วันนี้ (7 เมษายน) ที่สำนักงานอัยการสูงสุด ถนนแจ้งวัฒนะ ประยุทธ เพชรคุณ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด แถลงข่าวถึงสถิติผู้ฝ่าฝืนพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ฉบับที่ 1 ระหว่างวันที่ 3-6 เมษายน 2563 ว่า กรณีนี้ วงศ์สกุล กิตติพรหมวงศ์ อัยการสูงสุด ได้กำชับให้สำนักงานอัยการทั่วประเทศนำเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารมาใช้ โดยให้รายงานภาพรวมของการดำเนินคดีผ่านระบบสารระบบคดีอิเล็กทรอนิกส์ของสำนักงานอัยการสูงสุด พร้อมแจ้งให้งานโฆษก สำนักงานอัยการสูงสุด และสำนักงานเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารรวบรวมและประมวลผลภาพรวมทั้งประเทศในการดำเนินคดีกับผู้ฝ่าฝืนพระราชกำหนดดังกล่าว ถึงวันที่ 6 เมษายน 2563 ซึ่งเป็นวันที่ศาลแขวงทั่วประเทศ เปิดทำการในช่วงวันหยุด โดยมี รัชต์เทพ ดีประหลาด ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารกิจการสำนักงานอัยการสูงสุด และ ณฐนน แก้วกระจ่าง ผู้อำนวยการสำนักเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารได้ดำเนินการรวบรวมวิเคราะห์แล้วปรากฏผล ดังนี้
- จำนวนคดีและจำนวนผู้ต้องหาหรือจำเลย ที่กระทำความผิดและถูกดำเนินคดี สำหรับภาพรวมทั้งประเทศมีการฝ่าฝืนทั้งสิ้นจำนวน 438 คดี จำนวนจำเลยที่ถูกดำเนินคดี 623 ราย
- ทุกคดีพนักงานอัยการได้มีคำขอให้ศาลลงโทษสถานหนัก ซึ่งศาลได้ใช้ดุลยพินิจลงโทษจำเลยตามคำขอของพนักงานอัยการ เช่น คดีที่พนักงานอัยการฟ้องต่อศาลแขวงพระนครศรีอยุธยา ลงโทษจำคุก 2-4 เดือน โดยไม่รอการลงโทษ (ข้อหามั่วสุม) และคดีที่ศาลแขวงจังหวัดอุบลราชธานี ที่ให้จำคุก 15 วัน เปลี่ยนโทษเป็นกักขังแทน 15 วัน เป็นต้น
- ประเภทคดีที่มีการฝ่าฝืนมากที่สุด ได้แก่ การออกนอกเคหสถาน โดยช่วงอายุที่กระทำความผิดมากที่สุดเป็นช่วงอายุระหว่าง 20-35 ปี รองลงมาคือ ช่วงอายุระหว่าง 35-55 ปี ซึ่งเป็นช่วงอายุที่กระทรวงสาธารณสุขให้ระมัดระวังในการแพร่เชื้อ
ทั้งนี้ จังหวัดที่มีสถิติผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 สูง เช่น กรุงเทพมหานคร, จังหวัดนนทบุรี, ชลบุรี และเชียงใหม่ ยังเป็นจังหวัดที่มีจำนวนสถิติคดีและจำนวนผู้ฝ่าฝืน พ.ร.ก. มีจำนวนสูงด้วยเช่นกัน ซึ่งอัยการสูงสุดยังได้กำชับให้พนักงานอัยการทั่วประเทศได้บังคับใช้กฎหมายอย่างรวดเร็วและเฉียบขาดต่อไป ตนจึงอยากเตือนประชาชนให้เคารพกฎหมาย เพราะเจ้าพนักงานจะบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดและเด็ดขาดในทุกข้อหาความผิด และจะขอให้ศาลลงโทษสถานหนักในทุกข้อหาเช่นกัน
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล