×

ไขคำตอบ ‘โอมิครอนกับความหวังโควิดกลายเป็นโรคประจำถิ่น’ เป็นไปได้จริงไหม ใช้เวลาแค่ไหน?

12.01.2022
  • LOADING...
ไขคำตอบ ‘โอมิครอนกับความหวังโควิดกลายเป็นโรคประจำถิ่น’ เป็นไปได้จริงไหม ใช้เวลาแค่ไหน?

ความหวังที่การระบาดของโควิดจะกลายเป็นโรคประจำถิ่น (Endemic) เริ่มเป็นที่พูดถึงมากขึ้น หลังจากที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อโควิดสายพันธุ์โอมิครอน ซึ่งกลายมาเป็นสายพันธุ์หลักในหลายประเทศทั่วโลก โดยโอมิครอนนั้นแม้จะระบาดได้รวดเร็ว แต่ก็ทำให้ผู้ติดเชื้ออาการหนักถึงขั้นเข้าโรงพยาบาลหรือเสียชีวิตได้ค่อนข้างน้อย เมื่อเทียบกับสายพันธุ์ก่อนหน้า

 

อย่างไรก็ตาม คำถามที่หลายคนสงสัยตอนนี้คือ มีความเป็นไปได้มากแค่ไหนที่โอมิครอนจะทำให้วิกฤตโควิดที่ผู้คนทั่วโลกเผชิญมานานกว่า 2 ปี กลายเป็นโรคประจำถิ่นเหมือนกับโรคระบาดอื่นๆ เช่น ไข้หวัด และต้องใช้เวลาอีกนานแค่ไหน?

 

WHO ชี้ เร็วไปที่โควิดจะเป็นโรคประจำถิ่นเหมือนไข้หวัด

 

  • ผู้แทนองค์การอนามัยโลก (WHO) เปิดเผยผลวิเคราะห์อัตราการแพร่ระบาดของโอมิครอนที่เพิ่มขึ้นกว่า 7 ล้านคนในช่วงสัปดาห์แรกของปี 2020 โดยคาดว่าในอีก 6-8 สัปดาห์ข้างหน้า ชาวยุโรปมากกว่า 50% จะติดเชื้อโอมิครอน แต่การระบาดที่รุนแรงนี้ยังไม่ถึงขั้นส่งผลให้โควิดกลายเป็นโรคประจำถิ่นได้เหมือนกับโรคหวัด ซึ่งการทำให้โควิดกลายเป็นโรคประจำถิ่นได้ในปีนี้นั้น ‘ยังเร็วเกินไป’

 

  • แคทเธอรีน สมอลวูด เจ้าหน้าที่อาวุโสฝ่ายฉุกเฉินประจำภูมิภาคยุโรปของ WHO ชี้ว่า การที่โควิดจะกลายเป็นโรคประจำถิ่นได้นั้นจำเป็นต้องมีอัตราการแพร่เชื้อที่เสถียรและคาดเดาได้

 

“เรายังมีความไม่แน่นอนอยู่มาก และมีไวรัสที่พัฒนาค่อนข้างรวดเร็วทำให้เกิดความท้าทายใหม่ๆ แน่นอนว่าเรายังไม่ได้อยู่ในจุดที่เรียกได้ว่าเป็นโรคประจำถิ่น” สมอลวูดกล่าว 

 

  • ขณะที่เธอชี้ว่าโควิดอาจจะกลายเป็นโรคประจำถิ่นเมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม แต่การทำให้มันกลายเป็นโรคประจำถิ่นในปีนี้นั้นค่อนข้างยากสำหรับสถานการณ์ในตอนนี้

 

  • ปัจจุบันมีบางประเทศยุโรป อาทิ สเปน ที่ประกาศว่าอาจถึงเวลาเปลี่ยนแปลงแนวทางรับมือโควิด โดยใช้แนวทางที่คล้ายกับโรคหวัด เนื่องจากมองว่าการระบาดของโอมิครอนนั้นทำให้ผู้ติดเชื้ออาการหนักถึงขั้นเสียชีวิตได้น้อยลง 

 

