×

เปิดเอกสารวัคซีนโควิด-19 ที่ไทยรับรอง เมื่อ AP เขียนถึง และ The New York Times นำไปอ้างอิงต่อ

โดย THE STANDARD TEAM
06.05.2021
  • LOADING...

จากกรณีที่เว็บไซต์ Coronavirus Vaccine Tracker ของสำนักข่าว The New York Times ระบุว่า วัคซีนโควิด-19 ของบริษัท Pfizer และ Moderna ซึ่งเป็น Genetic vaccines ได้รับการอนุมัติให้ใช้ในกรณีฉุกเฉิน (Emergency Use) ในประเทศไทยแล้ว โดยอ้างอิงข่าวจากสำนักข่าว AP มาอีกทอดหนึ่งนั้น THE STANDARD ตรวจสอบพบว่า

 

 

  • วันที่ 1 เมษายน 2564 สำนักข่าว AP นำเสนอข่าวเรื่องการลดวันกักกัน (Quarantine) เมื่อเดินทางมาจากต่างประเทศ โดยระบุว่า ธานี แสงรัตน์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศกล่าวว่า ผู้เดินทางชาวไทยและชาวต่างชาติไม่จำเป็นต้องแสดงใบรับรองสุขภาพ (Fit-to-Fly) แล้ว แต่ชาวต่างชาติต้องแสดงผลตรวจเชื้อโควิด-19 เป็นลบอยู่ 
  • ส่วนผู้ที่มีใบรับรองว่าได้รับวัคซีนครบแล้ว จะได้รับอนุญาตให้กักตัวในสถานกักกันโรค 7 วัน ซึ่งเปรียบเทียบกับก่อนหน้านี้คือ 14 วัน ผู้ที่ยังไม่ได้รับวัคซีนจะต้องกักตัว 10 วัน ยกเว้นผู้ที่เดินทางมาจาก 11 ประเทศ ทั้งหมดอยู่ในภูมิภาคแอฟริกาใต้ทะเลทรายซาฮารา ซึ่งจะต้องกักตัวจนครบ 2 สัปดาห์ (เพราะมีการระบาดของสายพันธุ์ใหม่)
  • โดยวัคซีนดังกล่าวจะต้องผ่านการรับรองโดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (Thai FDA) และ/หรือองค์การอนามัยโลก ประเทศไทยให้การรับรองวัคซีน 7 บริษัท เช่น Sinovac, AstraZeneca, Johnson & Johnson, Pfizer และ Moderna (ยกตัวอย่างไม่ครบ 7 บริษัท) ทำให้สำนักข่าว The New York Times น่าจะนำประโยคสุดท้ายนี้ไปอ้างอิงต่อ
  • แต่เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2564 เพจ Fda Thai ของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้เผยแพร่ข้อมูลวัคซีนโควิด-19 ที่ขึ้นทะเบียนในประเทศไทยว่า อย. อนุมัติแล้ว 3 ราย ได้แก่ 

 

  • วัคซีน AZD1222 ของ AstraZeneca
  • วัคซีน Coronavac ของ Sinovac 
  • วัคซีน JNJ-78436735 ของ Johnson & Johnson 

 

  • ในขณะที่อีก 3 รายยังอยู่ระหว่างดำเนินการ ได้แก่ วัคซีน mRNA-1273 ของ Moderna, วัคซีน Covaxin ของ Bharat Biotech และวัคซีน Sputnik V ซึ่งสังเกตว่าวัคซีน Pfizer-BioNTech ยังไม่ได้ยื่นขอขึ้นทะเบียน
  • เมื่อตรวจสอบกับ ‘หลักเกณฑ์และเงื่อนไขการอนุญาตผู้เดินทางเข้าราชอาณาจักรไทยที่ได้รับวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ครบตามเกณฑ์ที่ผู้ผลิตวัคซีนกำหนด (ข้อมูล ณ วันที่ 31 มีนาคม 2564) ระบุว่า วัคซีนต้อง ‘ได้รับการขึ้นทะเบียนตามกฎหมายของประเทศไทย หรือได้รับการรับรองจากองค์การอนามัยโลก หรือตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด’ (มี 3 กรณี) ซึ่งมีรายชื่อดังนี้

 

  • วัคซีน CoronaVac ของ Sinovac
  • วัคซีน AZD1222 ของ AstraZeneca
  • วัคซีน AZD1222 ของ SK Bioscience
  • วัคซีน BNT162b2 ของ Pfizer-BioNTech
  • วัคซีน Covishield ของ Serum Institute of India
  • วัคซีน Ad26.COV2.S ของ Janssen (Johnson&Johnson)
  • วัคซีน mRNA-1273 ของ Moderna

 

  • ซึ่งมี 7 บริษัทตรงกับที่สำนักข่าว AP อ้างถึงโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ และต่อมาวันที่ 2 เมษายน 2564 กรมควบคุมโรคได้ปรับปรุงรายชื่อวัคซีนเพิ่มอีก 1 บริษัทคือ Sinopharm ของ Beijing Institute of Biological Products
  • ดังนั้นวัคซีนโควิด-19 ที่ได้รับการอนุมัติในประเทศไทยในขณะนี้ (3 บริษัท) กับวัคซีนที่กระทรวงสาธารณสุขรับรองให้สามารถลดวันกักตัวได้ (7-8 บริษัท) จึงไม่ตรงกันและน่าจะทำให้เกิดความเข้าใจผิดในครั้งนี้ 
  • แต่ประเด็นสำคัญน่าจะอยู่ที่ว่า ทำไมวัคซีน Pfizer ถึงยังไม่ยื่นจดทะเบียนในประเทศไทย ทั้งที่มีประสิทธิภาพสูงและหลายประเทศให้การยอมรับ
  • ทั้งนี้ล่าสุด (29 เมษายน) ศบค. ได้ยกเลิก ‘การลดวันกักตัว’ ของผู้เดินทางมาจากต่างประเทศให้กลับมาเป็น 14 วันเหมือนเดิมทุกกรณี เนื่องจากความกังวลเรื่องการระบาดของสายพันธ์ุใหม่ทั้งในและต่างประเทศ

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X