×

ไทยพบผู้ติดเชื้อโควิดโอไมครอนรายแรก เดินทางเข้าประเทศผ่านระบบ Test & Go สธ. เชื่อ จะมีรายต่อไป แต่อย่าตื่นตระหนก

โดย THE STANDARD TEAM
06.12.2021
  • LOADING...

วันนี้ (6 ธันวาคม) นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงข่าวการเฝ้าระวังโควิดสายพันธุ์โอไมครอนว่า ต้องยอมรับว่าในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา มีบางสื่อบอกว่ามีข่าวลือ ซึ่งอาจเกิดความสับสน ตื่นตระหนก ทั้งนี้ สธ. จึงต้องออกมาให้ข้อมูล โดยเราติดตามเฝ้าระวังการกลายพันธุ์ตรวจทุกสัปดาห์

 

ซึ่งข้อมูลเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน – 3 ธันวาคม 2564 ตรวจไปเกือบ 800 ตัวอย่าง ยังพบเป็นสายพันธุ์เดลตาเกือบ 100% โดยมีสายพันธุ์อัลฟา 1 ราย ไม่พบสายพันธุ์เบตา แนวโน้มวันนี้ภาพรวมประเทศคือสายพันธุ์เดลตา 99.87% ขณะที่ช่วงเปิดประเทศตั้งแต่ 1 พฤศจิกายน ก็เฝ้าระวังผู้เดินทางที่มีผลตรวจ RT-PCR เป็นบวก ส่วนใหญ่ยังเป็นสายพันธุ์เดลตาและอัลฟา 1-2 ราย

 

นพ.ศุภกิจกล่าวต่อไปว่า กรมวิทย์ฯ ได้พัฒนาการตรวจหาสายพันธุ์โควิดโอไมครอนที่มีการกลายพันธุ์หลายตำแหน่งเป็นลูกผสม ดังนั้นหากตำแหน่ง HV69-70 หายไป แต่ตรวจพบการกลายพันธุ์ที่ K417N ให้สันนิษฐานว่าเป็นโอไมครอน ดังนั้นตัวอย่างที่ส่งมาให้เราตรวจจากผู้เดินทางระบบไม่กักตัว (Test and Go) เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (3 ธันวาคม) เราตรวจพบเบื้องต้นแบบนี้ เราจึงสรุปขณะนั้นว่าอาจจะเป็นสายพันธุ์โอไมครอน จึงแจ้งกรมควบคุมโรคสอบสวนโรคต่อไป

 

“หมายความว่าเราไม่ชักช้ารอพิสูจน์ให้ชัด แต่แน่นอนว่าเป็นรายแรกของประเทศ หากเราเจอเท่านี้แล้วบอกว่าเจอโอไมครอนในไทย หากไปตรวจโฮจีโนมคอนเฟิร์มว่าไม่ใช่ก็จะยุ่ง เราจึงต้องตรวจเพิ่มเติมว่าเป็นโอไมครอนหรือไม่” นพ.ศุภกิจกล่าว

 

นพ.ศุภกิจกล่าวต่อไปว่า ข้อมูลการถอดรหัสพันธุกรรมผู้เดินทางเข้าประเทศเพื่อหาสายพันธุ์โอไมครอน ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน – 4 ธันวาคม ตรวจแล้ว 89 ราย ยังเป็นสายพันธุ์เดลตาและมีโอกาสเป็นสายพันธุ์โอไมครอนรายเดียว

 

และตัวอย่างที่มีแนวโน้มเป็นสายพันธุ์โอไมครอน 1 ราย ข้อมูลคือเป็นชายชาวอเมริกัน เดินทางมาจากสเปน เข้าสู่ระบบไม่กักตัว (Test and Go) เราพบเบื้องต้นคือมีตำแหน่งพันธุกรรมที่หายไป เข้าข่ายว่ามีโอกาสเป็นสายพันธุ์โอไมครอน และยิ่งมีการตรวจในตำแหน่งเพิ่มเติมคือ T478K และ N501Y แม้จะตรวจเบื้องต้นแต่น่าจะเป็นสายพันธุ์โอไมครอนมากทีเดียว

 

โดยเมื่อเข้าเครื่อง Whole Genome Sequencing จริงๆ ก็จะทราบผลได้ตั้งแต่เมื่อวานนี้ (5 ธันวาคม) แต่ด้วยเชื้อที่นำมาอาจจะน้อย เมื่อมาถอดรหัสพันธุกรรมจึงทำให้ยาก ข้อมูลไม่สมบูรณ์ จึงได้ขอตัวอย่างมาใหม่ พบว่ามีเชื้อมากขึ้นในตัว จึงให้ผลเหมือนเดิม

 

“จากการเก็บตัวอย่างและเครื่องวิเคราะห์พบความเข้ากันได้ที่มีโอกาสเป็นโอไมครอนร้อยละ 99.92 แต่เราจะมีการตรวจเพิ่มเติมครั้งที่ 2 ยืนยันอีกครั้ง และจะมีเครือข่ายแล็บอื่นๆ ช่วยคอนเฟิร์มด้วย แต่เบื้องต้นถือเป็นโอไมครอนรายแรกที่ตรวจพบในประเทศไทย” นพ.ศุภกิจกล่าว

 

“ก็จะเป็นโอไมครอนรายแรกที่ตรวจพบในประเทศไทย มันก็มีรายที่หนึ่ง มันก็จะมีรายที่สอง ที่สาม เราเชื่อว่าอย่างนั้น แต่ว่าก็ไม่มีความจำเป็นต้องตระหนกตกใจอะไร เพราะคิดว่ามันคงจะเว้นประเทศไทยประเทศเดียวไม่ได้” นพ.ศุภกิจกล่าวทิ้งท้าย

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising