×

‘ชาวเอเชีย’ แพะรับบาปไวรัสโคโรนา กระแสเกลียดกลัวชาวต่างชาติที่แพร่ระบาดไปทั่วโลก

06.02.2020
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

  • คนเอเชียในประเทศต่างๆ พากันรายงานว่าพวกเขารู้สึกเหมือนถูกจ้องมองในฐานะตัวแพร่เชื้อ ไม่ว่าจะถูกจ้องมองหลังการไอ ลูกค้าขอให้เปลี่ยนสินค้าหลังพนักงานเชื้อสายเอเชียสัมผัสโดน บางรายถูกบอกให้ไปห่างๆ และให้เอามือปิดปากเอาไว้
  • กระแสความเกลียดกลัวชาวต่างชาติ และการเหยียดเผ่าพันธ์ุ (Racism) นี้เริ่มกระจายมากขึ้นจนมีกระแสโต้กลับ อย่างในฝรั่งเศส มีผู้คนใช้แฮชแท็ก #JeNeSuisPasUnVirus ที่แปลว่า ‘พวกเราไม่ใช่ไวรัส’ อย่างแพร่หลาย
  • ปัจจุบัน มีความพยายามในการตั้งชื่อของไวรัสโคโรนาอย่างเป็นทางการ แทนชื่อชั่วคราวอันมาจาก ‘2019-nCoV’ อย่างไรก็ตาม การรายงานข่าวบางครั้งเรียกไวรัสนี้ว่า ‘ไวรัสอู่ฮั่น’ หรือ ‘ไวรัสจีน’ โดยเชื่อมถึงต้นตอการระบาด
  • “ต้องเข้าใจว่า เราทุกคนต่างมีความเสี่ยงติดเชื้อได้หมด และจำเป็นต้องพึ่งกันและกันเวลาที่มีโรคระบาดขึ้น” โมนิกา ชอก-สปานา นักวิชาการอาวุโสจากศูนย์เพื่อความมั่นคงด้านสุขภาพจอห์น ฮอปกินส์ กล่าว

ท่ามกลางตัวเลขของผู้ป่วย และผู้เสียชีวิตจากไวรัสโคโรนาสายพันธ์ุใหม่ 2019 ที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ความหวาดกลัวต่อชาวเอเชียก็มีปรากฏให้เห็นมากขึ้นเช่นกัน

 

ตามรายงานของ CNN ยอดผู้เสียชีวิตล่าสุดรวม 563 คน ส่วนผู้ป่วยทั่วโลกเพิ่มจำนวนเกิน 28,000 คนแล้ว (ข้อมูล ณ วันที่ 6 กุมภาพันธ์ เวลา 08.00 น.) 

 

ชาวอเมริกันเชื้อสายเวียดนามรายหนึ่งโพสต์วิดีโอตนเองกำลังกินเฝอผ่านแอปพลิเคชัน TikTok แต่กลับพบคอมเมนต์ถามหาว่า “ค้างคาวในซุปอยู่ไหน” และยังมีการพบเห็นคอมเมนต์ในร้านอาหารจีนแห่งหนึ่งในโทรอนโต ประเทศแคนาดา ว่า “ได้โปรดอย่ากินค้างคาวเลย เพราะนั่นเป็นจุดเริ่มต้นโคโรนาไวรัสในจีน”

 

ไวรัสโคโรนาที่แพร่ระบาดอยู่มีจุดเริ่มต้นจากเมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย ประเทศจีน และเป็นที่สันนิษฐานว่ามนุษย์ได้รับไวรัสดังกล่าวมาจากค้างคาว

 

โพสต์จากมหาวิทยาลัยเบิร์กลีย์ เผยแพร่ข้อมูลส่วนหนึ่งระบุว่า ความเกลียดกลัวชาวต่างชาติ (Xenophobia) ถือเป็นปฏิกิริยาที่ปกติต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส จนเกิดกระแสวิจารณ์โต้กลับอย่างรุนแรง โดยภายหลังมหาวิทยาลัยฯ ได้แถลงขอโทษต่อการทำให้เข้าใจผิด และจะเปลี่ยนแปลงคำพูดในข้อมูล

 

คนเอเชียในประเทศต่างๆ พากันรายงานว่าพวกเขารู้สึกเหมือนถูกจ้องมองในฐานะตัวแพร่เชื้อ ไม่ว่าจะถูกจ้องมองหลังการไอ ลูกค้าขอให้เปลี่ยนสินค้าหลังพนักงานเชื้อสายเอเชียสัมผัสโดน บางรายถูกบอกให้ไปห่างๆ และให้เอามือปิดปากเอาไว้

 

ปฏิกิริยาต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดยังพบในที่อื่นของเอเชียด้วย ไม่ว่าจะเป็นป้ายห้ามลูกค้าคนจีนเข้าร้านในเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น หรือเวียดนาม แฮชแท็กติดอันดับของญี่ปุ่นที่เรียกร้องไม่ให้คนจีนเข้าประเทศ เช่นเดียวกับในสิงคโปร์ที่มีความพยายามรวบรวมลายเซ็นเรียกร้องประเด็นเดียวกัน

