ธนาคารกรุงไทยระบุว่า เช้าวันนี้ (30 มกราคม 63) ค่าเงินบาทเปิดตลาดที่ระดับ 31.02 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากช่วงปิดสิ้นวันทำการก่อน (29 มกราคม) ที่ระดับ 31.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ
ส่วนหนึ่งเพราะสถานการณ์การระบาดไวรัสโคโรนาที่ส่งผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยวและภาคขนส่ง รวมถึงความกังวลว่าองค์การอนามัยโลก (WHO) จะประกาศเตือนภัยโรคระบาด ทำให้นักค้าเงินทั่วโลกยังคงสถานะขายเงินบาท เพราะเชื่อว่าเป็นสกุลเงินที่อ่อนค่าได้อีก จากทั้งเศรษฐกิจที่จะได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุดในเอเชีย เพราะพึ่งพาการท่องเที่ยวมาก ขณะเดียวกัน การบริโภคในประเทศก็น่าจะมีปัญหาจากนโยบายการคลังที่ติดขัด จึงเป็นเศรษฐกิจและค่าเงินที่มีความเสี่ยงมากที่สุดในช่วงนี้
ทั้งนี้ ทางธนาคารประเมินกรอบการเคลื่อนไหวค่าเงินบาทวันนี้จะอยู่ที่ 30.95-31.15 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ขณะเดียวกันจะมีการปรับประมาณการค่าเงินบาท ณ สิ้นไตรมาส 1 และสิ้นปี 2563 อีกครั้ง แต่ยังต้องรอความชัดเจนจำนวนผู้ติดเชื้อและผลกระทบจากไวรัสโคโรนา
อย่างไรก็ตาม จากการระบาดไวรัสโคโรนา ล่าสุด มีตัวเลขผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นเป็น 170 รายในจีน ส่วนไทยก็มีผู้ติดเชื้อรวม 14 ราย ถือว่าสูงเป็นอันดับที่ 2 ของโลก โดยตลาดเงินมองว่า สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐเป็นสกุลเงินปลอดภัย แม้จะมีมุมมองว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ไม่ขึ้นดอกเบี้ย และมองว่า สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศใหญ่ที่คาดว่าจะได้รับผลเสียจากไวรัสโคโรนาน้อยที่สุด
ในคืนที่ผ่านมา ตลาดการเงินฝั่งสหรัฐฯ สามารถต้านทานไวรัสได้ด้วยผลประกอบการณ์ของบริษัทจดทะเบียนที่ยังคงดีกว่าคาด และนโยบายการเงินที่มีแนวโน้มผ่อนคลายในคืนที่ผ่านมา
ล่าสุด ดัชนี S&P 500 ปรับตัวลงเพียง 0.1% ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตร (บอนด์ยีลด์) สหรัฐฯ อายุ 10 ปี ปรับตัวลง 7.2 bps มาที่ระดับ 1.58% หลังผลการประชุมนโยบายการเงิน (FOMC) ธนาคารกลางสหรัฐฯ มีมติ ‘คง’ อัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 1.50-1.75% ตามที่ตลาดหวังไว้ และคงมีมุมมองว่า ดอกเบี้ยในปัจจุบันอยู่ในระดับที่ ‘เหมาะสม’ สำหรับการขยายตัวของเศรษฐกิจ ขณะที่เงินเฟ้อก็อยู่ในระดับต่ำ
แม้ FOMC จะมีการปรับอัตราดอกเบี้ยสำหรับทุนสำรองส่วนเกิน (IOER) ขึ้น 0.05% มาที่ระดับ 1.60% แต่ตลาดก็ไม่ได้มองเป็นนโยบายการเงินที่เข้มงวด และนักลงทุนส่วนใหญ่ก็มีความเชื่อมั่นว่า ไม่มีโอกาสที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ จะสามารถกลับไปขึ้นดอกเบี้ยนโยบายได้ในปีนี้
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล