THE STANDARD ECONOMIC FORUM วันที่ 2 เริ่มเซสชันแรกอย่างเข้มข้นเร้าใจผู้ฟัง กับหัวข้อ A New Era of Nation States นิยามใหม่ของรัฐชาติหลังโควิด-19 โดย เกษียร เตชะพีระ, ทวิดา กมลเวชช และ ประจักษ์ ก้องกีรติ ดำเนินรายการโดย สุทธิชัย หยุ่น
ช่วงหนึ่งของเซสชัน สุทธิชัยโยนคำถามหนึ่งที่น่าสนใจว่า โควิด-19 จะมีส่วนช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง และการบริหารประเทศของไทยได้บ้างหรือไม่ อย่างไร
เกษียรตอบคำถามนี้เป็นคนแรกว่า
โควิด-19 ทำให้รู้ว่าเราอยากได้รัฐที่มีลักษณะสำคัญ 2 อย่าง อันแรกคือรัฐที่มีอำนาจจำกัดตั้งอยู่บนฐานสิทธิ เป็นรัฐที่มีเส้นที่ผู้นำห้ามข้ามถ้าประชาชนไม่อนุญาต
แต่ขณะเดียวกันเราอยากได้รัฐขั้นสูงที่มีหน้าที่มากขึ้น แต่มีอำนาจจำกัด และอย่างน้อยต้องดูเรื่องสวัสดิการและสาธารณสุขในประเทศอย่างเข้มข้นกว่าที่เคยทำ
แต่ทางเดินที่รัฐบาล คสช. ทำมาตลอด 6 ปี สวนทางทั้งหมด เพราะเป็นรัฐที่เน้นอำนาจและไม่เน้นสิทธิ ขณะเดียวกันก็เป็นรัฐที่ไม่อยากจะทำอะไรเยอะ
ลองคิดถึงยุทธศาสตร์ 20 ปี ที่หวังแค่เพียงให้การเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญในบ้านเมืองมีความนิ่งที่สุด พอไปนั่งอ่านดูในยุทธศาสตร์ 20 ปี คือการทำงานแบบราชการประจำ ซึ่งมันทำไม่ได้เพราะไม่ตรงกับความเป็นจริงของโลก
เราอยู่ในโลกที่ความเสี่ยงสูง เพราะโลกเชื่อมโยงกัน และในโลกที่เชื่อมโยงกันมีปัจจัยเสี่ยงสูงมาก ซึ่งมันไม่มีอะไรที่คิดไว้ในยุทธศาสตร์ 20 ปีนี้เลย
ถ้าถามว่าเราต้องปรับอย่างไร ใช้โควิด-19 แก้ปัญหาตรงนี้อย่างไร
เกษียรยกตัวอย่างวิกฤตประเทศไทยช่วง พ.ศ. 2520 สมัย พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรีคือ การปฏิวัติด้วยอาวุธจากพรรคคอมมิวนิสต์เป็นความสุดโต่งทางซ้าย และเผด็จการทหารซึ่งเป็นความสุดโต่งทางขวา
ความสำเร็จในตอนนั้นไทยหลีกเลี่ยงความสุดโต่งทั้ง 2 ฝั่ง และมีการปฏิรูปที่มีกระแสจากข้างบนมาประสานกับชนชั้นกลางข้างล่าง ในที่สุดเราพาประเทศก้าวผ่านวิกฤตนั้นมาได้
ถ้าถามว่าทุกวันนี้เป็นอย่างนั้นได้ไหม เกษียรบอกว่า คิดดูแล้วลำบากใจ เพราะระเบียบอำนาจ คสช. เป็นอำนาจสุดโต่งทางขวา ตัวเขาเองคือปัญหา และเป็นระเบียบอำนาจที่แสดงให้เห็นหลายครั้งว่าไม่ปฏิรูป และถ้าเทียบกับบทเรียนปี 2520 แล้ว เราอาจต้องรอวิกฤตแบบโควิด-19 อีกสักรอบ
อย่างไรก็ตาม โควิด-19 ทำให้อย่างน้อยนำไปสู่ความตระหนักว่าการปฏิรูปทางการเมืองสำคัญกับชีวิต ถ้าไม่มีการเมือง และการบริหารที่ดี สังคมไทยจะไม่พร้อมที่จะรับความเปลี่ยนแปลง และวิกฤตใดๆ เราพึ่งพระสยามเทวาธิราชตลอดไม่ได้
