้มีการสืบสวนเพิ่มเติมเกี่ยวกับทฤษฎีไวรัสหลุดจากห้องแล็บ

 

  • ทฤษฎีไวรัสโควิด-19 หลุดออกมาจากห้องแล็บในสถาบันไวรัสวิทยาอู่ฮั่น เกิดขึ้นจากการที่แล็บดังกล่าวอยู่ใกล้กับตลาดค้าส่งสัตว์ป่าและอาหารทะเลหัวหนาน ที่เป็นศูนย์กลางการระบาดจุดแรก อีกทั้งภายหลังการระบาดของโรคซาร์สในปี 2003 แล็บดังกล่าวยังเป็นสถานที่ศึกษาวิจัยโรคอุบัติใหม่ ซึ่งรวมถึงโรคติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจที่เกิดจากไวรัสในตระกูลโคโรนา ซึ่งเป็นตระกูลเดียวกับ SARS-CoV-2

 

  • สือ เจิ้งลี่ นักไวรัสวิทยาชื่อดังที่ทำงานในห้องแล็บอู่ฮั่น เปิดเผยต่อนิตยสารวิทยาศาสตร์ Scientific American เมื่อปีที่แล้วว่า ในช่วงที่ได้รับข้อมูลการระบาดของโรคปอดอักเสบลึกลับที่เกิดจากไวรัสโคโรนาในอู่ฮั่นเมื่อเดือนธันวาคม 2019 เธอเคยสงสัยว่าเชื้อไวรัสนั้นอาจมาจากแล็บของเธอ 

 

  • มีรายงานว่านักวิจัยในแล็บอู่ฮั่นทำการทดลอง Gain-of-function หรือการทดลองปรับแต่งไวรัสจากธรรมชาติ เพื่อเพิ่มความรุนแรงและความสามารถในการแพร่เชื้อสู่คนให้มากขึ้น รวมถึงพยายามศึกษาศักยภาพในการกลายพันธุ์และการระบาดของไวรัส เพื่อให้นักวิทยาศาสตร์ทำการวิจัยเรื่องการรับมือเชื้อไวรัสที่เป็นอันตราย 

 

  • แต่งานวิจัยดังกล่าวเป็นอันตรายเกินไป ทำให้สถาบันสุขภาพแห่งชาติของสหรัฐฯ (NIH) ระงับการสนับสนุนงานวิจัยดังกล่าวในปี 2014 และยกเลิกในปี 2017 ก่อนจะยืนยันในเวลาต่อมาว่า สหรัฐฯ ไม่เคยสนับสนุนงานวิจัยลักษณะดังกล่าว ทั้งที่ห้องแล็บในอู่ฮั่นและที่อื่นๆ ทั่วโลก

 

  • แล็บของสถาบันไวรัสวิทยาอู่ฮั่นเป็นที่รู้จักว่ามีการทำงานร่วมกับทีมนักวิจัยจากนานาชาติ เพื่อสร้างเชื้อไวรัสตระกูลโคโรนาที่มีรูปแบบแตกต่างจากไวรัสโคโรนาปกติ เพื่อทำการศึกษาเรื่องประสิทธิภาพในการแพร่ระบาดในคน แม้จะมีการระบุว่าไวรัสที่ถูกสร้างขึ้นนั้นไม่เพิ่มความสามารถในการก่อโรค

 

  • เชื้อไวรัสที่ใช้ในการทดลองดังกล่าวถูกสร้างขึ้นในสหรัฐฯ ไม่ใช่จีน และสถาบันไวรัสวิทยาอู่ฮั่นเคยเผยแพร่รายงานเมื่อปี 2017 เกี่ยวกับการวิจัยความเป็นไปได้ที่ไวรัสในค้างคาวจะระบาดสู่คนโดยตรง ซึ่งนักวิจัยสร้างไวรัสที่ใช้ทดลอง โดยปรับแต่งจากไวรัสในค้างคาว เพื่อดูความสามารถในการแพร่เชื้อในเซลล์ของมนุษย์

 

  • นอกจากนี้ ยังมีความเป็นไปได้ที่อาจมีการวิจัยและทดลองปรับแต่งไวรัสจากธรรมชาติแบบ Gain-of-function ในแล็บที่อื่นๆ และได้รับเงินทุนจากแหล่งอื่น แต่ยังไม่พบหลักฐานหรือข้อมูลบ่งชี้ใดๆ

 

  • อลินา ชาน นักวิจัยจากสถาบันบรอด (Broad Institute) ในสหรัฐฯ ระบุว่า นักวิทยาศาสตร์หลายคนที่ขอให้มีการสืบสวนเรื่องต้นตอการระบาดของไวรัสจากห้องแล็บมองว่า สิ่งที่เกิดขึ้นอาจเป็นอุบัติเหตุในห้องแล็บ และเชื่อว่าไวรัสที่ใช้ทดลองส่วนใหญ่เป็นไวรัสที่พบตามธรรมชาติ

 

  • ชานชี้ 2 แนวทางเป็นไปได้ที่ก่อให้เกิดการหลุดรอดของไวรัสออกจากห้องแล็บ ได้แก่ 1. นักวิจัยแล็บอู่ฮั่นติดเชื้อจากค้างคาวระหว่างการลงพื้นที่เก็บตัวอย่างและพาเชื้อกลับไปยังห้องแล็บโดยไม่ตั้งใจ และ 2. นักวิจัยในห้องแล็บติดเชื้อจากตัวอย่างของไวรัส SARS-CoV-2 ระหว่างทำการวิจัย ก่อนจะแพร่เชื้อไปยังบุคคลอื่น

 

  • ห้องแล็บในสถาบันไวรัสวิทยาอู่ฮั่นทำการวิจัยตัวอย่างไวรัส โดยใช้มาตรการความปลอดภัยด้านชีวภาพระดับ 2 ต่างจากแล็บส่วนใหญ่ที่ใช้มาตรการในระดับ 3 ซึ่งมีการเพิ่มการตรวจสอบทางการแพทย์แก่เจ้าหน้าที่ในห้องแล็บ มีการบังคับสวมหน้ากากป้องกันและมุ่งเน้นป้องกันการแพร่เชื้อทางอากาศ ส่วนระดับ 2 นั้นใช้ป้องกันเชื้อไวรัสที่มองว่ามีความอันตรายปานกลาง

 

ทำไมทฤษฎีไวรัสหลุดจากห้องแล็บจึงได้รับความสนใจในตอนนี้

 

  • ข้อมูลความเป็นไปได้ที่ถูกเปิดเผยออกมาจากทางการสหรัฐฯ ในช่วงนี้ ก่อให้เกิดการโต้แย้งและมีการนำเสนอข่าวผ่านสื่อหลายสำนัก รวมถึงเป็นประเด็นหารือในสภาคองเกรส โดย The Wall Street Journal เผยรายงานข่าวกรองที่ระบุว่า 3 นักวิจัยของแล็บอู่ฮั่นเกิดอาการป่วยจากโรคที่คล้ายกับไข้หวัดใหญ่จนต้องเข้าโรงพยาบาลตั้งแต่ช่วงเดือนพฤศจิกายน 2019 ก่อนโควิด-19 ระบาด รวมถึงรายงานว่า มีคนงานเหมือง 6 คนในจีนเกิดอาการป่วยในปี 2012 ภายหลังถูกจ้างให้ไปเก็บกวาดมูลค้างคาวภายในถ้ำ 

 

  • สถาบันไวรัสวิทยาอู่ฮั่นถูกเรียกให้เข้าตรวจสอบกรณีการติดเชื้อของกลุ่มคนงานเหมือง และมีการวิจัยค้างคาวจากถ้ำดังกล่าว จนพบเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่ที่ไม่เคยปรากฏและมีลักษณะคล้ายกับไวรัสซาร์ส ซึ่งคาดว่าอาจมีการกลายพันธุ์ของไวรัส เนื่องจากค้างคาวหลายตัวมีไวรัสมากกว่า 1 สายพันธุ์

 

  • 1 ในสายพันธุ์ไวรัสที่ไม่เคยปรากฏ มีชื่อว่า RaTG13 ซึ่งต่อมาพบว่า ข้อมูลพันธุกรรมตรงกับไวรัส SARS-CoV-2 ต้นตอโควิด-19 ถึง 96.2% ทำให้เกิดการตั้งข้อสังเกตว่าอาจเป็นไวรัสต้นกำเนิด แต่ทีมสืบสวนขององค์การอนามัยโลก (WHO) นั้นรายงานก่อนหน้านี้ว่า ห้องแล็บอู่ฮั่นไม่สามารถเพาะเชื้อไวรัสได้ และมีเพียงการครอบครองลำดับพันธุกรรมไวรัส ซึ่งหากเป็นไปตามที่รายงาน หมายความว่าแล็บของสถาบันไวรัสวิทยาอู่ฮั่นไม่มีการเก็บไวรัสต้นกำเนิดของ SARS-CoV-2 ไว้

 

  • รายงานข่าวกรองเรื่องการสืบสวนที่มาของโควิด-19 ทำให้ประธานาธิบดีโจ ไบเดน สั่งการในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ให้หน่วยข่าวกรองเพิ่มความพยายามในการขยายการสืบสวนเรื่องนี้มากขึ้น ก่อนส่งรายงานฉบับใหม่ใน 90 วัน

 

