×

วิเคราะห์อัตราฉีดวัคซีนโควิด-19 คาดทั่วโลกต้องใช้เวลา 7 ปี กว่าจะกลับมาใช้ชีวิตตามปกติ

โดย THE STANDARD TEAM
07.02.2021
  • LOADING...
วิเคราะห์อัตราฉีดวัคซีนโควิด-19 คาดทั่วโลกต้องใช้เวลา 7 ปี กว่าจะกลับมาใช้ชีวิตตามปกติ

สำนักข่าว Bloomberg เผยแพร่บทความวิเคราะห์ผลคำนวณระยะเวลาสิ้นสุดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทั่วโลก ซึ่งมีเป้าหมายสำคัญสูงสุดคือ การที่ทุกประเทศฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 ให้ประชาชนเกิน 75%

 

การคำนวณดังกล่าวอ้างอิงจากฐานข้อมูลติดตามการฉีดวัคซีนโควิด-19 ทั่วโลกของ Bloomberg ซึ่งเป็นฐานข้อมูลขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ที่มีการอัปเดตเป็นประจำทุกวัน และเก็บรวบรวมข้อมูลการฉีดวัคซีนในแต่ละวันจากสหรัฐฯ และอีก 67 ประเทศ ที่ดำเนินการฉีดวัคซีนไปแล้วระยะหนึ่ง ซึ่งปัจจุบันพบว่าทั่วโลกมีการฉีดวัคซีนโควิด-19 แล้วกว่า 119 ล้านโดส 

 

โดยผู้เชี่ยวชาญอย่าง แอนโทนี เฟาซี ผู้อำนวยการสถาบันภูมิแพ้และโรคติดต่อแห่งชาติสหรัฐฯ ประเมินว่าการยุติการแพร่ระบาดและทำให้สถานการณ์กลับสู่ภาวะปกตินั้น อาจจำเป็นที่จะต้องให้วัคซีนครอบคลุมประชากรตั้งแต่ 70-85%

 

จนถึงตอนนี้ มีบางประเทศ เช่น อิสราเอล ที่มีอัตราการฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 ให้ประชาชนสูงที่สุดในโลก โดยใกล้จะครอบคลุมประชากร 75% ภายในระยะเวลาเพียง 2 เดือน 

 

ขณะที่สหรัฐฯ ซึ่งมีผู้ติดเชื้อโควิด-19 สูงสุดในโลกกว่า 27.5 ล้านคน (ข้อมูล ณ วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2021) คาดว่าจะได้ลั่นระฆังฉลองฉีดวัคซีนถึงเป้าหมายในช่วงปีใหม่ของปี 2022

 

แต่การที่บรรดาประเทศตะวันตกที่ร่ำรวยได้ฉีดวัคซีนโควิด-19 รวดเร็วกว่าประเทศอื่นๆ นั้น ทำให้คาดว่า กว่าที่ทุกประเทศทั่วโลกจะได้รับการฉีดวัคซีนถึงเป้าหมาย 75% อาจต้องใช้เวลาที่ยาวนานถึง 7 ปี

 

หลายปัจจัยส่งผลเป้าหมายการฉีดวัคซีนผันผวน

 

การคำนวณของ Bloomberg ฉายให้เห็นภาพรวมภายในเวลาอันสั้น และออกแบบมาเพื่อให้มองเห็นอัตราการฉีดวัคซีน ณ ปัจจุบัน โดยใช้ค่าเฉลี่ยการฉีดวัคซีนล่าสุด ซึ่งหมายความว่า เมื่อมีจำนวนการฉีดวัคซีนเพิ่มขึ้น ระยะเวลาที่จะไปถึงเป้าหมาย 75% ก็จะหดสั้นลง

 

แต่การคำนวณยังอาจเกิดความผันผวนได้ โดยเฉพาะในช่วงแรกของการแจกจ่ายวัคซีน และจำนวนการฉีดวัคซีนอาจคาดเคลื่อนได้จากปัญหาบางประการที่ทำให้การฉีดวัคซีนต้องหยุดชะงักลง 

 

ตัวอย่างเช่น กำหนดวันฉีดวัคซีนให้ได้ตามเป้าหมายในนครนิวยอร์ก ที่ต้องเลื่อนออกไป 17 สัปดาห์ หลังจากเกิดพายุหิมะ จนทำให้ประชาชนบางส่วนไม่สามารถรับการฉีดวัคซีนได้ 

 

หรือกรณีคล้ายกันในแคนาดา ที่อัตราการฉีดวัคซีนโควิด-19 ลดลงครึ่งหนึ่งในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากปัญหาการจัดส่งวัคซีนที่ล่าช้า 

 

ซึ่งหากดูจากอัตราการฉีดวัคซีนในแคนาดา ณ ตอนนี้ คาดว่าอาจต้องใช้เวลานานกว่า 10 ปี กว่าที่แคนาดาจะฉีดวัคซีนให้ประชากรได้ถึง 75% แต่ยังเป็นไปได้ที่อัตราการฉีดวัคซีนจะเพิ่มขึ้นหลังจากนี้ เนื่องจากแคนาดานั้นมีการทำสัญญาสั่งซื้อวัคซีนต้านโควิด-19 คิดเป็นจำนวนโดสต่อประชากร มากกว่าทุกประเทศทั่วโลก

 

อย่างไรก็ตาม ยังมีแนวโน้มที่อัตราการฉีดวัคซีนของนานาประเทศจะรวดเร็วมากขึ้น เนื่องจากจำนวนวัคซีนที่เพิ่มขึ้น โดยโรงงานผลิตวัคซีนใหญ่ที่สุดในโลกที่อินเดียและเม็กซิโกนั้นเพิ่งจะเริ่มต้น

ขณะที่ฐานข้อมูลของ Bloomberg ชี้ว่า มีการทำสัญญาสั่งซื้อวัคซีนเกิดขึ้นในประเทศต่างๆ แล้วมากกว่า 100 สัญญา คิดเป็นจำนวนวัคซีนมากกว่า 8.5 พันล้านโดส และมีเพียง 1 ใน 3 ของประเทศเหล่านี้ ที่เพิ่งเริ่มต้นการรณรงค์ฉีดวัคซีนโควิด-19 

 

ภาพรวมการป้องกันของวัคซีน และภาวะภูมิคุ้มกันหมู่

 

การฉีดวัคซีนจะช่วยป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ได้ในระยะเวลา 2-3 สัปดาห์ หลังได้รับการฉีด แต่หากในชุมชนมีผู้ได้รับการฉีดวัคซีนเพียงไม่กี่คน เชื้อไวรัสโควิด-19 ก็จะยังสามารถแพร่ระบาดต่อไปได้โดยไม่มีการตรวจสอบ

 

แต่ยิ่งคนในชุมชนได้รับวัคซีนมากขึ้น ก็จะเริ่มเกิดภูมิคุ้มกันที่มากขึ้นจนสร้างแนวป้องกันการติดเชื้อได้ และทำให้การติดเชื้อค่อยๆ ลดลง แทนที่จะแพร่ระบาดเพิ่มมากขึ้น แนวทางนี้เรียกว่าภาวะภูมิคุ้มกันหมู่

 

ขณะที่วงการวิทยาศาสตร์มีคำจำกัดความที่ขัดแย้งกันว่า เมื่อไรถึงเรียกว่าบรรลุภูมิคุ้มกันหมู่แล้ว? เมื่อจำนวนผู้คนได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันมากพอ จนเริ่มต้นเห็นผลลัพธ์เรื่องความเร็วในการแพร่ระบาดที่วัดผลได้? ซึ่งนั่นอาจเริ่มต้นได้ก่อนที่ประชาชนจะฉีดวัคซีนเกิน 75%

 

หรือการนิยามให้ภาวะภูมิคุ้มกันหมู่เป็นจุดที่การแพร่ระบาดไม่สามารถเกิดขึ้นได้อย่างยั่งยืนอีกต่อไป ตัวอย่างเช่น แม้ว่าจะมีกลุ่มผู้ป่วยโรคหัดในชุมชนที่ไม่ได้รับการฉีดวัคซีน แต่ภาวะภูมิคุ้มกันหมู่ก็สามารถเกิดขึ้นได้และช่วยป้องกันไม่ให้การแพร่เชื้อกระจายไปทั่วประเทศ

 

นับจำนวนการฉีดวัคซีนอย่างไร

 

วัคซีนที่มีอยู่ในปัจจุบัน ต้องใช้ 2 โดส หรือ 2 เข็ม สำหรับการฉีดวัคซีนเต็มรูปแบบ ซึ่งการคำนวณที่ครอบคลุมของ Bloomberg อ้างอิงจากการฉีดวัคซีนให้ประชากร คนละ 2 โดส แต่ไม่ได้แยกความแตกต่างระหว่างการฉีดวัคซีนโดสแรกหรือโดสที่สอง ซึ่งรายละเอียดเหล่านี้อาจบิดเบือนอัตราการฉีดวัคซีนประจำวัน

 

ขณะที่ผลทดลองวัคซีนของ Johnson & Johnson เมื่อไม่นานมานี้ แสดงให้เห็นผลลัพธ์ที่ดีแม้จะใช้วัคซีนเพียงโดสเดียวในการทดลองทางคลินิกหรือการทดลองในอาสาสมัครจำนวนมาก ซึ่งหากวัคซีนได้รับการอนุมัติ ทาง Bloomberg ก็จะต้องมีการปรับจำนวนโดสให้เหมาะสมกับสัดส่วนของวัคซีนในแต่ละประเทศ

 

อย่างไรก็ตาม การคำนวณของ Bloomberg นั้นไม่ได้นับรวมระดับของภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติใดๆ ที่อาจเป็นผลจากการฟื้นตัวจากโรคโควิด-19 และเป็นไปได้ว่าสถานที่ที่ได้รับผลกระทบรุนแรงจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 อาจต้องการการฉีดวัคซีนในระดับที่ต่ำกว่า เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อในวงกว้าง

 

และถึงแม้ว่าจะมีหลักฐานว่าผู้ที่หายป่วยจากโควิด-19 จะมีภูมิคุ้มกันการติดเชื้อตามธรรมชาติ แต่ก็ยังไม่มีความชัดเจนว่าภูมิคุ้มกันนั้นจะป้องกันเชื้อได้มากน้อยเพียงใดและจะคงอยู่ได้นานแค่ไหน ซึ่งผู้เชี่ยวชาญยังคงแนะนำให้ฉีดวัคซีนแก่ผู้ที่หายป่วยจากโควิด-19 อยู่ดี

 

ภาพ: Jefta Images/Barcroft Media via Getty Images

พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X