ขณะที่ ทวิดา กล่าวว่า
โควิด-19 ครั้งนี้ได้เปลือยความด้อยความสามารถของระบบราชการ และการตัดสินใจของผู้นำในภาวะวิกฤต
เวลาเราพูดถึง ‘ผู้นำในภาวะวิกฤต’ มันไม่ใช่ดูแค่ในภาวะวิกฤต แต่การนำของคุณก่อนหน้านั้นเป็นอย่างไรมีผลอย่างมาก เพราะสิ่งที่ทำให้สังคมลุกขึ้นมาทำภารกิจบางอย่างโดยมีเป้าหมายร่วมกัน ประชาชนต้องมีความไว้วางใจรัฐ
ดังนั้นผู้นำต้องเปลี่ยนวิธีการในการนำ ซึ่งจะเห็นว่าผู้นำที่ประสบความสำเร็จคือคนที่เข้าใจว่าภาคส่วนต่างๆ เดือดร้อนอะไรอยู่ ซึ่งต้องมีข้อมูลที่มีประสิทธิภาพมากพอ
ขณะที่ระบบราชการไทยทำงานในภาวะวิกฤตไม่ได้ เรายังวนเวียนอยู่กับการใช้อำนาจเบ็ดเสร็จ และคิดว่าสิ่งนี้ถูกต้อง แต่สิ่งที่ควรทำตอนนี้คือการรื้อระบบราชการ
ความสำเร็จของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ฉายให้เห็นว่า ต่อไปนี้การบริหารจัดการในพื้นที่ต้องใหญ่กว่าส่วนกลาง ทรัพยากรและศักยภาพในพื้นที่ต้องเยอะกว่าส่วนกลาง เพื่อให้เกิดการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพในปลายทาง ตอบสนองและเข้าใจกลุ่มคนในพื้นที่ ซึ่งแตกต่างหลากหลาย ซึ่งถ้าจะเกิดขึ้นได้ต้องเปลี่ยนระบบราชการทั้งหมด มิเช่นนั้นต่อให้ New Normal เกิดขึ้นก็ไม่มีวันที่กลไกระบบราชการจะมารองรับการแก้วิกฤตใหม่ๆ ได้
ด้าน ประจักษ์ เสริมว่า
การปฏิรูประบบราชการพูดกันมาหลายสิบปีแล้ว แต่ไม่มีแรงผลักที่จะทำเสียที ซึ่งวิกฤตครั้งนี้ภาคเอกชนปรับใหญ่เพื่อให้อยู่รอด แต่ภาคราชการเรายังไม่เห็นสัญญาณใดเลย
ระบบราชการขาดการบูรณาการ ขาดฐานข้อมูลร่วมกัน มันจึงต้องใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน สร้างระบบบูรณาการ แต่ถ้าเราทำให้มีการบูรณาการอยู่แล้วในยามปกติ พ.ร.ก. ฉุกเฉินใช้สั้นแบบเดียวก็ได้
ส่วนแรงผลักในการปฏิรูประบบราชการจะมาจากไหน ยังต้องตั้งเป็นเครื่องหมายคำถาม เพราะระบบราชการไทยมีแรงต้านสูงมากในการปรับตัว แต่ถ้าไม่ปรับมันไปไม่รอดแน่นอน ซึ่งถ้าภาคราชการไม่ยอมปรับ ภาคเอกชนและภาคสังคมต้องสร้างแรงกดดันให้ภาคราชการปรับ ไม่เช่นนั้นเราไปไม่รอด
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า
ห้ามพลาด! ฟอรัมที่เจาะลึก New Normal ที่ใหญ่ที่สุดในเมืองไทย จากวิทยากรระดับประเทศ 40 คน ซื้อบัตรงาน THE STANDARD ECONOMIC FORUM ที่ https://www.eventpop.me/e/8705-economic-forum