ข้อสงสัยที่นักวิทยาศาสตร์หลายคนมีต่อทฤษฎีไวรัสหลุดจากห้องแล็บ

 

  • แม้ว่าข้อมูลเกี่ยวกับการวิจัยและการดำเนินการต่างๆ ในห้องแล็บของสถาบันไวรัสวิทยาอู่ฮั่นจะเป็นที่สงสัย แต่ยังไม่มีหลักฐานใดบ่งชี้ว่าเชื้อไวรัส SARS-CoV-2 นั้นมาจากห้องแล็บแห่งนี้ ซึ่งสิ่งเดียวที่มีในตอนนี้คือความเป็นไปได้

 

  • คริสเตียน แอนเดอร์เซน ศาสตราจารย์จากสถาบันวิจัยสคริปปส์ (The Scripps Research Institute: TSRI) เป็นหนึ่งในนักวิทยาศาสตร์ที่ทำการตรวจสอบความเป็นไปได้ของทฤษฎีไวรัสหลุดจากแล็บอู่ฮั่นตั้งแต่ช่วงแรกๆ ที่เกิดการระบาด และมีการอีเมลแลกเปลี่ยนข้อมูลกับ แอนโทนี เฟาซี ผอ.สถาบันโรคภูมิแพ้และโรคติดเชื้อแห่งชาติ​ ตั้งแต่มกราคม 2020 โดยสงสัยว่า ไวรัส SARS-CoV-2 นั้นอาจถูกสร้างขึ้น เพราะข้อมูลพันธุกรรมไวรัสไม่เหมือนสิ่งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ และไม่สอดคล้องกับทฤษฎีวิวัฒนาการ

 

  • อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่มีอยู่ ศาสตราจารย์แอนเดอร์เซน ระบุว่า สิ่งที่เป็นไปได้มากที่สุดคือ ไวรัสนั้นมาจากธรรมชาติ โดยทฤษฎีไวรัสหลุดจากแล็บนั้นไม่มีหลักฐานสนับสนุน และทั้งหมดเป็นเพียงข้อสงสัย

 

  • สือ เจิ้งลี่ นักไวรัสวิทยาของแล็บอู่ฮั่น เผยว่า ได้มอบหมายให้ทีมนักวิจัยตรวจสอบลำดับข้อมูลพันธุกรรม เทียบกับลำดับพันธุกรรมของไวรัสที่ได้จากผู้ป่วยโควิด-19 และไม่พบข้อมูลพันธุกรรมที่ตรงกัน

 

  • วินเซนต์ ราคานิเอลโล นักไวรัสวิทยาจากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ยกตัวอย่างการระบาดของไวรัสซาร์สในปี 2003 ที่แพร่จากค้างคาวสู่สัตว์พาหะตัวกลางก่อนระบาดสู่คน ซึ่งตลอดหลายปีที่ผ่านมามีนักวิทยาศาสตร์หลายคนเตือนความเป็นไปได้ที่สถานการณ์ระบาดของไวรัสในรูปแบบคล้ายกันนี้อาจเกิดขึ้นอีก

 

  • จากการตรวจสอบของนักวิจัยพบว่า ไวรัสที่คล้ายกับ SARS-CoV-2 ยังพบในค้างคาวนอกประเทศจีน ทั้งในไทย กัมพูชา และญี่ปุ่น ซึ่งแม้จะไม่ใช่บรรพบุรุษของ SARS-CoV-2 แต่ก็เป็นสายพันธุ์ที่มีข้อมูลพันธุกรรมใกล้เคียงกัน 

 

  • ในช่วงต้นที่เกิดการระบาดของโรคโควิด-19 ในอู่ฮั่น เมื่อปี 2019 WHO พบว่า ไวรัสมีการระบาดจากสัตว์ป่า 2 ชนิด ซึ่งการระบาดจากสัตว์พาหะ 2 ชนิด หรือไวรัสเปลี่ยนจากสัตว์ตัวหนึ่งไปอีกตัวหนึ่งนั้น ทำให้เป็นไปได้ยากที่การระบาดจะเกิดขึ้นจากห้องแล็บ

 

“ในความคิดของผม นั่นเป็นหลักฐานที่แน่ชัดว่าสิ่งนี้มาจากธรรมชาติ เพราะเป็นสถานการณ์ที่ง่ายกว่า” ราคานิเอลโลกล่าว พร้อมชี้ว่าในอดีตเคยมีการหลุดรอดของไวรัสที่ก่อโรคระบาดจากห้องแล็บ ซึ่งเป็นโรคที่เป็นที่รู้จักในช่วงนั้น แต่ไม่เคยมีไวรัสชนิดใหม่ใดๆ หลุดมาจากแล็บ

 

ภาพ: Photo by Feature China/Barcroft Media via Getty Images

พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X