  • ซึ่งแนวทางนี้คือการปรับให้การรับมือโควิดเป็นเหมือนโรคประจำถิ่น (Endemic) มากกว่าโรคระบาดใหญ่ (Pandemic) โดยไม่ต้องบันทึกข้อมูลผู้ติดเชื้อทุกๆ เคส และไม่ต้องตรวจสอบเชื้อประชาชนทุกคนที่มีอาการ

 

EU เชื่อ โอมิครอน ตัวแปรสำคัญพลิกเกมโควิดสู่โรคประจำถิ่น

 

  • ทางด้านองค์การยาแห่งสหภาพยุโรป (European Medicines Agency: EMA) ชี้ว่า การแพร่ระบาดที่รวดเร็วของโอมิครอนนั้นกำลังเป็นตัวแปรที่ผลักดันให้โควิดเดินหน้าไปสู่การเป็นโรคประจำถิ่น ที่มนุษยชาติสามารถใช้ชีวิตอยู่ร่วมได้

 

  • โดย มาร์โค คาวาเลรี หัวหน้าคณะทำงานด้านยุทธศาสตร์วัคซีนของ EMA กล่าวว่า การเพิ่มขึ้นของภูมิคุ้มกันในประชากร และการระบาดของโอมิครอน จะทำให้มีภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติเกิดขึ้นอีกมากมายนอกเหนือจากการฉีดวัคซีน ซึ่งจะส่งผลให้การเดินหน้าไปสู่สถานการณ์ที่ใกล้จะเกิดโรคประจำถิ่นเป็นไปอย่างรวดเร็ว

 

  • ขณะที่คาวาเลรีย้ำสิ่งสำคัญว่า ตอนนี้ต้องไม่ลืมว่าสถานการณ์โควิดยังเป็นโรคระบาดใหญ่ และยังคงเกิดผลกระทบที่รุนแรงต่อระบบสาธารณสุขอยู่ 

 

  • นอกจากนี้ EMA ชี้ว่า ผลการศึกษาวิจัยหลายฉบับยืนยันตรงกันว่า แม้โอมิครอนจะระบาดรวดเร็วมากขึ้น แต่ความเสี่ยงที่จะมีผู้ติดเชื้อป่วยหนักจนต้องเข้ารักษาในโรงพยาบาลนั้นน้อยกว่าสายพันธุ์ก่อนหน้า โดยอยู่ระหว่าง 1 ใน 3 หรือเพียงครึ่งหนึ่งเมื่อเทียบกับสายพันธุ์เดลตา

 

  • ขณะที่ EMA แสดงความสงสัยต่อแนวทางรับมือโควิดในปัจจุบันที่มีการเร่งฉีดวัคซีนป้องกันให้ประชาชนทั่วไปถึงเข็มที่ 4 โดยมองว่าการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นซ้ำๆ นั้น ไม่น่าจะใช่ยุทธศาสตร์ที่ยั่งยืน 

 

  • ซึ่งคาวาเลรีระบุว่า การฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นทุก 4 เดือน จะส่งผลให้เกิดปัญหาต่อการตอบสนองของภูมิคุ้มกัน และเขามองว่าประเทศต่างๆ ควรเริ่มคิดถึงการเว้นระยะห่างระหว่างการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นในช่วงเวลาที่นานขึ้น และทำให้สอดคล้องไปกับการฉีดวัคซีนไข้หวัดในช่วงเริ่มต้นฤดูแพร่ระบาดของไข้หวัด

 

โอมิครอนกับการบรรลุเป้าหมายภูมิคุ้มกันหมู่

 

  • อีกทางออกของการทำให้โควิดกลายเป็นโรคประจำถิ่นที่หลายคนพูดถึง คือการระบาดอย่างรวดเร็วของโอมิครอน ที่จะนำไปสู่การเกิดภาวะภูมิคุ้มกันหมู่หรือ Herd Immunity ซึ่งสัดส่วนของประชากรที่มีภูมิคุ้มกันจากการติดเชื้อหรือฉีดวัคซีนเพิ่มขึ้นมาก จนถึงระดับที่ประชาชนที่ยังไม่มีภูมิคุ้มกันมีสัดส่วนน้อย จนทำให้โอกาสติดเชื้อต่ำ

 

  • โดยผู้เชี่ยวชาญด้านโรคระบาดหลายคนมองว่ามีความเป็นไปได้ที่การระบาดของโอมิครอนจะก่อให้เกิดภาวะภูมิคุ้มกันหมู่ แต่อาจจะไม่ใช่เรื่องง่าย และยากจะคาดเดาได้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไร อีกทั้งยังมีปัจจัยและอุปสรรคอื่นๆ ที่อาจทำให้ภูมิคุ้มกันหมู่เกิดขึ้นได้ยากหรือช้าลง เช่น ปัจจัยด้านระยะเวลา เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของภูมิคุ้มกันหลังจากติดเชื้อหรือฉีดวัคซีนนั้นมีเวลาจำกัด และภูมิคุ้มกันจะเริ่มลดลงหลังผ่านไป 2-3 เดือน 

 

  • ขณะที่เชื้อโควิดเองยังมีการกลายพันธุ์มาอย่างต่อเนื่อง ทำให้เป็นไปได้ว่า การติดเชื้อโควิดสายพันธุ์โอมิครอนอาจไม่สามารถรับประกันได้ว่าจะช่วยป้องกันการติดเชื้อโควิดสายพันธุ์อื่นๆ ในอนาคต

 

  • ซึ่งกลุ่มวิจัยด้านวัคซีนของ Mayo Clinic องค์กรด้านบริการสุขภาพของสหรัฐฯ ชี้ว่า ตราบใดที่เชื้อโควิดยังกลายพันธุ์ได้ การมีภูมิคุ้มกันที่คงทนก็อาจไม่ช่วยอะไรมากนัก และหากมีเชื้อโควิดที่กลายพันธุ์จนหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันได้มากขึ้น อาจส่งผลให้ผู้คนทั่วโลกต้องหาหนทางรับมือการระบาดกันใหม่อีกครั้ง

 

  • อย่างไรก็ตาม อิสราเอลเป็นหนึ่งในประเทศที่กำลังมีความหวังว่าอาจสามารถบรรลุภาวะภูมิคุ้มกันหมู่ได้จากการแพร่ระบาดที่กลับมาพุ่งสูงโดยเป็นผลจากโอมิครอน ซึ่งนับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคมจนถึงวันนี้ (12 มกราคม) จำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นกว่า 10 เท่า จากราว 4,000 คน เป็นกว่า 43,000 คน 

 

  • ขณะที่ ศ.นัคมาน แอช ที่ปรึกษาระดับสูงด้านสาธารณสุขของรัฐบาลอิสราเอล มองความเป็นไปได้ในการเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ โดยชี้ว่ามีราคาที่ต้องจ่ายสำหรับการเกิดภูมิคุ้มกันหมู่จากการติดเชื้อ และเขาต้องการเห็นการเกิดภูมิคุ้มกันหมู่จากการฉีดวัคซีนมากกว่า

 

“ราคาของภูมิคุ้มกันหมู่คือการติดเชื้อจำนวนมาก และนั่นอาจเกิดขึ้นได้ ตัวเลขผู้ติดเชื้อจำเป็นต้องสูงเพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ มันเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ แต่เราไม่ต้องการบรรลุภูมิคุ้มกันหมู่ด้วยวิธีการติดเชื้อ เราต้องการให้มันเกิดขึ้นจากการที่ประชาชนจำนวนมากฉีดวัคซีน” เขากล่าว

 

  • อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญเตือนว่า การเกิดภูมิคุ้มกันหมู่แค่ในบางประเทศนั้นอาจไม่สามารถยับยั้งสถานการณ์ระบาดของโควิดให้บรรเทาลงจนกลายเป็นโรคประจำถิ่นได้ เนื่องจากยังอาจมีการกลายพันธุ์ของโควิดสายพันธุ์ใหม่ๆ เกิดขึ้นได้ และคาดเดาได้ยากว่าจะมีความรุนแรงมากขึ้นหรือน้อยลง ซึ่งโอมิครอนนั้นอาจไม่ใช่โควิดสายพันธุ์สุดท้าย 

 

ภาพ: Photo by Sean Gallup/Getty Images

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising