×

‘พิษโควิด-19’ บีบแรงงานสหรัฐฯ รีไทร์ก่อนวัยอันควร แม้การจ้างงานเริ่มฟื้นตัว แต่เลือกเฉพาะแรงงานหนุ่มสาว

โดย THE STANDARD TEAM
24.12.2020
  • LOADING...
‘พิษโควิด-19’ บีบแรงงานสหรัฐฯ รีไทร์ก่อนวัยอันควร แม้การจ้างงานเริ่มฟื้นตัว แต่เลือกเฉพาะแรงงานหนุ่มสาว

สถานีโทรทัศน์ CNN รายงานว่าสถานการณ์ตลาดงานในสหรัฐฯ ขณะนี้กำลังตกอยู่ในภาวะที่เลวร้ายที่สุดในรอบหลายทศวรรษ เพราะวิกฤตการระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้เปลี่ยนจากตลาดที่มีการจ้างงานแข็งแกร่งมากที่สุดกลายเป็นอ่อนแอที่สุด เนื่องจากบรรดานายจ้างต้องปลดพนักงานชุดใหญ่เพื่อประคองบริษัทให้อยู่รอด

แม้ว่าสถานการณ์จะเริ่มคลี่คลาย และตำแหน่งงานมากกว่าครึ่งจากทั้งหมดกว่า 22 ล้านตำแหน่งที่หายไปช่วงในช่วงโควิด-19 จะมีมาบ้างแล้ว แต่กลับไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับแรงงานอายุมากของสหรัฐฯ ในการหางานทำช่วงเศรษฐกิจฟื้นตัว ซึ่งบีบให้ชาวอเมริกันวัยผู้ใหญ่ตอนปลายหางานได้ยากขึ้น จนสุดท้ายก็ถอดใจแล้วตัดสินใจเลือก ‘เกษียณ’ ก่อนวัยอันควร

รายงานระบุว่าการฟื้นตัวของตลาดงานก็เหมือนกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ระดับของผู้ที่ได้รับประโยชน์จะได้ไม่ทั่วถึงหรือเท่าเทียม โดย โจเซฟ บริกส์ นักเศรษฐศาสตร์ของ Goldman Sachs กล่าวว่าแรงงานวัยหนุ่มสาวต่างกลับเข้ามามีส่วนร่วมในตลาดแรงงานเกือบครบถ้วนแล้ว เนื่องจากมีข้อได้เปรียบเรื่องอายุและมีความเสี่ยงทางสุขภาพในระดับต่ำ ขณะที่สัดส่วนเข้าร่วมตลาดงานของแรงงานวัยผู้ใหญ่และผู้หญิงกลับฟื้นตัวอย่างเชื่องช้า

ทั้งนี้ บริกส์ประเมินว่าเฉพาะในเดือนตุลาคมมีจำนวนแรงงานที่เกษียณในสัดส่วนที่เกินมาจากค่าเฉลี่ยรายเดือนที่กำหนดไว้ถึง 8.3 แสนคน มากกว่า 1 ใน 4 ของแรงงานวัยเกษียณในช่วงก่อนโควิด-19 ระบาด

ขณะที่ ราเชล อี. วัย 66 ปี จากรัฐเวอร์จิเนีย เปิดเผยว่าหลังถูกสั่งพักงานจากนายจ้างในเดือนเมษายน จากรายได้ต่อเดือนที่ 6 หลัก ตอนนี้เขากลายเป็นคนยากจนขาดรายได้ในทันที และจนถึงขณะนี้วันที่บริษัทเปิดให้ทำงานได้อีกครั้ง ราเชลก็ยังไม่ได้รับการติดต่อให้กลับไปทำงาน ซึ่งระยะพักงานที่เว้นว่างนานก็ไม่ต่างอะไรกับการบีบให้เจ้าตัวต้องเกษียณก่อนเวลา (Early Retirement)

ขณะเดียวกันราเชลก็ประเมินว่าสาเหตุที่นายจ้างยังไม่เรียกกลับไปทำงาน เหตุผลหลักๆ สืบเนื่องมาจากเงื่อนไขด้านอายุของตนเองที่กลายเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการติดต่อและแพร่เชื้อโควิด-19


สำหรับประเด็นที่ทำให้การเกษียณก่อนเวลาเป็นเรื่องน่าวิตกในมุมมองของบรรดานักเศรษฐศาสตร์ก็คือ การเกษียณดังกล่าวจะทำให้กลุ่มคนที่ยังสามารถทำงานได้กลายสภาพเป็นคนตกงานอย่างถาวร และการตกงานอย่างถาวรคือปัจจัยฉุดรั้งการขยายตัวทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะประเทศที่การเติบโตผลักดันด้วยกำลังการบริโภคของคนในประเทศเป็นหลักอย่างสหรัฐฯ

ทั้งนี้ นักเศรษฐศาสตร์อย่างบริกส์เชื่อว่าเมื่อเวลาผ่านพ้นไป ตัวเลขของคนเกษียณน่าจะลดน้อยลง กระนั้นก็ไม่อาจเทียบได้กับความสูญเสียของบรรดาแรงงานสูงวัยที่ต้องโดนบีบบังคับให้ออกจากงานเพราะวิกฤตการระบาด

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X