 

กระแสของความเกลียดกลัวชาวต่างชาติ และการเหยียดเผ่าพันธ์ุ (Racism) นี้เริ่มกระจายมากขึ้นจนมีกระแสโต้กลับ อย่างในฝรั่งเศส มีผู้คนใช้ #JeNeSuisPasUnVirus ที่แปลว่า ‘พวกเราไม่ใช่ไวรัส’ อย่างแพร่หลาย

 

ปัญหามาจากชื่อไวรัส 

ศาสตราจารย์โรเจอร์ คีล ประจำภาควิชาวิทยาการสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยยอร์ก มองถึงปัญหาว่ามีเพียงการแพร่ระบาดครั้งนี้ที่ถูกทำให้เป็นเรื่องของเผ่าพันธ์ุ โดยย้ำว่าการจัดการต่อปัญหาเหยียดเชื้อชาตินั้น บุคคลสาธารณะอย่างนักการเมืองและสื่อจำเป็นต้องแยกแยะเชื้อและจุดเริ่มต้นการระบาดออกจากกันก่อน

 

รายงานจากบีบีซีระบุว่า ปัจจุบันมีความพยายามในการตั้งชื่อของไวรัสโคโรนาอย่างเป็นทางการ แทนชื่อชั่วคราวอันมาจาก ‘2019-nCoV’ โดย 2019 แทนปีที่พบการระบาด n มาจาก Novel หรือ New ที่แปลว่าใหม่ ส่วน CoV คือชื่อย่อของกลุ่มไวรัสโคโรนา อย่างไรก็ตาม การรายงานข่าวบางครั้งเรียกไวรัสนี้ว่า ‘ไวรัสอู่ฮั่น’ หรือ ‘ไวรัสจีน’ โดยเชื่อมถึงต้นตอการระบาด

 

คริสตัล วัตสัน นักวิชาการอาวุโสจากศูนย์เพื่อความมั่นคงด้านสุขภาพจอห์น ฮอปกินส์ พูดถึงประเด็นดังกล่าวว่า “ความอันตรายจากการที่คุณไม่มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการคือ ผู้คนเริ่มใช้คำอย่าง ‘ไวรัสจีน’ และมันอาจสร้างผลกระทบอย่างรุนแรงต่อกลุ่มประชากรบางกลุ่มก็เป็นได้” 

 

ทุกคนต้องพึ่งกันและกัน

โรเบิร์ต ฟูลลีเลิฟ ศาสตราจารย์จากศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ที่ให้สัมภาษณ์ต่อ Business Insider ว่า ความเกลียดกลัวชาวต่างชาติจากบริบทของไวรัสโคโรนามีความคล้ายคลึงกับสถานการณ์เอดส์หรือเชื้อเอชไอวีในช่วงยุค ค.ศ. 1980 ที่ทุกคนต่างว่าร้ายคนอื่นยกเว้นพวกของตัวเอง

 

สำหรับเขา หนทางในการหยุดความเข้าใจผิด และการหาแพะรับบาป คือการทำให้ผู้คนรับรู้เข้าใจต่อสถานการณ์ไวรัสให้มากที่สุด

 

เช่นเดียวกัน โมนิกา ชอก-สปานา นักมานุษยวิทยาการแพทย์และนักวิชาการอาวุโสจากศูนย์เพื่อความมั่นคงด้านสุขภาพจอห์น ฮอปกินส์ กล่าวถึงบทเรียนจากประวัติศาสตร์ว่า “คนที่มีสัญชาติ เชื้อชาติ ปูมหลังทางศาสนาที่แตกต่าง เคยถูกกล่าวหาว่าเป็นตัวแพร่เชื้อ โดยไม่สนว่าวิทยาศาสตร์จะพูดว่าอะไร”

 

เธอยกตัวอย่างว่า ช่วงเชื้อ H1N1 ระบาด 11 ปีก่อน ชาวละตินก็ถูกมองเป็นตัวแพร่เชื้อ เหมือนอย่างอีโบลากับคนเชื้อสายแอฟริกันในปี 2557

 

“การป้องกันการตีตราทางสังคมที่มีบริบทจากโรคระบาด ไม่ใช่แค่เรื่องการเห็นใจคนอื่นเท่านั้น จากประวัติศาสตร์ กลุ่มแพะรับบาปมักลังเลจะไปพบแพทย์เวลาตัวเองเริ่มมีอาการ” ชอก-สปานา ชี้ถึงผลกระทบจากการเหยียดเผ่าพันธ์ุต่อไปอีกว่า

 

“ความเกลียดกลัวคนต่างชาติเป็นสภาวะที่มีอยู่ก่อนเชื้อจะระบาด แต่ต้องเข้าใจว่า เราทุกคนต่างมีความเสี่ยงติดเชื้อได้หมด และจำเป็นต้องพึ่งกันและกันเวลาที่มีโรคระบาดขึ้น”

 

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising