สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกที่สามยังรุนแรงขึ้นต่อเนื่อง วันนี้ (28 เมษายน) มียอดผู้ติดเชื้อใหม่เพิ่ม 2,048 ราย ทำให้มีผู้ติดเชื้อสะสมที่ 57,508 ราย แม้ว่าจะมีการรักษาหายแล้วกว่า 31,593 คน แต่ทั่วโลกยังเห็นเชื้อสายพันธุ์ใหม่ๆ ที่อาจต้องการการรักษาที่เข้มข้นขึ้น ส่วนในไทยจำนวนและแผนการกระจายวัคซีนต้านโควิด-19 จากภาครัฐยังไม่มีความชัดเจน
จากปัจจัยทั้งหมดนี้ทำให้หลายคนยังไม่สบายใจที่จะรับมือกับโควิด-19 ระลอกใหม่นี้ด้วยสวัสดิการพื้นฐานของรัฐบาล ดังนั้นประกันภัยโควิด-19 อาจช่วยลดความกังวลต่อการรับมือความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นได้ โดยมีวิธีเลือกประกันโควิด-19 (แบบปีต่อปี) เบื้องต้น ได้แก่
1. เลือกความคุ้มครองที่ต้องการ ซึ่งแบบประกันตอนนี้แยกเป็น 2 แบบหลัก แบบที่ ‘เจอ จ่าย จบ’ และมี ‘ค่ารักษาพยาบาล’
- แบบ ‘เจอ จ่าย จบ’ จะมีความคุ้มครองเมื่อมีการตรวจเจอเชื้อครั้งแรก จะได้รับเงินก้อนตามที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ และบางกรมธรรม์ บางบริษัทอาจมีความคุ้มครองอื่นๆ เพิ่มเติม เช่น คุ้มครองกรณีการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ การศูนย์เสียอวัยวะ
- แบบ ‘มีค่ารักษาพยาบาล’ เนื่องจากโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ที่กำลังแพร่ระบาดอยู่ในไทย หมอหลากหลายโรงพยาบาลให้ความเห็นว่ามีการระบาดง่าย และบางส่วนอาจมีอาการเจ็บป่วยที่รุนแรงขึ้น ดังนั้นหากมีค่ารักษาพยาบาลเพิ่มเติมจะช่วยลดความกังวลเมื่อพบโควิด-19 โดยความคุ้มครองหลักๆ ได้แก่
- วงเงินค่ารักษาพยาบาลกรณีผู้ป่วยใน (IPD) ที่ล่าสุด คปภ.* ระบุให้การรักษาตัวในโรงพยาบาลสนาม และ Hospitel สามารถเบิกเคลมได้แล้ว
- วงเงินค่ารักษากรณีอาการโคม่า ซึ่งแต่ละบริษัทอาจมีนิยามและความครอบคลุมที่ต่างกัน
- วงเงินค่ารักษากรณีโรคแทรกซ้อน/การแพ้วัคซีน
- ค่าชดเชยรายวัน
- ฯลฯ
*คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.)
2. อ่านเงื่อนไขการรับประกัน และแจ้งข้อมูลส่วนตัวตามจริงกับบริษัทฯ ประกันเสมอ เนื่องจากการรับประกันแต่ละบริษัทอาจมีความแตกต่างกัน ควรอ่านการคุ้มครอง และเงื่อนไขยกเว้นอย่างละเอียด เช่น
- Waiting Period หรือระยะเวลารอคอย เช่น เมื่อซื้อประกันแล้วจะต้องผ่านระยะเวลา 14 วันจึงจะคุ้มครองการเจ็บป่วยที่เกิดขึ้น
- เงื่อนไขอาชีพ บางบริษัทประกันอาจมีเงื่อนไขไม่รับประกันบางอาชีพที่มีความเสี่ยงจะเกิดโรคได้มากกว่า เป็นต้น
- อ่านความคุ้มครองเพิ่มเติม เช่น ประกันอุบัติเหตุ ค่าปลงศพ ฯลฯ
ขณะเดียวกันหากบริษัทประกันภัยสามารถตรวจสอบได้ว่า ผู้เอาประกันฯ จงใจปกปิดข้อมูลอาจเป็นกรณีโมฆียะ และคืนเบี้ยประกันให้ผู้เอาประกัน
อย่างไรก็ตามเมื่อผู้เอาประกัน (ชื่อบนกรมธรรม์) เมื่อได้รับกรมธรรม์ฉบับจริงแล้วควรอ่านรายละเอียดและทำความเข้าใจในรายละเอียด
นอกจากนี้หากเรามีประกันสุขภาพอยู่แล้ว จะให้ความคุ้มครองค่ารักษาพยาบาลที่เกิดจากโรคโควิด-19 เช่นกัน สามารถเบิกเคลมได้ตามกระบวนการปกติ (ยกเว้นประกันเฉพาะทาง เช่น ประกันโรคร้ายแรง ซึ่งให้ความคุ้มครองเฉพาะโรคอยู่แล้ว)
ขณะที่กรณีการเคลม หรือการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน หากผู้เอาประกันตรวจพบเชื้อ หรือเข้ารับการรักษา เบื้องต้นต้องเช็กกับทางประกันภัยว่า ในกรณีขอรักษาตัวที่โรงพยาบาลเอกชน สอบถามโรงพยาบาลเครือข่ายของบริษัทประกันภัยที่มีประกันอยู่เพื่อไม่ต้องสำรองจ่ายเงินไปก่อน
และหากต้องการเคลมประกัน หลังจากการตรวจพบเชื้อและรักษาเสร็จสิ้น เบื้องต้นต้องเตรียมเอกสารดังนี้
- แบบฟอร์มการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน สามารถติดต่อกับทางบริษัทประกันภัย
- ผลวินิจฉัยของแพทย์ โรงพยาบาล หรือผลแล็บ
- ใบรับรองแพทย์
- เอกสารอื่นๆ เช่น ใบเสร็จค่าใช้จ่ายการรักษาพยาบาล-รายการยา ฯลฯ โดยการเรียกเอกสารขึ้นอยู่กับรายละเอียดของแต่ละบริษัท
สุดท้ายนี้ประกันภัยโควิด-19 ยังเป็นหนึ่งในแบบประกันภัยปกติ โดยจากข้อมูลที่แชร์ต่อกันในโลกโซเชียลที่ว่า “หากทำประกันโควิด-19 และหายจากการเป็นโควิด-19 จะไม่สามารถทำประกันสุขภาพตัวอื่นได้ เพราะมีประวัติการรักษาปอด” เป็นข้อมูลที่ไม่เป็นจริง
โดยในกรณีพื้นฐาน หากผู้เป็นโรคใดๆ ต้องการทำประกันสุขภาพ ทางบริษัทต้องพิจารณาข้อมูลทางสุขภาพของผู้ที่ต้องการทำประกันก่อน และอาจเพิ่มเบี้ยตามความเสี่ยง หรือไม่รับประกันเฉพาะโรค (ที่เป็นมาก่อนหน้า) หรือไม่รับประกันภัยเพราะการรับทำประกันภัยขึ้นอยู่กับการพิจารณาของบริษัทประกันภัยอยู่แล้ว
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์