×

ได้รับผลกระทบมากแค่ไหน หลังเตรียมลดดอกเบี้ยช่วยลูกค้ากระทบจากโควิด-19

โดย THE STANDARD TEAM
10.04.2020
  • LOADING...

เกิดอะไรขึ้น:

บมจ.อิออน ธนสินทรัพย์ (ไทยแลนด์) (AEONTS) เปิดเผยว่า บริษัทจะลดอัตราดอกเบี้ยสำหรับสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลชั่วคราว 3-6 เดือนให้กับลูกค้าเป็นรายกรณี โดยจะเริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2563 ตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ขอความร่วมมือกับสถาบันการเงินให้ปรับลดเพดานดอกเบี้ยสำหรับสินเชื่อส่วนบุคคลจาก 28% เหลือ 22% และสินเชื่อบัตรเครดิตลงจาก 18% เหลือ 12% เพื่อช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เป็นรายกรณี ทั้งนี้ ธปท. ยังไม่ได้ออกประกาศมาตรการดังกล่าวอย่างเป็นทางการ

 

นอกจากนี้ AEONTS ยังได้ปฏิบัติตามแนวทางล่าสุดของ ธปท. ในการช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ประกอบด้วย

 

  1. ลดอัตราผ่อนชำระขั้นต่ำสำหรับสินเชื่อบัตรเครดิตลงเหลือ 5% จากเดิม 10% ระหว่างเดือนพฤษภาคม 2563 ถึงธันวาคม 2564
  2. ลดอัตราผ่อนชำระขั้นต่ำสำหรับสินเชื่อหมุนเวียนส่วนบุคคลเหลือ 1% จาก 3% ระหว่างเดือนพฤษภาคม 2563 ถึงธันวาคม 2564
  3. พักการชำระหนี้ 3 เดือนสำหรับสินเชื่อเช่าซื้อ มีผลเดือนพฤษภาคม 2563

 

กระทบอย่างไร:

เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2563 มีรายงานว่า ธปท. ขอความร่วมมือให้สถาบันการเงินลดเพดานดอกเบี้ย ราคาหุ้น AEONTS ปรับตัวลง 4.00%DoD สู่ระดับ 96.00 บาท และล่าสุดเช้าวันนี้ (10 เมษายน 2563 12.30 น.) ราคาหุ้นได้ฟื้นตัวขึ้นมาแล้วสู่ระดับ 116.50 บาท ตามทิศทางตลาดหุ้นที่ฟื้นตัวแรงขานรับมาตรการดูแลและเยียวยาโควิด-19 ระยะที่ 3 จากทางรัฐบาล วงเงิน 1.9 ล้านล้านบาท

 

มุมมองระยะสั้น:

ในระยะสั้นผลประกอบการ 4QFY62 (ธันวาคม 2562 ถึงกุมภาพันธ์ 2563) ของ AEONTS จะยังไม่ได้รับผลกระทบจากการลดเพดานดอกเบี้ยครั้งนี้ โดย SCBS คาดว่ากำไรสุทธิ 4QFY62 จะอยู่ที่ระดับ 995 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 24%YoY โดยได้รับปัจจัยหนุนจากการขาย NPL ออกไป 3 พันล้านบาท และคาดว่าจะบันทึกกำไรส่วนนี้ 300 ล้านบาท รวมถึงสินเชื่อคาดว่าขยายตัว 11%YoY และส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย (Net Interest Margin: NIM) ที่กว้างขึ้นซึ่งเกิดจากต้นทุนเงินลงทุนที่ลดลง

 

มุมมองระยะยาว:

SCBS ได้ปรับประมาณการกำไรสุทธิปี FY63 (มีนาคม 2563 ถึงกุมภาพันธ์ 2564) ลง 12.8% สู่ระดับ 3.05 พันล้านบาท เดิมคาดไว้ที่ 3.50 พันล้านบาท เพื่อเป็นการสะท้อนผลกระทบจากโควิด-19 บนสมมติฐานว่า ต้นทุนความเสี่ยงจากการให้สินเชื่อ (Credit Cost) เพิ่มสูงขึ้นสู่ระดับ 9% สะท้อนความเสี่ยงด้านคุณภาพสินทรัพย์ (จาก 7.67% ในปี FY62) ขณะที่สินเชื่อคาดขยายตัว 3.1%YoY เดิมคาดไว้ขยายตัว 3.3%YoY

 

ทั้งนี้ต้องติดตามผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งอาจส่งผลต่อ Credit Cost ของบริษัท รวมถึงติดตามมาตรการเยียวยาจากทางรัฐบาล ซึ่งอาจช่วยบรรเทาผลกระทบได้ในระดับหนึ่ง

 

ข้อมูลเพิ่มเติม:

  • %DoD คือ % การเปลี่ยนแปลงเมื่อเทียบกับวันทำการก่อนหน้า
  • %YoY คือ % การเปลี่ยนแปลงช่วงเวลาเดียวกันเทียบกับปีก่อนหน้า
  • ต้นทุนความเสี่ยงจากการให้สินเชื่อ (Credit Cost) คือ การกันสำรองเงินส่วนหนึ่งของสถาบันการเงินจากการปล่อยสินเชื่อ เพื่อรองรับกรณีที่ลูกหนี้อาจไม่ชำระหนี้ได้ตามกำหนด

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X